13 กรกฎาคม 2565

Peritoneal dialysis

 Peritoneal dialysis

1. ใช้หลักการสารละลายและน้ำซึมแพร่ผ่านเยื่อบุช่องท้อง ทำหน้าที่แทนหน่วยไต ทำหน้าที่แทนเครื่องฟอกเลือด เพราะพื้นที่ของเยื่อบุช่องท้องกว้างใหญ่พอกับพื้นที่ผิว แต่ใช้ความดันที่ต่างกันของโปรตีนและของออสโมลระหว่างเลือดและน้ำยาฟอกไต ทำหน้าที่แทนไต

2. คุณหมอจะใส่สายฟอกเลือดที่หน้าท้องเรา สายพาดผ่านท้องลงไปด้านล่างและทางด้านหลัง ไม่ทำอันตรายต่ออวัยวะใด จุดต่อสายภายนอก (exit site) จะยึดกับผนังหน้าท้อง ทำให้ไม่เลื่อนหลุด มีท่อเปิดให้น้ำยาไหลเข้าไหลออก หลังผ่าตัดวางสาย รอสัก 10-14 วันก็ใช้ได้

3. การฟอกเลือด เราจะต่อน้ำยาผ่านทางสาย มาเปิดเข้าท่อหน้าท้อง ทิ้งระยะเวลาให้สารละลายและน้ำมีการซึมผ่านเยื่อบุช่องท้อง ของเสียและน้ำจากร่างกายก็จะออกมาในช่องท้อง รอการระบาย อย่าลืมว่า สารละลายจากน้ำยาฟอกไตก็แลกผ่านเข้าร่างกายด้วย อันนี้แหละที่ต้องระวัง เนื่องจากตัวสร้างออสโมลของน้ำยาฟอกไตคือน้ำตาล ผู้ป่วยจึงอาจมีน้ำตาลในเลือดสูง

4. หลังจากทิ้งไว้ระยะเวลาหนึ่ง (มีการคำนวณในผู้ป่วยแต่ละรายไม่เท่ากัน) เราจะปล่อยน้ำยาที่ได้นำของเสียและน้ำส่วนเกินจากร่างกาย ผ่านทางท่อเดิม ลงถุงฟอกเลือดเดิมนี่แหละ เมื่อออกหมด เป็นอันจบหนึ่งรอบ โดยทั่วไปก็ทำสามถึงสี่รอบต่อวัน รอบละประมาณหนึ่งชั่วโมง คนไข้บางรายในรอบดึกอาจทิ้งน้ำไว้นานกว่าหนึ่งชั่วโมง

5. เนื่องจากต้องไปทำเองที่บ้าน บางคนพกไปที่ทำงานก็มีนะครับ ทักษะการทำต้องเรียนรู้ ถึงแม้มีเครื่องอัตโนมัติก็เถอะ การจัดการน้ำยา การล้างมือ การทำความสะอาด การผสมยาอื่น ๆ ในน้ำยาฟอกไต แต่ก็เรียนไม่ยาก หากสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จัดการได้ดี โอกาสล้มเหลวหรือติดเชื้อจะน้อยมาก

6. ปัญหาสำคัญนอกจากทักษะในข้อหก คือเรื่องการติดเชื้อ คุณหมอจะสอนสังเกตสีน้ำฟอกไต และรีบมาหาหมอเมื่อผิดปกติ เราจะรีบจัดการโดยใส่ยาฆ่าเชื้อลงในน้ำยาฟอกไต รักษาก่อนจะอาการหนัก ก่อนจะมีไข้ จะได้ไม่ต้องหยุดการฟอกไต ไม่ต้องเปลี่ยนสาย หรือไม่ติดเชื้อรุนแรง การติดเชื้อที่สำคัญมีสองจุดคือ ในช่องท้อง และจุดที่ท่อยื่นจากช่องท้อง

7. ถามว่าประสิทธิภาพดีเท่าฟอกเลือดไหม ถ้านับผลลัพธ์เรื่องของไต ถือว่าไม่ต่างกันหากจัดการทักษะการทำได้ดี ค่าใช้จ่ายในภาพรวมน้อยกว่า คุณภาพชีวิตในภาพรวมดีกว่าฟอกเลือดผ่านเครื่อง ที่ต้องไปฟอกเลือด ณ จุดบริการสัปดาห์ละสามครั้ง ครั้งละสามถึงสี่ชั่วโมง

8. คำแนะนำปัจจุบัน ไม่ว่าในไทยหรือทั่วโลก แนะนำ "PD first" สำหรับไทยเรา สามารถรักษาได้กับทุกสิทธิการรักษา ข้อห้ามที่สำคัญของการฟอกเลือดทางหน้าท้องคือ ขาดทักษะจนทำไม่ได้ได้ หรือมีข้อจำกัดการทำโดยเฉพาะปัญหาการเรียนรู้ สายตา มือ ที่ทำให้ทำไม่ได้ จะเห็นว่าข้อห้ามที่สำคัญเป็นเรื่องการเรียนรู้ ส่วนข้อห้ามอีกอย่างคือ สภาพเยื่อบุช่องท้องไม่เอื้ออำนวย

9. หากเกิดปัญหาไตวายเฉียบพลัน ยังสามารถใช้ท่อฟอกเลือดทางหน้าท้อง เพื่อรักษาอาการไตวายเฉียบพลันได้อีกด้วย คล้ายกับการทำ acute peritoneal dialysis สมัยก่อน

10. การฟอกเลือด หรือที่เรียกว่า การรักษาทดแทนไต ผ่านทางหน้าท้อง ไม่ได้น่ากลัว ไม่ได้ยุ่งยากจนจัดการไม่ได้ อายุรแพทย์ อายุรแพทย์โรคไต พยาบาลไตเทียม เจ้าหน้าที่สาธารณสุข มีการเรียนรู้จัดการจนปัจจุบันมีความชำนาญมากแล้วครับ มีศูนย์จัดการเรื่องนี้ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศแล้วด้วย

อาจเป็นรูปภาพของ 2 คน และ สถานที่ในร่ม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม