30 มีนาคม 2561

การลดความเสี่ยงโรคหัวใจ

healthy heart

  การลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด ผู้ร้ายอันดับหนึ่งของโลก แม้ว่าโรคที่ทำให้เกิดการตายสามอันดับแรกขององค์การอนามัยโลกคือ ความดันโลหิตสูง โรคอ้วน และบุหรี่ แต่สุดท้ายปลายทางของทั้งสามโรคจะมาจบที่โรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ โดยมีโรคไตวายติดตามมาด้วย เว็บไซต์ medscape ร่วมกับ American Colleges of Cardiology ได้ลงบทความที่น่าอ่านนี้ ถ้าประชาชนทุกคนทราบดีก็จะช่วยลดการเกิดอัตราการเสียชีวิตจากโรคได้อีกมาก
  ใครติดตามเพจเราจะพบว่าเรื่องพวกนี้ผมลงให้บ่อยๆ บางคนก็เบื่อ แต่อย่าเพิ่งเบื่อนะครับ ความเบื่อที่จะรับรู้รับฟังคำเตือนที่ดี เป็นบ่อเกิดของการเริ่มต้นสิ่งที่ไม่ดีที่จะเล็ดรอดเข้ามาได้

1. ควบคุมความดันโลหิตสูง ความเสี่ยงโรคหมายเลขหนึ่งของมนุษยชาติ จากแนวทางโรคความดันโลหิตสูงอันใหม่ที่ขยับลดตัวเลขลงมาที่ 130/80 ก็เพื่อให้เราเอาใจใส่โรคมากขึ้น ก่อนที่จะสายเกินไป ผู้ที่ควบคุมความดันไม่ได้มีโอกาสเป็นโรคหัวใจมากขึ้น 3 เท่าและโอกาสเกิดอัมพาตมากขึ้น 4 เท่า
    มีการสนับสนุนให้วัดความดันเองที่บ้าน

1.1 ลดอาหารเค็ม ลดการใส่เครื่องปรุงเพิ่ม ลดการใส่ผงชูรส อาหารแปรรูป
1.2 ออกกำลังกาย ขยับร่างกายมากขึ้น
1.3 เลิกบุหรี่
1.4 จำกัดแอลกอฮอล์ ไม่เกิน 2 ดื่มมาตรฐานสำหรับชายและหนึ่งดื่มมาตรฐานสำหรับหญิง
1.5 ควบคุมน้ำหนัก
1.6 ใช้ยาที่เป็นเม็ดรวม กินง่าย ไม่ลืม

2. ควบคุมไขมัน เกินครึ่งของประชากรสหรัฐมีไขมันในเลือดเกิน และเสียชีวิตมาก แต่หลังจากการใช้ยาลดไขมัน statin ทำให้อัตราการเสียชีวิตและโอกาสเกิดโรคหัวใจลดลงอย่างมาก แม้จะยังมีอยู่แต่ถ้าไม่ใช้ยา ไม่ควบคุม น่าจะเสียชีวิตกันมากกว่านี้ การควบคุมนั้นแน่นอนว่า ควบคุมน้ำหนัก ออกกำลังกายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ และยังต้อง

2.1 ลดไขมันอิ่มตัว (เช่นจากไขมันสัตว์ น้ำมันมะพร้าว)และไขมันทรานส์ (เช่น มาร์การีน) และบริโภคไขมันโดยรวมไม่ให้มากเกิน ชดเชยไขมันด้วยไขมันไม่อิ่มตัว
2.2 กินอาหารไฟเบอร์มากขึ้น ธัญพืช ข้าวกล้อง ถั่ว
2.3 หากมีความเสี่ยงที่จำเป็นต้องใช้ยา ก็ควรใช้ยาไปตลอดเพราะการลดความเสี่ยงด้วยการปฏิบัติตัวอย่างเดียวสำหรับโรคไขมันในเลือดสูงนั้น ไม่เพียงพอ

3. เบาหวาน หนึ่งในความเสี่ยงสำคัญเช่นกัน ผู้ที่ป่วยเป็นเบาหวานมีโอกาสเกิดโรคหัวใจมากกว่าคนที่ไม่เป็น 3-4 เท่า และปัจจุบันเป้าหมายอันหนึ่งของการรักษาเบาหวานคือ การลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดร่วมด้วยเสมอ
   ยาที่แสดงให้เห็นประโยชน์ในการลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดที่ชัดเจนคือยากินกลุ่ม SGLT2i ยากลุ่ม-gliflozin  และยากลุ่ม GLP1a ยาฉีดกลุ่ม -glutide  ไม่ได้หมายถึงบังคับใช้สองตัวนี้เท่านั้น แต่บอกว่ามีทางเลือกที่ดีขึ้น
  ส่วนการปฏิบัติตัวทำคล้ายกับข้อหนึ่ง

4.อาหาร  ชัดเจนที่สุดคือลดเค็ม ลดเกลือ ลดไขมันอิ่มตัวและไขมันทรานส์ รวมทั้งลดปริมาณไขมันโดยรวมด้วย ส่วนที่ยังจำเป็นต่อร่างกายให้ใช้ไขมันไม่อิ่มตัวแทน ส่วนใครที่กลัวว่ากรดไขมันจะไม่พอ เพราะกรดไขมันจำเป็นบางชนิดก็อยู่ในไขมันอิ่มตัว อย่าได้กังวลเพราะหากเรารับประทานอาหารครบถ้วน ในเนื้อสัตว์ก็จะมีไขมันอยู่แล้ว เราแนะนำไขมันอิ่มตัวและไขมันทรานส์ให้น้อยที่สุด ไม่เกิน 7-10% ของพลังงานที่ควรได้รับ

  ถั่วเม็ดแข็ง ธัญพืช ที่มีไฟเบอร์สูง พลังงานน้อยกว่าข้าวขัดสี เรายังกินน้อยมาก
  อาหารทะเล ปลาทะเล กินอย่างน้อยสัปดาห์สะสองสามครั้ง
  เนื้อแดงนั้นให้ลดปริมาณลง หลายการศึกษาเริ่มเห็นแล้วว่า ..มีแนวโน้ม..เพิ่มความเสี่ยงโรคหัวใจ
  นมและผักผลไม้

อาหารที่แนะนำคือมีการศึกษายอมรับว่าช่วยทั้งความดันโลหิต โรคหัวใจ คืออาหาร Mediterennean และ อาหาร DASH และหากกินในปริมาณเหมาะสมต่อเนื่องกัน น้ำหนักจะลดลงด้วย

5. ออกกำลังกาย แนะนำขยับร่างกายบ่อยๆก่อน เดินเร็วๆครั้งละ 10 นาทีหลายๆครั้งก็ได้ ผ่อนส่งการออกกำลังกายได้ หรือถ้าให้ดีก็ออกกำลังกายแบบแอโรบิกให้เหนื่อย 150 นาทีต่อสัปดาห์เป็นอย่างน้อย (โรคหัวใจและโรคความดันโลหิตสูง หอบหืด ควรปรึกษาแพทย์)

ผมว่าง่ายที่สุดแล้วในโลกยุคปัจจุบัน นอกเหนือจากการใช้ยาและปรับยา ท่านทำได้เองทุกอย่าง ทำได้ตอนนี้เลย ทำได้ทุกวัน ไม่เสียค่าใช้จ่าย ออกจะประหยัดเงินด้วย

ทำสิ่งต่างๆที่ดีเพื่อสุขภาพ ลงทุนต่ำ ได้กำไรทั้งเม็ดเงินและสุขภาพ

ปล่อยปละละเลย รอให้เป็นก่อนค่อยรักษา นอกจากกำไรหดแล้วยังต้องเสียเงินมากด้วย ในภาษาเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขเรียก health discount เป็น discount ที่ไม่ดีเท่าไร ตรงข้ามสินทรัพย์ที่ปล่อยนานราคาขึ้น หรือเงินเฟ้อมากขึ้นเรื่อยๆ
  ...สุขภาพ ยิ่งปล่อยไว้นาน ยิ่งแก้ไขยากและราคาแพง...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม