วันนี้ขอมาถ่ายทอดประสบการณ์การทำคอนเท้นต์วิชาการในเพจครับ
1. ใจพร้อมและอยากทำก่อนเลย ผมเคยคุยกับพี่ตุ้ม หนุ่มเมืองจันท์ เราเห็นตรงกันว่า หากเราพร้อมจะทำแล้ว ขอแค่เริ่มเขียนบรรทัดแรกที่เหลือจะตามมาเอง เรียกว่าใจที่อยากทำและวินาทีเริ่มต้นสำคัญที่สุดครับ
2. เนื้อหา หากจะทำเนื้อหาวิชาการ อาจจะต้องมีหลักฐานอ้างอิงมาพิงหลังนิดนึง เราไม่จำเป็นต้องเขียนแบบแปลมาให้อ่าน แค่จับจุดเดียวมาอธิบายหรือสรุปรวบยอดก็ได้ การแปลทั้งดุ้น เหมาะกับการอ่านไม่ใช่ทำคอนเท้นต์ลงสังคมออนไลน์ครับ
3. ใช้ภาษาและวิธีเล่าให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย อันนี้สำคัญ ตัวอย่างผมเขียนให้ประชาชนทั่วไปอ่าน จะเลือกใช้ภาษาชาวบ้าน เปรียบเทียบอะไรที่เห็นภาพในชีวิตประจำวัน จะมีบางคำบางเนื้อหาที่เพิ่มระดับการเรียนรู้ แต่ไม่ถึงกับสอนวิชาการ แต่หากทำเนื้อหาให้คุณหมออ่าน จะมาเขียนไก่กาแบบผม ก็จะไม่น่าสนใจครับ
4. พลังของการเลื่อนนิ้วสำคัญมาก ควรหาคำสำคัญมาเปิดบทความ รูปภาพหรือ meme ที่ดึงดูด เพราะปัจจุบันมีคอนเท้นต์มากมายมหาศาล ถ้าผู้อ่านไม่ได้ตั้งใจเข้ามาสืบค้น จะมีปัจจัยแวดล้อมมาดึงความสนใจ และปัจจัยแวดล้อมเหล่านั้นส่วนมาก จะน่าดึงดูดมากกว่าคอนเท้นต์วิชาการ
5. หลีกเลี่ยงเนื้อหายาวพรืด ถ้าเนื้อหายาวอาจต้องหลายตอน มีต้น-กลาง-จบ ในแต่ละตอน ที่ยากกว่าการแบ่งเนื้อหาและใช้ต้นกลางจบในแต่ละตอน คือ การดึงความสนใจให้ผู้อ่านอยากจะอ่านตอนต่อไปให้ได้ ตามปกติตอนแรกจะมีคนอ่านมากสุด และลดลงเรื่อย ๆ ตามจำนวนตอนย่อย
6. อุปกรณ์ที่ทำใช้เครื่องมือที่มีไปก่อน ถ้าเติบโตหรือมีทีมงานค่อยขยับขยาย มีโทรศัพท์เครื่องเดียวก็ทำคอนเท้นต์เพจ ทวิตเตอร์ ติ๊กต่อก ยูทูปได้เลย แต่ส่วนตัวผมแนะนำใช้คอมพิวเตอร์นะครับ มันสามารถทำได้หลากหลายสารพัดนึก เดี๋ยวนี้โปรแกรมออนไลน์ หรือแอปฟรีที่ใช้ทำคอนเท้นต์เยอะมาก
7. แพล็ตฟอร์ม เลือกที่ถนัด ถ้าตั้งใจทำจริงจังหรือหากมีสปอนเซอร์ แนะนำ multiplatform อาจจะเป็นเนื้อหาเดียวกันแต่แปลงลงหลายแพลตฟอร์ม ตอนนี้เฟซบุ๊กเริ่มน่าเบื่อ อาจใช้ช่องทางอื่น ทางที่ดีควรมีพื้นที่เก็บคอนเท้นต์เพื่อเชื่อมโยงผู้คนตามแพล็ตฟอร์มต่าง ๆ มาที่เนื้อหาเช่น เว็บไซต์ เว็บบล็อก
8. ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว เนื้อหา พยายามใช้เนื้อหาที่เปิดให้ใช้แบบให้เปล่า หรือใช้ได้เมื่ออ้างอิงที่มา ส่วนการลักลอบใช้หรือผิดลิขสิทธิ์ ไม่แนะนำให้ทำครับ หากเกิดปัญหาจะยุ่งยากแก่ตัวเอง และทำให้ความน่าเชื่อถือลดลง
9. ความสม่ำเสมอในการลงเนื้อหาเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะในช่วงแรก บางคนกำหนดสัปดาห์ละครั้ง สัปดาห์ละสองครั้ง ให้คนอ่านคนชมพอทราบกำหนดของเราได้ และควรมีเนื้อหาที่สร้างปฏิสัมพันธ์กับคนอ่านคนชมบ้างครับ การสื่อสารทางเดียว เนื้อหาดีแค่ไหน ก็ไม่ดึงดูดหรือน่าสนใจเท่าเนื้อหาที่สร้างปฏิสัมพันธ์ได้
10. เปิดใจกว้าง การที่เราทำเนื้อหาลงพื้นที่สาธารณะ ย่อมมีคนเห็นด้วย คนเห็นต่าง คำชม คำติ คนรัก คนเกลียด อย่าลืมเป้าหมายว่าเราไม่ได้เป็นศัตรูกับใคร การตอบโต้ต่าง ๆ พึงระวังว่าอย่าให้ลุกลามบานปลายและกระทบผู้อื่น
11. ศึกษากฎเกณฑ์ของแพล็ตฟอร์มนั้น กฎหมายเกี่ยวกับสื่อ คอมพิวเตอร์ ลิขสิทธิ์ หมิ่นประมาท ถ้าสิ่งใดไม่มั่นใจ อย่าเพิ่งนำเสนอ อย่าเพิ่งเปิดความเห็นสาธารณะ ให้ปรึกษาผู้รู้ อ่านข้อกฎหมายด้วย ทุกอย่างที่ส่งออกเผยแพร่ หมายถึงมีคนรู้เห็นเป็นพยานมากมายครับ
12. ดูแลสังคมออนไลน์ของตัวเอง ให้น่าอยู่ ให้ไม่ผิดจากเป้าหมายที่กำหนด บางสื่อบางแอป มีเนื้อหาไม่พึงประสงค์มากมาย คนอ่านจะเบื่อครับ และควรดูแลเนื้อหาที่แสดงความเห็นในพื้นที่ออนไลน์ของเราด้วย เพราะหากเกิดปัญหา เราก็ผิดด้วยเช่นกัน
13. การมีผู้สนับสนุนเนื้อหา ไม่ใช่สิ่งผิด แต่ควรแจ้งให้ผู้อ่านผู้ชมทราบว่า เนื้อหาที่ปรากฏมีผู้สนับสนุน คนที่เข้ามาอ่านมาชมจะได้ใช้วิจารณญาณในการรับชม และต้องระวังอย่าโฆษณาเกินจริง สำหรับผู้ประกอบวิชาชีพสุขภาพ ต้องตรวจสอบข้อจำกัดในการโฆษณาด้วยนะครับ อะไรทำได้ ทำได้ในขอบเขตเพียงใด
14. ถ้าจะเล่นทางนี้ ต้องตื่นตัวเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ ข้อมูลสดใหม่ เพราะเป็นที่สนใจของผู้คน ไม่ต้องถึงขั้นเกาะติดกระแสเป็นคนแรก แต่ควรนำสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ ๆ มาปรับใช้กับเนื้อหาได้อย่างเหมาะสม
15. ศาสนา ความเชื่อ ลัทธิ การเมือง สี่ประเด็นนี้ละเอียดอ่อน ไม่มีข้อถูกผิด การนำเสนอต้องระวังคำพูด ข้อความให้มากและต้องควบคุมการแสดงความเห็นของผู้ชมในเรื่องนี้ ไม่ให้เกิดความแตกแยกหรือการทะเลาะเบาะแว้งด้วย
อยากเห็นคนรุ่นใหม่ ๆ มาทำสื่อ ใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์มากขึ้นครับ ส่วนรุ่นเก่าแบบผม ใกล้จะหมดอายุ เสื่อมถอย ช้าลง ไปตามกาลเวลา สักวันคงเกษียณงานสื่อสังคมออนไลน์ กลับไปทำงานที่ถนัด กลับเป็น #ที่ปรึกษากายและใจกับสุภาพสตรีทั่วราชอาณาจักร เหมือนเดิม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น