GLP-1a กับผลลดน้ำหนัก
ยาเบาหวาน Glucagon-Liked Peptide-1 agonist เป็นยาเบาหวานยุคใหม่ชนิดหนึ่ง ที่นอกจากลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ดี ยังมีผลปกป้องหัวใจและหลอดเลือดได้ดีอีกด้วย ปัจจุบันยาตัวนี้ได้รับการบรรจุตามแนวทางการรักษาเบาหวานเรียบร้อย โดยอาจเลือกใช้เป็นยาตัวแรกในการรักษาได้ด้วย และยาตัวนี้มีอีกมุมที่...หลายคนสนใจ
เราพบว่าผู้ป่วยที่ได้รับยา liraglutide ที่น้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน มีน้ำหนักตัวที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับยาอื่น และเป็นจริงทั้งในผู้ป่วยเบาหวานหรือไม่ได้เป็นเบาหวาน ส่งผลให้มีการศึกษาค้นคว้าทดลองการใช้ยา liraglutide เพื่อหวังผลลดน้ำหนัก จนทำให้ยานี้ได้รับข้อบ่งชี้เพื่อใช้เป็นยาลดน้ำหนัก ไม่ว่าผู้ใช้จะเป็นเบาหวานหรือไม่ก็ตาม (แต่ขนาดยาเป็นคนละขนาดกับการรักษาเบาหวาน)
*** ย้ำครั้งที่ร้อยแปด คือ ใช้ในคนที่เป็นโรคอ้วน น้ำหนักตัวมากกว่า 100 กิโลกรัม หรือมีปัจจัยเสื่ยง โดยที่ต้องผ่านการควบคุมอาหารและออกกำลังกายเพื่อลดน้ำหนักมาอย่างเคร่งครัดเสียก่อน (ตามการศึกษาคือ 2 ปี) ไม่ใช่ว่าจะใช้ยาใน “คนอยากผอม” ได้ทุกกรณี***
แล้วยาตัวอื่นที่อยู่ในกลุ่มเดียวกัน โดยเฉพาะยาตัวใหม่ที่ฉีดสัปดาห์ละครั้งอย่าง Semaglutide จะมีผลแบบนี้หรือไม่ เอาล่ะสิ หรือเราจะได้ยาลดน้ำหนักตัวใหม่ คณะนักวิจัยได้ทำการศึกษา STEP8 เพื่อตอบคำถามนี้ อ้อ การศึกษานี้ได้รับการสนับสนุนจาก Novo Nordisk และนักวิจัยจากบริษัทก็มีส่วนร่วมในการศึกษาในเกือบทุกขั้นตอนครับ
เล่าคร่าว ๆ แบบนี้ การศึกษานี้ทำในผู้ที่ “ไม่เป็น” เบาหวาน อายุตั้งแต่ 18 ปี มีดัชนีมวลกายเกิน 30 หรือถ้าดัชนีมวลกายเกิน 27 ก็ต้องมีความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดอย่างน้อยหนึ่งข้อ และทุกคนข้างต้นจะต้องผ่านการควบคุมอาหารมาอย่างเคร่งครัดแล้ว เพียงแต่ล้มเหลวจากการควบคุมนั้นแล้ว จึงนำมาศึกษา
แบ่งเป็นสองกลุ่มคือ ได้ semaglutide สัปดาห์ละครั้ง อีกกลุ่มได้รับ liraglutide วันละครั้ง ปรับยากันประมาณ 20 สัปดาห์ และใช้เวลาศึกษาถึง 68 สัปดาห์ และวัดผลน้ำหนักตัวที่ 68 สัปดาห์ แต่ละกลุ่มยังมีกลุ่มย่อยสองกลุ่ม คือ รับยาทดลองและยาหลอกอีกด้วย กลุ่มการศึกษาส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง อายุประมาณ 50 ปี น้ำหนักประมาณ 104 กิโลกรัม ดัชนีมวลกาย 37.5 ศึกษาไป 68 สัปดาห์
ผลที่ออกมาคือ กลุ่มที่ได้ Semaglutide น้ำหนักลดลงกว่าตอนเริ่ม 15.8% ส่วน liragutide น้ำหนักลดลงกว่าตอนเริ่ม 6.4% ความแตกต่างนี้มีนัยสำคัญทางสถิติ โดยเริ่มเห็นความแตกต่างที่ประมาณสัปดาห์ที่ 28 (หลังจากปรับยาจนได้ขนาดคงที่แล้ว) โดยผลข้างเคียงรวมโดยเฉพาะระบบทางเดินอาหารพบมากกว่าในฝั่ง semaglutide ในฝั่ง liraglutide มีคนที่เกิดผลข้างเคียงน้อยกว่า แต่เกิดผลจนต้องออกจากการศึกษามากกว่า
(ถ้าไปอ่านฉบับเต็มจะพบว่า ผลของ Liraglutide ที่ดูด้อยกว่านั้น มีปัจจัยอื่นมาเป็นตัวแปรปรวนอีกพอสมควร โดยเฉพาะเรื่องสมบัติส่วนตัวของยาที่ต้องการใช้ยาวันละครั้งและต้องปรับยาบ่อย ไปหาอ่านได้จาก STEP8 in JAMA.2022; 327c)
เป็นที่น่าสนใจว่า Semaglutide ฉีดสัปดาห์ละครั้ง จะสามารถนำพาตัวเอง สู่การเป็นยาลดน้ำหนักขนานใหม่ได้หรือไม่ ผลของฮอร์โมนอินครีตินตัวนี้ ยังคงสร้างปรากฏการณ์ใหม่ ๆ ในวงการแพทย์อย่างต่อเนื่อง วันหลังจะมาเล่าเรื่องฮอร์โมนอินครีตินแบบสนุก ๆ ให้ฟังนะครับ
แต่เหนือสิ่งอื่นใด ขอย้ำครั้งที่ร้อยเก้า ว่าการใช้ยาลดน้ำหนัก จะใช้ในคนที่เป็นโรคอ้วน ส่วนมากคือดัชนีมวลกายตั้งแต่ 30 ขึ้นไป และต้องผ่านการควบคุมอาหารอย่าเคร่งครัดมายาวนาน โดยทั่วไปก็ 1-2 ปี จนเป็นนิสัย แต่ก็ยังลดน้ำหนักได้ไม่ถึงเป้า เราจึงใช้ยาลดน้ำหนักภายใต้การควบคุมอย่างเคร่งครัด ไม่มีทางลัดใด ๆ ในการลดน้ำหนักตัวครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น