22 กรกฎาคม 2559

ลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบ

ลิ้นหัวใจคือส่วนของหัวใจที่ทำหน้าที่ควบคุมจังหวะการไหลของเลือดในหัวใจ เปิดปิดเพื่อสร้างแรงดัน ควบคุมทิศทางการไหล ถ้าลิ้นหัวใจผิดปกติจะกระทบกับการไหลเวียนโลหิตอย่างแน่นอน ลิ้นหัวใจมี 4 ลิ้น เกิดความผิดปกติได้ที้งตีบและรั่ว เรามาทำความเข้าใจเรื่องลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบ เพื่อเป็นไอเดียในการเข้าใจโรคลิ้นหัวใจอีกหลายๆแบบครับ

ลิ้นหัวใจเอออร์ติก aortic valve เป็นลิ้นคอยปิดเปิดระหว่างหัวใจห้องล่างซ้ายที่ทำหน้าที่บีบเลือดไปเลี้ยงทั้งร่างกาย คั่นระหว่างหลอดเลือดแดงใหญ่ที่สุดในร่างกายคือหลอดเลือดแดงเอ-ออร์ต้า ขนาดมันเท่าๆขวดลิโพเลยนะครับ ดังนั้นถ้าลิ้นนี้ผิดปกติไป เลือดที่ไหลออกไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกายก็จะน้อยลง ออกได้ยากมากขึ้น หัวใจเองก็ไม่ยอมแพ้ครับ เป็นที่มาของ.. ใจสู้.. จะออกแรงบีบมากขึ้นเพื่อชดเชยการตีบแคบนั้น เอาล่ะถ้าใจสู้ตลอดก็ไม่เป็นไร แต่เมื่อไรใจเสาะ คือเริ่มอ่อนแรงก็จะเกิดอาการต่างๆ ทั้งจากเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆร่างกายลดลง และ หัวใจที่โตขึ้น อ่อนแรงที่เรียกว่าหัวใจวายเรื้อรัง ลามไปถึงห้องอื่นๆของหัวใจก็ทำงานล้มเหลวไปด้วยนั่นเอง

จากข้อเท็จจริงดังกล่าวก็จะเห็นว่าอาการจะพบเมื่อโรครุนแรงขึ้นเท่านั้น บางครั้งอาการไม่มากหรือหัวใจยังสู้ไหวก็จะไม่มีอาการชัดเจนครับ การพบอาการไม่ว่าจะเป็นเจ็บหน้าอก เหนื่อยง่ายเวลาออกแรง หรือแม้กระทั่งหมดสติ หมายถึงโรคที่เป็นมามากพอควรแล้ว การตรวจร่างกายต่างๆเช่นชีพจรที่เบาลง ไม่ขึ้นเร็วลงเร็ว กลายเป็นขึ้นช้าลงช้า(pulsus parvus et tardus) เสียงหัวใจที่ผิดปกติ ก็จะพบพร้อมๆกับอาการครับ

ยกเว้นคุณหมอที่ตรวจร่างกายละเอียดและตั้งใจก็จะพบความผิดปกติก่อนจะอาการรุนแรงได้ หรือบังเอิญตรวจพิเศษต่างๆแล้วไปพบเข้า แต่ว่าก็ไม่ต้องไปตรวจหาโรคนี้กันทุกคนนะครับ เพราะถ้าอาการไม่มากก็ไม่ได้แนะนำผ่าตัดเป็นทางเลือกแรกเช่นกัน

การประเมินว่าความรุนแรงมากหรือน้อย นอกจากใช้ประวัติและการตรวจร่างกายแล้ว การตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจหรือ echocardiogram จะช่วยบอกความรุนแรง พื้นที่หน้าตัดของลิ้นหัวใจ การบีบตัว ซึ่งข้อมูลทั้งหลายจะเอามาร่วมประเมินการรักษาว่าจะต้องผ่าตัดหรือไม่ จะใช้ข้อมูลความเร็วเลือดผ่านลิ้น ความแตกต่างของความดันระหว่างห้องหัวใจกับหลอดเลือดแดงใหญ่ มาใช้คำนวนทางวิทยาศาสตร์ เพราะฉะนั้นการตรวจ echocardiogram จึงถือเป็นมาตรฐานในการตรวจประเมินโรคนี้ครับ

...และในทางกลศาสตร์การเปลี่ยนแปลงของความดันและความเร็วของเลือดที่วิ่งผ่านห้องหัวใจและลิ้นหัวใจก็จะถือเป็นการตีบครับ ดังจะเห็นว่าเกณฑ์ของตีบมากคือ ความเร็วที่ผ่านมากกว่า 4 เมตรต่อวินาที (maximum jet velocity) หรือ ความแตกต่างของแรงดันของลิ้นสองด้านต่างกันมากกว่า 40 มิลลิเมตรปรอท (mean pressure gradient) การตรวจด้วยเครื่อง echocardiogram จึงสำคัญมากๆครับ...
ปัจจุบันถ้าเป็นโรคตีบรุนแรง (พื้นที่น้อยกว่า 1 ตารางเซนติเมตร) หรือมีอาการแล้ว ก็จะมีอัตราการเสียชีวิตสูง เกือบ 80% ของผู้ป่วยที่มีอาการมักจะเสียชีวิตใน 4 ปีหากไม่แก้ไข หรือเวลาผ่าตัดอวัยวะอื่นๆก็อาจมีปัญหาได้ เพราะแรงบีบหัวใจกับเลือดไปเลี้ยงไม่พอ การแก้ไขหลักจึงเป็นการซ่อมลิ้นหรือเปลี่ยนลิ้น เป็นการผ่าตัดทรวงอกจะครับ ก็จะมีความเสี่ยงเป็นปกติเลย แต่ในยุคปัจจุบัน การผ่าตัดเจริญมากขึ้นอันตรายลดลง วัสดุที่มาซ่อมแซมลิ้นหรือใช้แทนลิ้นก็คงทนถาวรมาก ไม่ค่อยเกิดลิ่มเลือดเกาะหรือไม่ค่อยรั่วแล้ว บางครั้งก็ไม่ต้องใช้ยากันเลือดแข็งไปตลอดใช้แค่บางช่วงเท่านั้น และถ้าผู้ป่วยมีเส้นเลือดหัวใจตีบด้วยก็จะทำการบายพาสเส้นเลือดหัวใจไปพร้อมๆกัน

นอกจากนี้ปัจจุบันยังมีวิธีการซ่อมและเปลี่ยนลิ้น ผ่านทางสายสวนหลอดเลือด (transcatheter aortic valve replacement) คล้ายๆสวนหลอดเลือดหัวใจ ใส่สายไปทางหลอดเลือดแดงที่ขา ไต่ไปจนถึงลิ้นหัวใจแล้วเปลี่ยนลิ้นหัวใจผ่านสายสวนนั้นได้เลย แผลเล็ก ปลอดภัย เดิมเราจะใช้กับผู้ป่วยที่อาจจะเกิดอันตรายจากการผ่าตัดเปิดอก แต่ในปัจจุบันเริ่มมีการศึกษาเพื่อขยับมาทำกับผู้ป่วยที่เสี่ยงปานกลาง เพื่อลดอันตรายจากการผ่าตัดลงไปครับ และช่วยเหลือผู้ป่วยที่ผ่าตัดไม่ได้ด้วยสาเหตุใดก็ตาม

มีการรักษาด้วยยาไหม...ไม่มีครับ การรักษาด้วยยาจะเป็นการรักษาผลอันเกิดจากการตีบเช่น การให้ยาขับปัสสาวะในการรักษาหัวใจวาย การให้ยาควบคุมการเต้นของหัวใจในกรณีหัวใจเต้นผิดจังหวะ และยังต้องระมัดระวังการใช้ยาลดความดันบางกลุ่มที่อาจทำให้วูบได้หรือยากลุ่ม angiotensin converting enzyme inhibitor ยาลดความดันกลุ่ม -ipril และยา antiosensin receptor blocker ยาลดความดันกลุ่ม -sartan

การให้ยาป้องกันลิ้นหัวใจติดเชื้อให้ในรายที่เคยเป็นลิ้นหัวใจติดเชื้อมาก่อนครับ
อธิบายคุณพี่คนหนึ่ง ใจธรรมะมาปฏิบัติธรรม และบังเอิญ ใจพี่เขา "ตีบ" ด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม