10 ตุลาคม 2565

สรุปเนื้อหาง่าย ๆ เรื่องไข้หวัดใหญ่กับผลข้างเคียงต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด จากงาน CMCC โดยอาจารย์ธีรภัทร์ ยิ่งชนม์เจริญ และ อาจารย์อรินทยา พรหมินทธิกุล

 สรุปเนื้อหาง่าย ๆ เรื่องไข้หวัดใหญ่กับผลข้างเคียงต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด

จากงาน CMCC โดยอาจารย์ธีรภัทร์ ยิ่งชนม์เจริญ และ อาจารย์อรินทยา พรหมินทธิกุล
1. โรคไข้หวัดใหญ่ มีความสัมพันธ์ชัดเจนกับโรคหัวใจทั้งโรคหัวใจล้มเหลวและโรคหลอดเลือดหัวใจ ทั้งโรคหัวใจที่เพิ่มขึ้นมากในช่วงฤดูระบาด และโรคหัวใจที่เพิ่มมากว่าคนที่ไม่ป่วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ในนอกฤดูระบาด
2. โรคหัวใจที่เพิ่มมากขึ้น เกิดจากทั้งการอักเสบโดยทั่วไปเวลาเกิดการติดเชื้อ ทำให้หัวใจทำงานหนักและระบบต่าง ๆ ในร่างกายแปรปรวนไปในทางที่จะเกิดโรคหัวใจ และอีกหนึ่งสาเหตุโดยตรงคือเชื้อไข้หวัดใหญ่ทำให้เกิดการอักเสบที่หลอดเลือดและกล้ามเนื้อหัวใจ เรียกว่ามันชอบหลอดเลือดนั่นเอง
3. จากการเก็บข้อมูลระยะสั้น ระยะยาวหรือจากการศึกษาทดลอง แสดงให้เห็นผลชัดเจนไปในทางเดียวกันว่า โรคไข้หวัดใหญ่จะเพิ่มโอกาสที่โรคหัวใจจะแย่ลง ทั้งในฤดูระบาดและนอกฤดูระบาด และข้อมูลในระยะใกล้นี้บอกว่าหากมีการติดเชื้อโควิดสิบเก้าด้วย โรคหัวใจจะยิ่งรุนแรงขึ้นมาอีก
4. การป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ด้วยการฉีดวัคซีน จะลดความรุนแรงของไข้หวัดใหญ่ ลดโอกาสติดเชื้อ และที่สำคัญคือ ลดโอกาสการเกิดโรคหัวใจ แน่นอนตามเหตุผลข้อสอง อันนี้มีผลการศึกษาทดลองยืนยันชัดเจนว่าลดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ และมีการรวบรวมข้อมูลว่าวัคซีนลดโอกาสที่โรคหัวใจล้มเหลวจะแย่ลง ถามว่าลดลงมากกว่าคนที่ไม่ฉีดเท่าไร คำตอบคือ ประมาณ 40% นับว่าลดลงมากทีเดียว เพราะฉีดแค่ปีละครั้ง (แต่ยาต้องกินทุกวัน)
5. การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ จะลดโรคหัวใจทั้งในฤดูระบาดและนอกฤดูระบาดของไข้หวัดใหญ่ และการฉีดวัคซีนต่อเนื่องจะดีกว่าไม่ต่อเนื่อง หรือฉีดแบบไม่ต่อเนื่องก็ยังดีกว่าไม่ฉีดเลย แสดงให้เห็นว่านอกจากป้องกันโรคที่แย่ลง (และโรคหัวใจ)จากเชื้อ ตัวแอนติบอดีจากวัคซีนยังมีผลปกป้องหัวใจและหลอดเลือดอีกด้วย
6. ถ้าเป็นไปได้ ควรฉีดทุกคน ถ้าเป็นไปได้ยาก ควรฉีดกับกลุ่มผู้เสี่ยงสูงเช่นสูงวัย อ้วน โรคปอด คนท้อง และคนที่ป่วยเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด ยิ่งมีโรคเยอะ ยิ่งจำเป็นและได้ประโยชน์ โดยจะฉีดสามหรือสี่สายพันธุ์ก็ได้ อย่างน้อยปีละครั้งจะสายพันธุ์ซีกโลกเหนือหรือใต้ก็ได้ (แต่ช่วงระบาดของไทยจะตรงกับล็อตวัคซีนซีกโลกใต้)
7. กินแอสไพริน โคพิโดเกรล ยาต้านการแข็งตัวเลือดจะ warfarin หรือ doac ก็ฉีดได้ ให้กดนาน ๆ หลังฉีด แต่ถ้า INR เกินมากก็เลื่อนฉีดไปสักหนึ่งสัปดาห์ รอปรับไอเอ็นอาร์ก่อนได้ มีการศึกษาฉีดในผู้ป่วยเลือดออกง่ายฮีโมฟิเลีย ก็ยังไม่อันตรายเลย (ก็มีรายที่เลือดออกมากแหละ แต่หยุดเอง)
8. ทุกแนวทางโรคหัวใจใด ๆ แนะนำการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ทุกปี เพราะลดการป่วยการตายได้อย่างมากและคุ้มค่าสุด ๆ แต่ปัจจุบันประเทศไทยในสถาบันใหญ่ ๆ ที่กระตุ้นกันเต็มที่ ยังฉีดได้แค่ 15-20% สาเหตุส่วนมากคือ หมอไม่แนะนำ พยาบาลไม่บอก คนไข้ไม่เคยรู้มาก่อน (หมอหลายคนก็ยังไม่รู้)
ปล1. อ.อรินทยา ทำการศึกษาเรื่องผลของโรคหัวใจจากการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ และตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติที่โด่งดังมาก
ปล2. ซิมโพเซียมนี้สนับสนุนโดยบริษัทซาโนฟี่ปาสเตอร์ หนึ่งในผู้ผลิตและจำหน่ายวัคซีนไข้หวัดใหญ่
อาจเป็นรูปภาพของ 1 คน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม