ทำไมหมอต้องจ่ายยาโรคกระเพาะมาพร้อมกับยาแก้ปวดด้วย ตอนที่สาม
หลังจากที่เราได้เรียนรู้เรื่องแผล และกระเพาะอาหารอักเสบ ยา เรามาดูที่การศึกษาว่าการให้ยาปกป้องกระเพาะ ซึ่งนับรวมทั้งแผล (ที่เกิดจากเชื้อโรคเป็นหลัก) และกระเพาะอาหารอักเสบ รวมไปถึงผลแทรกซ้อนจากการเกิดแผลในรูปแบบต่างๆ ว่ายาแต่ละชนิดมันป้องกันอะไร ป้องกันได้มากไหม
การศึกษานี้เป็นการรวบรวมการศึกษาอื่นๆนะครับ การจะเอาไปใช้อย่างจริงจังโดยเฉพาะคุณหมอต้องอ่านฉบับเต็มอย่างละเอียด แต่ที่ผมจะกล่าวแต่สรุปคร่าวๆให้คนทั่ว ไปได้เห็นภาพว่าทำไมต้องกินคู่กัน และมันได้ประโยชน์จริงหรือเท่านั้น ได้ขนาดการศึกษาที่ใหญ่พอควรเลยและมีความแปรปรวนในการศึกษาแต่ละอันไม่มากนัก หรือ กลุ่มตัวอย่าที่ศึกษาในแต่ละภาวะคล้ายๆกัน ผลออกมามีความแม่นยำสูง
เขาศึกษาระดับการป้องกันหลายระดับ ตั้งแต่ป้องกันระดับยังไม่มีอาการจะรู้เมื่อส่องกล้องดู หรือป้องกันการเกิดอาการจากแผลคือ ปวดท้อง จนไปถึงผลแทรกซ้อนจากแผลคือเลือดออก หรือกระเพาะตีบแคบเลย
และศึกษาในแง่การรักษาและป้องกันการเกิดซ้ำในคนที่เกิดแล้ว แต่ยังเสี่ยงการเกิดต่อไปเช่น ต้องให้ยา NSAIDs ต่อไป ต่างจากกรณีแรกคือ ป้องกันตั้งแต่ยังไม่เกิดแผลเลย
มีการเทียบทั้งกับไม่ป้องกัน เทียบกับให้ยา หรือ เทียบยาแต่ละตัวว่าขนาดของประโยชน์ที่เกิดต่างกันมากน้อยแต่ไหน อันนี้จะช่วยได้หากเราไม่ต้องการใช้ยาตัวหนึ่งและจะไปใช้ยาอีกตัวหนึ่งแทน
พูดถึงในแง่การป้องกันก่อนนะครับ ให้ยาเพื่อป้องกันแผล พบว่าให้ยาปกป้องกระเพาะดีกว่าการไม่ให้ยา อันนี้ชัดเจนมีนัยสำคัญทางสถิติและชัดเจนทั้งสามตัวคือ PPI, H2RA และ prostaglandins ลดการเกิดแผล ลดการเกิดกระเพาะอักเสบ 70-80% ทีเดียว เมื่อเทียบกับไม่ให้ยา
ทั้งการป้องกันแผลในระดับที่ไม่มีอาการและมีอาการแล้ว ส่วนการป้องกันเลือดออกจะป้องกันได้ประมาณ 60% ลดขนาดการป้องกันลงมาเล็กน้อย
สำหรับการป้องกันทั้งหมดนี้ ยา PPI มีประสิทธิภาพในการป้องกันมากที่สุด รองมาด้วย H2RA และรองมาด้วย prostaglandins ตามลำดับ ยกเว้นการป้องกันแผลในกระเพาะที่ prostaglandins ดูดีกว่า
แต่ถ้าถามว่าประสิทธิภาพต่างกันมากไหม ตอบเลยว่าไม่ต่างกันมาก ผมขอยกตัวอย่างอันเดียวอันอื่นๆจะคล้ายกัน เช่น โอกาสเกิดแผลที่พบจากการส่องกล้องคือไม่มีอาการนะ ถ้าให้ PPI โอกาสเกิดน้อยกว่าไม่ให้ยาใดๆ 80% และลดหลั่นลงมาสำหรับ H2RA 74% ตามมาด้วย prostaglandins 68% จะสังเกตว่าตัวเลขไม่ได้ต่างกันมากนัก เราอาจเลือกใช้ตามสถานการณ์ ราคาและความเหมาะสมต่างๆได้
หรือแม้แต่การป้องกันแผลที่มีอาการ ในภาพรวมยาทั้งสามชนิดลดโอกาสการเกิดแผลที่มีอาการปวดลงได้ 75% (71-78%) เมื่อเทียบกับไม่กินยา จะสังเกตว่าช่วงประสิทธิภาพแคบมาก คือ 71-78% สำหรับยาทั้งสามตัว ก็ไม่ได้หนีกันมากมายนัก (ผมดัดแปลงค่า Odd Ratio มาให้ง่ายต่อการเข้าใจนะครับ)
จากที่เล่ามาถึงตอนนี้ก็จะพบว่าถ้าเรากินยาที่ปกป้องกระเพาะไม่ว่าตัวใดตัวหนึ่ง โอกาสการเกิดแผลหรือกระเพาะอักเสบจะลดลงมากเลย อย่าเพิ่งเชื่อนะ..ฟังต่อไป
แล้วถ้าไปดูเรื่องเลือดออกจากทางเดินอาหารและผลแทรกซ้อนจากแผลอื่นๆได้แก่ กระเพาะทะลุ เกิดแผลเป็นตีบแคบ หรือเลยไปถึงอัตราการเสียชีวิต ก็จะพบว่า การป้องกันด้วยยาปกป้องกระเพาะนี้ ลดโอกาสเกิดผลแทรกซ้อนได้ก็จริงนะ แต่คราวนี้ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติแล้ว จะพอมีน้ำหนักในการป้องกันเรื่องเลือดออกสำหรับยา PPI
พอมาถึงตรงนี้ จะพบว่าไม่สามารถกันผลแทรกซ้อนได้มากนัก อาจเป็นว่าโรคมันไม่ได้รุนแรงมาก โอกาสเกิดผลแทรกซ้อนไม่มากนัก หรือถ้าหากเกิดผลแทรกซ้อนแล้วก็จะอันตรายต้องใช้วิธีอื่นๆแก้ไข เช่นผ่าตัด การให้ยาก็ดูไม่ได้ "ป้องกัน" ผลแทรกซ้อนและอัตราเสียชีวิตมากเท่าไรนัก
ส่วนในแง่การ "รักษา" อันนี้ชัดเจนมาก หากเป็นแผลหรืออักเสบแล้ว ให้ยาตัวใดตัวหนึ่งดีกว่าไม่ให้ชัดเจน แผลหายดีกว่าโอกาสเกิดแผลซ้ำน้อยกว่า และเช่นเคย ขนาดการป้องกันของยา PPI ดีที่สุด
สรุปคือสามารถป้องกันโรคแผลในกระเพาะและกระเพาะอักเสบในระยะต้นๆได้ดี แต่ถ้าปล่อยจนมีผลข้างเคียงแทรกซ้อนแล้วก็อาจ "ป้องกัน" ไม่ค่อยดีนัก แต่อย่างไรก็ตามดีกว่าไม่ให้ยาแน่ๆ และยา PPI ดูจะมีประโยชน์สูงสุด
อย่างนี้ก็ต้องให้ยาทุกคนนะสิ ไม่เลือกหน้าอินทร์หน้าพรหม หรือว่าเลือกให้เฉพาะคนที่เสี่ยง ใครเสี่ยงเป็นโรคกระเพาะ ใครเสี่ยงเป็นแผลเวลากินยา NSAIDs ก็ควรกินยาปกป้องคู่กันเท่านั้น และอะไรคือความเสี่ยงนั้น เรามาตามกันในตอนที่ 4 นะครับ ที่เป็นตอนจบ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น