27 กรกฎาคม 2559

การคัดกรองหามะเร็งผิวหนังฉบับใหม่ปี 2016

การคัดกรองหามะเร็งผิวหนังฉบับใหม่ปี 2016

เช้านี้ วารสาร JAMA ฉบับใหม่ ได้ลงบทความเกี่ยวกับการคัดกรองหามะเร็งผิวหนังฉบับใหม่ปี 2016 ของเดิมจัดทำเมื่อปี 2009 โดย USPSTF คณะทำงานเพื่อป้องกันโรคของอเมริกา ได้ออกคำแนะนำนี้ออกมาดังนี้
จากการทบทวนการศึกษาและวารสารต่างๆนั้น การศึกษาเพื่อดูโอกาสการเกิดโรคมะเร็งผิวหนัง ในคนที่ยังไม่มีอาการ ย้ำ..ยังไม่มีอาการนะครับ โดยการให้หมอทั่วไป หมออายุรกรรม หรือ หมอผิวหนัง ตรวจโดยใช้..สายตา..ย้ำครั้งที่สอง..ใช้ตาดูเท่านั้น พบว่าการทำแบบนี้ยังไม่แสดงให้เห็นว่าลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งผิวหนังได้เลย การตรวจพบอาจจะเพิ่มขึ้นจริงเพราะหมอที่เข้าทำการศึกษาและตัวคนไข้เองก็จะตื่นตัวในการหารอยโรค ริ้วรอยต่างๆมากกว่าภาวะปกติ อันนี้เป็นอคติ (bias) ของการศึกษานะครับ เพราะในชีวิตจริงๆคุณหมอก็ไม่ได้มาดูผิวหนังในทุกๆตารางนิ้วในทุกครั้งของการตรวจ และคนไข้เองก็ไม่ได้ดูทุกส่วนตัวเองทุกวัน..อาจมีคนข้างตัวดูให้

ด้วยอคติของการศึกษานี้ จะทำให้การประยุกต์ใช้ในชีวิตจริงทำได้ยาก นี่ยังไม่นับประเด็นอื่นๆนะครับ ไม่รวมเชื้อชาติ การทำงานที่ต้องสัมผัสแสงแดด ภูมิประเทศ ที่จะแตกต่างกันและควบคุมได้ยาก เรียกว่ามีอคติมากๆ แต่ก็ต้องยอมรับว่า การจะควบคุมปัจจัยต่างๆในการศึกษานั้นทำได้ยากมาก ที่รวบรวมมาก็คัดมาที่ดีที่สุดแล้ว ( ใครตามเพจ 1412 cardiology ตอนนี้กำลังสอนการวิเคราะห์วารสารอย่างเข้มข้น จะเรียกการศึกษาแบบนี้ว่า internal และ external validity ไม่ดีเอามากๆเลย)
แม้กระทั่งอ้างอิงผลการศึกษาที่ชื่อ SCREEN ที่จัดแคมเปญตรวจคัดกรองมะเร็งผิวหนังในเยอรมัน ทำในช่วงเวลาหนึ่ง ที่สถานที่หนึ่ง ก็พบว่าในช่วงที่ทำการศึกษาและติดตาม อัตราการตรวจพบโรคเพิ่มขึ้น อัตราการเสียชีวิตลดลงเล็กน้อย แต่พอหยุดทำการศึกษาสิ่งต่างๆก็กลับมาเหมือนเดิม อัตราการเสียชีวิตลดลงคร่าวๆ 1 คนจากแสนคนที่คัดกรองต่อสิบปี ซึ่งถือว่าน้อยมาก ไม่กระทบผลโดยภาพรวม และอาจเสียเงินค่าแคมเปญโดยไม่คุ้มค่า

นอกจากนี้ ในการศึกษาถ้าเราพบคนที่สงสัยมะเร็ง ..เราก็ส่งไปตัดชิ้นเนื้อตรวจใช่ไหมครับ ..พบว่าเป็นมะเร็งแค่ 1 คน ต่อการทำการตัด 20-55 ครั้ง ก็ถือว่าไม่ไวพอ ไม่จำเพาะพอเพียงครับ
ผลการศึกษาของ USPSTF ที่ลงนั้นสรุปว่า #ยังไม่มีความจำเป็นต้องคัดกรองมะเร็งผิวหนังในผู้ใหญ่ที่ยังไม่มีอาการ เพราะยังไม่มีหลักฐานสนับสนุนเพียงพอครับ แต่ให้คำแนะนำที่น่าสนใจ คือแนะนำให้เลี่ยงแสงแดดจัดและใช้อุปกรณ์ป้องกันรวมทั้งครีมกันแดดครับ และยังแนะนำว่าถ้ามีรอยโรคหรืออาการดังนี้ ควรพิจารณาเอาใจใส่และไปพบแพทย์ เพื่อตรวจดูว่าเป็นมะเร็งหรือไม่ เรียกว่า "ABCDE rules"แต่ผมไปค้นเพิ่มก็ใช้ได้เฉพาะมะเร็งผิวหนังชนิด Melanoma ซึ่งประเทศทางฝั่งตะวันตกเป็นมาก ( British Association of dermatologists) ส่วนในไทย นอกจากกฎ ABCDE แล้วยังคงต้องสงสัยกับแผลเรื้อรังที่ไม่หาย หรือลุกลามมากขึ้นด้วย อาจเป็น non-melanoma skin cancer ได้

A...asymmetry..รอยโรคไม่สมมาตรกัน บิดๆเบี้ยวๆ
B...border..ถ้าขอบไฝ ขอบรอยโรคไม่เรียบ เว้าๆแหว่งๆ ไม่คมชัด สีจางลงเข้มขึ้น
C...color..สีแตกต่างไป เช่น สีไม่สม่ำเสมอ กระดำกระด่าง มีสีขาวปน เปลี่ยนสีได้
D...diameter..ขนาดใหญ่กว่า 6 มิลลิเมตร
E...evolve..ใน วารสาร jama มีอันนี้แต่ British ไม่มี คือไฝมีการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆตามเวลา

และยังมีประเด็นเสี่ยงอื่นๆด้วยเช่นประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งผิวหนัง หรือมีปริมาณไฝมากกว่า 100 เม็ด เป็นต้นครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม