10 มีนาคม 2561

โรคตับที่เกี่ยวเนื่องกับแอลกอฮอล์

โรคตับที่เกี่ยวเนื่องกับแอลกอฮอล์ ตับอักเสบจากเหล้า อย่างไรเรียกว่าเสี่ยง จะวินิจฉัยอย่างไร มีแนวทางการรักษาอย่างไร
1. ต้องมีประวัติดื่มเหล้าหรือสงสัยว่าจะดื่มเหล้า และก็ต้องดื่มมากระดับหนึ่ง ระดับนั้นคือ สุภาพบุรุษมากกว่า 3 ดื่มมาตรฐานต่อวัน ส่วนสุภาพสตรีนับแค่สองเท่านั้น ต่อเนื่องกันมาเป็นเวลาไม่น้อยกว่าห้าปี เมื่อดื่มแบบนี้ก็เสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคตับอันเกิดจากแอลกอฮอล์ อาจเป็นระดับเบาๆเช่นมีไขมันเกาะ หรือต่อเนื่องไปจนตับอักเสบรุนแรง ตับแข็ง ตับวายได้
2. อย่าลืมเรื่องดื่มมาตรฐานเพราะคนเราดื่มไม่เท่ากัน อย่าว่าแต่คนเราเลย เกณฑ์การดื่มของแต่ละทวีปก็ไม่เท่ากัน ในอเมริกานับที่ 14 กรัมต่อวัน ประเทศไทยนับ 10 กรัมต่อวัน คิดคร่าวๆดังนี้ 0.789 x ปริมาณต่อวันเป็นลิตร x เปอร์เซ็นต์แอลกอฮอล์ ออกมาเป็นหน่วยดื่มมาตรฐาน เช่น เบียร์หนึ่งกระป๋องต่อวัน เท่ากับ 0.789 x 0.33 x 5 เท่ากับ 1.3 ดื่มมาตรฐานแล้วนะครับ แค่เบียร์กระป๋องเดียว
3. จะให้ดีขึ้นก็ควรมีการตรวจอัลตร้าซาวนด์ หรือการตรวจหาความยืดหยุ่น (elastogram) ซึ่งก็ใช้เครื่องอัลตร้าซาวนด์นี่แหละ ปรับความถี่เอา จะเห็นว่าไม่ต้องเจาะหรือตัดแต่อย่างใด ภาพที่เห็นจะเห็นแล้วบอกได้ว่าน่าจะมีการเปลี่ยนแปลงของไขมันในตับ ที่เราชอบๆเรียกกันว่าไขมันเกาะตับ จริงๆแล้วเราใช้คำกำกวมเนื่องจากโรคตับจากแอลกอฮอล์ในระยะแรกที่ยังไม่มีการอักเสบก็จะพบลักษณะแบบนี้ ส่วนโรคที่เราเรียกว่าตับอักเสบจากไขมันเกาะ (non alcoholic steatohepatitis) คือต้องไม่ใช่เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ ตามชื่อโรค
**ดังนั้นห้ามใช้ภาพอัลตร้าซาวนด์มาใช้วินิจฉัยโรคนี้โดยไม่มีประวัติและความน่าจะเป็น อย่างเด็ดขาด**
4. ส่วนตับอักเสบจากการดื่มเหล้า ก็จะพบมีการทำงานของตับแย่ลงเฉียบพลันและมีประวัติดื่มเหล้ามาอย่างต่อเนื่องอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 8 สัปดาห์และไม่มีสาเหตุอื่นๆที่จะทำให้ตับอักเสบ ถ้าคิดว่าอาจเกิดร่วมกับโรคตับอื่นๆ ก็จะเห็นว่าโรคตับเดิมนั้นแย่ลงจากเดิมอย่างรวดเร็ว
5. เราต้องตรวจการทำงานของตับ โดยดูที่ค่า AST และค่า ALT ทั้งสองค่านี้จะสูงกว่าปกติมากกว่า 1.5 เท่า และส่วนมากก็จะไม่เกิน 400 หากเกิน 400 ต้องคิดถึงอย่างอื่นๆด้วย เคล็ดอีกอันที่บรรดาหมอๆเขาจะดูกันว่าดื่มเหล้าไหม คือสัดส่วนของค่า AST/ALT จะประมาณ 1.5 -2.0 เท่า
ตรวจพบสารเหลือง bilirubin อย่างน้อย 3 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
5.1 อันนี้แถมให้ หากเจาะค่า gamma GT จะพบสูงขึ้น แต่ว่าไม่เฉพาะกับเหล้านะ อยากจะได้ค่าเฉพาะเพื่อเพิ่มความจำเพาะในการตรวจให้ตรวจค่า carbohydrate deficient transferrin หรือ ethyl glucuronide ได้ทั้งในเลือดและปัสสาวะ แต่ก็นะ...สิ้นเปลืองมาก มักใช้ในงานวิจัย
6. หากจะบอกแบบชัดๆที่เรียกว่า definite ก็ต้องมีการตรวจชิ้นเนื้อที่ตับ โดยใส่อุปกรณ์เข้าทางหลอดเลือดดำที่คอ ผ่านหัวใจลงไปที่ตับแล้วตัดชิ้นเนื้อเอาไปตรวจก็จะพบความผิดปกติแบบของแอลกอออล์ที่ทำให้อักเสบ ตรงนี้คงไม่ได้ทำทุกคนแน่ๆ เราใช้ประวัติ อาการ ผลเลือดก็จะบอกได้ละว่า ตับอักเสบจากการดื่มแอลกอฮอล์ในระดับ probable แต่ว่าเพียงเท่านี้ก็สามารถดูแลรักษาได้
7. ก่อนจะไปถึงการแยกความรุนแรงและการรักษา ไม่ว่าจะอักเสบมากหรือน้อย ต้องรับการประเมินเรื่องการติดเหล้า มาตรฐานสากลเราใช้แบบทดสอบที่เรียกว่า AUDIT หากคะแนนเกิน 8 ก็บอกได้ว่าเป็นโรคจากการใช้แอลกอฮอล์และหากคะแนนเกิน 20 ถือว่าติดเหล้า เพื่อประเมินและให้การบำบัดการติดเหล้าด้วยทั้งการใช้ยา การทำพฤติกรรมบำบัด การขอความช่วยเหลือจากชุมชนและครอบครัว และคัดกรองโรคซึมเศร้าด้วยนะ ข้อมูลมากมายบอกว่าคนที่ติดเหล้ามักจะสัมพันธ์กับโรคซึมเศร้าชัดเจน
8. ต่อมาก็ประเมินความรุนแรง หากรุนแรงมากเราต้องรีบให้การรักษาเพราะอาจกลายไปเป็นตับอักเสบรุนแรงและตับวายได้ เห็นไหมไม่ใช่เรื่องเล็กแล้วนะ การประเมินเราใช้ระบบการให้คะแนนที่มีชื่อว่า Meddery Discriminant Functions หรือ MELD นอกจากบอกความรุนแรงยังบ่งชี้แนวทางการรักษาด้วย
9. ถ้าโรครุนแรงคือ Driscriminant Functions มากกว่า 32 หรือ MELD มากกว่า 20 เราก็จะให้การรักษาโดยการใช้ยาสเตียรอยด์ prednisolone ขนาด 40 มิลลิกรัมต่อวันเป็นเวลา 7 วันแล้วดูการตอบสนอง ถ้าตอบสนองดี อาการดี ค่าเอนไซม์ตับลดลงก็พิจารณาให้ต่อจนครบ 4 สัปดาห์ ปัญหาอยู่ที่หากไม่ดีขึ้น จะทำอะไร
10. หากไม่ดีขึ้น (ตามเกณฑ์ต้องใช้ Lille Model ติดตาม) ต้องพิจารณาเปลี่ยนตับโดยเร็ว ..แล้วจะทำได้จริงหรือไม่ คงยากมาก จึงต้องใช้การรักษาที่อาจจะ..อาจจะเท่านั้น..อาจจะได้ประโยชน์เช่นยา acetylcysteine, pentoxyphylline หรือการประคับประคองในกรณีอวัยวะล้มเหลว ส่วนเรื่องการพิจารณาการเปลี่ยนตับไม่ได้มากล่าวไว้ตรงนี้ สามารถค้นเพิ่มได้จากวารสารอ้างอิงด้านล่าง
11.นอกเหนือจากนี้การดูแลเรื่องโภชนาการก็มีความสำคัญ เพราะโดยส่วนมากขาดอาหารทั้งนั้นต้องให้พลังงาน 35 กิโลแคลอรี่ต่อน้ำหนักตัวหนึ่งกิโลกรัมต่อวัน และเสริมเกลือแร่ให้พอโดยเฉพาะวิตามินบีหนึ่งและสังกะสี
12.การดูแลเรื่องอาการสับสนวุ่นวายหรือชักจากการถอนเหล้าก็มีความสำคัญมากเช่นกัน เพราะพิษจากเหล้าสักพักก็จะตามมาด้วยอาการถอนเหล้า หากมีอาการสับสนแนะนำให้ใช้ยา diazepam หรือ chlordiazepoxide แต่ถ้าหากการทำงานของตับไม่ดี ก็เลือกใช้ยาออกฤทธิ์สั้นกว่าคือ lorazepam
13.ร่ายยาวมาทั้งหมด อยากจะบอกว่าแค่ไม่ดื่มเหล้า หรือน้อยที่สุดก็อย่าดื่มมากเกินไป ปัญหาเหล่านี้ก็จะไม่เกิดกับคุณและคนที่คุณรัก
ของแถม
http://www.lillemodel.com/score.asp ระบบคะแนนต่างๆรวมไว้ที่นี่ ที่เดียว
http://apps.who.int/…/106…/67205/5/WHO_MSD_MSB_01.6a_tha.pdf ทดสอบการติดเหล้า AUDIT
http://www.jvkk.go.th/newweb/CPG/alcohol/CIWA-Ar.pdf คะแนนการถอนเหล้า ภาษาไทย จากสถาบันจิตเวชราชนครินทร์
https://www.nature.com/articles/ajg2017469 วารสารตัวเต็ม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม