ยาขับปัสสาวะ chlorthalidone : เมื่อผู้เชี่ยวชาญ คดีพลิก
ยาขับปัสสาวะ chlorthalidone มีมานานและได้รับการศึกษามานานแล้ว งานวิจัยส่วนมากของยาขับปัสสาวะในอดีตในต่างประเทศก็ใช้ยา chlorthalidone นี่เอง ยานี้เป็นที่รู้จักในโลกตะวันตกมานาน แต่ในประเทศไทยยานี้ไม่ได้โด่งดังมากนัก เพราะตัวที่โด่งดังมากกว่าคือ hydrochlorothiazide (HCTZ)
ในสหรัฐอเมริกานั้น บรรดาผู้เชี่ยวชาญรวมถึง JNC แนวทางการรักษาโรคความดันสูงของเขา ก็แนะนำยา chlorthalidone มากกว่า HCTZ เพราะมีข้อมูลทางการวิจัยมากกว่า รวมถึงการศึกษาแบบ meta-analysis ก็รวบรวมมาว่า ถ้าคิดประโยชน์ด้านโรคหัวใจและหลอดเลือดนั้น chlorthalidone ดูจะดีกว่า (ซึ่งส่วนมากเป็น network meta-analysis คือไม่ได้เปรียบเทียบทางตรง ตัวต่อตัว)อีกทั้งสมบัติของยา chlorthalidone ที่มีการออกฤทธิ์ยาวนานกว่า HCTZ ที่เป็นสมบัติพึงมีของยาลดความดัน
แต่ปรากฏว่าเมื่อเก็บข้อมูลการใช้ยาขับปัสสาวะ พบว่า 95% ของยาขับปัสสาวะคือ HCTZ มีการใช้ chlorthalidone เพียง 2.5% ทำไมจึงเป็นแบบนั้น ก็เลยมีงานวิจัยมาตอบครับ
Diuretic Comparison Project นำผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงที่ใช้ HCTZ และควบคุมความดันได้ อายุเฉลี่ยประมาณ 70 ปี จับมาแบ่งกลุ่ม กลุ่มควบคุมให้กินยา HCTZ ตามเดิม ส่วนกลุ่มทดลองให้เปลี่ยนมากิน chlorthalidone แล้วติดตามต่อเนื่องไป 5 ปี แล้วมาวัดผลโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมทั้งอัตราการเสียชีวิตเทียบกันในสองกลุ่ม
ปรากฏว่า การเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด อัตราการเสียชีวิตของทั้งสองกลุ่มต่างกัน “อย่างไม่มีนัยสำคัญ” ทางสถิติ และมีแนวโน้มว่ากลุ่มที่ใช้ chlorthalidone มีโอกาสเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดมากกว่าอีกด้วย และถ้าหันไปมองผลแทรกซ้อนที่สำคัญของยาขับปัสสาวะคือ เกลือแร่โปตัสเซียมในเลือดต่ำ จากข้อมูลเดิมที่มี เราทราบอยู่แล้วว่า chlorthalidone มีโอกาสเกิดสูงกว่า HCTZ
ในงานวิจัยนี้พบว่า chlorthalidone เกิด 6% ส่วน HCTZ เกิด 3.3% ตรงกับข้อมูลเดิม จากข้อมูลวิจัยนี้ที่นำเสนอในงานประชุม American Heart Associations ปีนี้ไม่กี่วันนี้ เรียกว่าเป็นการศึกษาที่วัดผลกันโดยตรง ชนกันตัวต่อตัว พบว่า HCTZ ยังไม่ได้ด้อยไปกว่า chlorthalidone และมีผลแทรกซ้อนที่น้อยกว่าอีกด้วย
เราน่าจะจับตาดูคำแนะนำการใช้ยาขับปัสสาวะเพื่อรักษาโรคความดันโลหิตสูงในครั้งต่อไป ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงใดเกิดขึ้นกับ chlorthalidone หรือไม่ น่าสนใจครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น