07 กันยายน 2558

แนวทางการรักษา และจัดกลุ่ม หลอดเลือดหัวใจตีบแบบ NSTEMI ของ ESC 2015

สวัสดีครับทุกท่าน เรากลับมาพบกันอีกครั้งหลังจากผมหนีไปพักมาสามวัน ไอเดียพุ่ง ชนกัน ทะลักเลย กลับมาประจำการตามเดิมครับ เริ่มต้นเบาๆ เช้าวันจันทร์นี้ NSTE-MI guidelines

   คิดอยู่นานว่าไอ้เจ้า แนวทางการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเฉียบพลัน ที่เพิ่งตีพิมพ์และวิจารณ์กันสดๆร้อนๆที่ประชุม โรคหัวใจยุโรปเมื่อสัปดาห์ก่อน ผมจะเอามาอธิบายท่าน ดีหรือไม่ ยากไปไหม แต่สุดท้าย ด้วยสิ่งที่เปลี่ยนไปมากจริงๆ และกระทบต่อท่านๆทั้งหมด ผมขอพูดง่ายๆที่สุด เนื้อๆที่สุด และง่ายๆที่สุด เพื่อท่านที่ไม่ได้อยู่ในวงการ (เอ้ยย ยังกะดารา) ได้เข้าใจด้วยครับ

อย่างนี้ก่อน โรคหลอดเลือดหัวใจตีบเฉียบพลัน ใครๆก็ทราบแล้วว่าด่วนมาก ยิ่งถ้าตีบแบบคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติมากๆ ( ST elevation MI) ก็จะด่วนมากมีทางด่วน ทางไปกันมากมาย สิทธิการรักษาเบิกได้หมด ห้องสวนหัวใจผุดขึ้นเพียบ รองรับเทคโนโลยีตรงนี้  แต่ว่าถ้ามันไม่เป็นแบบด่วนสุดๆล่ะ  ( NON-ST elevation MI) เดิมเราจะมีเวลารอ มีเวลาคิด แต่ตอนนี้ การศึกษาบอกว่าต้องรอให้น้อยลง แบ่งกลุ่มคนเร่งด่วนให้มากชึ้น เพื่อให้การรักษาด่วนมากขึ้น ช่วยชีวิตได้ดีขึ้น เราเร็วขึ้น ดีขึ้นอย่างนี้ครับ

1. วินิจฉัยเร็วขึ้น ในฝันเลยนะ เรียก 1 hour protocol คือวินิจฉัยได้เร็ว และแม่นยำในชั่วโมงแรก โดยใช้การตรวจเลือด high sensitive troponin ไอ้เจ้าเลือดตัวนี้ ไวมากครับ ตรวจง่าย ตรวจซ้ำสองครั้งดูการเปลี่ยนแปลงนี่...แยกด่วน ไม่ด่วน ได้เลย อนาคตจะเป็นแบบตรวจปลายนิ้ว เร็วมาก จิ้มจึ๊ก รู้ทันที และอาจพัฒนาไปอยู่ที่รถฉุกเฉิน สนามบิน และ..และ..อันนี้ส่วนตัวครับ ที่เซเว่น

2. ให้ความใส่ใจกับเรื่องของผลข้างเคียงของการรักษามากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องเลือดออกจากการรักษา มีการแจกแจงแนวทาง การจัดกลุ่มคนที่จะมีเลือดออก มาก หรือ น้อย ควรใช้ยากี่ชนิด แต่ละชนิดใช้เวลาเท่าไร มีการป้องกันและรักษาชัดเจน เพื่อความปลอดภัยมากขึ้นนั่นเอง

3. อันนี้ ไฮไลต์ เรื่องการไปทำการสวนหัวใจ บอกเลยว่าถ้าเสี่ยงสูง เราจะไม่รอแล้วนะ เดิมนั้นเรามีเวลารอ ได้ 72 ชั่วโมง หรือถ้าแพทย์เห็นว่าด่วนก็ไปทำก่อนได้ แต่ก็เป็นดุลยพินิจ  แต่แนวทางอันนี้ ชี้ชัดเลยว่า เสี่ยงสูงมากต้องทำเลยนะ ในสองชั่วโมง ถ้าเสี่ยงมากต้องทำในวันนั้นเลย ถ้าเสี่ยงปานกลาง ก็ควรทำใน 72 ชั่วโมง บอกเลยว่าปัจจัยใดที่เรียกเสี่ยงสูง ปัจจัยใดเรียกเสี่ยงมาก และแนะนำว่าต้องส่งไปที่ห้องสวนหัวใจเร็วขึ้นมากๆๆ

4. ยาต้านเกล็ดเลือด ยาต้านการแข็งตัวของเลือด มีผลการศึกษา ที่ชัดเจนมาบอกว่า ควรใช้ยาตัวใด ก่อนหน้านี้ผลการศึกษายังไม่ชัดเจน แต่อันนี้ชัดแล้วครับ ยาที่ใช้ปกป้องหัวใจ ปรับเกณฑ์เป็น ต้องให้ --ต้องให้นะครับ หลายๆตัว บอกเป็น class Ia คือ ต้องทำ เนื่องจากมีประโยชน์ มีผลการศึกษาที่ดีมาก จำนวนมากรองรับครับ

ผมจะสรุปง่ายๆว่า ตอนนี้ถ้าท่านเกิดเจ็บอก แล้วควรรีบแยกโรคเส้นเลือดหัวใจตีบโดยเร็ว และ ไม่ว่าท่านจะตีบแบบใด ตอนนี้เราอยากให้ท่านเข้าสวนหัวใจเร็วขึ้น จนถึงเร็วที่สุด และ การกระทำต่างๆเหล่านี้ ปลอดภัยมากขึ้น มีผลการศึกษารองรับมากขึ้น สรุปได้ชัดเจนขึ้นครับ แต่การประกาศใช้อย่างเป็นทางการของประเทศไทยนั้น  อาจต้องรอถึงทรัพยากรและความคุ้มทุนของประเทศเราก่อนครับ
ลิงค์ http://www.escardio.org/…/Acute-Coronary-Syndromes-ACS-in-p…
ถ้าท่านอาจารย์ท่านใดอ่านอยู่ เห็นต่างใดๆ ก็เชิญให้ความเห็นได้ครับ ( ผมว่าท่านอาจารย์บัญชา ต้องอ่านแน่ๆ)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม