27 ธันวาคม 2559

โรคเท้าช้าง

โรคเท้าช้าง .. โรคที่ห่างหายไปนานจากผู้คน  ที่ห่างนานเพราะเราไม่ค่อยพบ แต่วันนี้ วันที่แรงงานต่างด้าวเต็มเมือง..เขาอาจจะพา "ช้าง" กลับมา

   โรคเท้าช้างเป็นโรคที่เกิดจากปรสิตที่อาศัยในหลอดเลือดและท่อน้ำเหลือง ชื่อของปรสิตที่พบมากในประเทศเราทั้งสองอย่างคือ Wuchereria bancrofti และ Brugia malayi  ปรสิตนี้ตัวเต็มวัยจะอาศัยอยู่ในหลอดน้ำเหลือง สร้างบ้านแปงเมือง สร้างอาณาจักรแผ่ขยายไปตามท่อน้ำเหลืองและต่อมน้ำเหลือง จนอุดตันท่อหลอดน้ำเหลืองไปหมด สิ่งที่เห็นคืออวัยวะส่วนนั้นจะบวมเรื้อรัง แข็ง เพราะสารน้ำส่วนเกินที่ร่างกายจะดูดกลับทางท่อน้ำเหลืองนั้น ตีบตันเสียแล้ว สารน้ำจึงคั่งมาก ขาบวม อัณฑะบวม  เจ้าปรสิตนี้เมื่อมันออกไข่ออกลูก ลูกจะเป็นหนอนตัวเล็กๆเรียกว่า microfilaria ในช่วงเด็กๆเขาจะไปอาศัยอยู่ในหลอดเลือดครับ เราจึงสามารถตรวจพบ microfilaria หรือชิ้นส่วนของ micrifilaria ได้จากการเจาะเลือดตรวจ
    แต่ก็ไม่ได้มีแต่นักเทคนิคการแพทย์เท่านั้นที่รู้ว่า microfilaria อยู่ในเลือดและจะพบได้ เอาไปตรวจได้  ยุงก็รู้เช่นกัน ยุงก็มากัดคนทำให้ microfilaria ไปกับยุงและเมื่อไปกัดคนอื่น เชื้อปรสิตก็จะเข้าร่างกายคนอื่นได้ (บางตำราบอกว่า เชื้อมันไชเข้าผิวหนังผ่านทางรอย้จาะเลือดของยุง) ถ้าร่างกายคนๆนั้นต่อต้านไม่ได้ ก็จะติดเชื้อเท้าช้างต่อไป

    ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะมีเท้าข้างหมดนะครับ การติดเชื้ออาจมีแค่หลอดน้ำเหลืองอักเสบเป็นรอยแดงๆ หรือขายังไม่บวมแต่ตรวจพบ microfilaria ด้วยวิธีต่างๆ จนถึงขาบวมแข็งอย่างที่เราเคยเห็น  ตรงนี้คือปัญหาครับ ถ้าบวมชัดเจนก็คงเดินไปหาหมอ แต่ถ้าติดเชื้อไม่มีอาการก็จะไม่ทราบ ทำให้เป็นแหล่งโรคและแพร่กระจายต่อไปได้นั่นเอง เรามาดูทีละอย่าง
   ถ้ามีอาการชัด บวม แข็ง เรื้อรัง บางครั้งอาจเจาะเลือดไม่พบเชื้อปรสิตแต่ถ้าเราตรวจปฏิกิริยาภูมิคุ้มกันต่อเชื้อ (circulating filarial antigen) หรือทำ PCR (ตรวจสารพันธุกรรม)ก็จะพบได้ อันนั้นก็ต้องรักษาครับ ถ้าเป็นมาไม่นานนักอาจยุบบวมได้ การให้ยาก็อาจเกิดปฏิกิริยาได้มากจึงต้องดูแลดีๆ ยาที่ใช้คือ diethylcarbamazine, ivermectin, doxycycline, albendazole สูตรยารักษาจะต่างจากการปูพรมที่จะกล่าวต่อไปนะครับ
  ส่วนถ้าไม่มีอาการล่ะ..คนไข้ก็ไม่ทราบ ไม่รู้ตัว จะทำอย่างไร ปัจจุบันทางองค์การอนามัยโรคแนะนำว่า ถ้าอยู่ในพื้นที่เสี่ยง แจกยาเลยครับ แจกเลย..ใช้ diethylcarbamazine ขนาด 6 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัวหนึ่งกิโลกรัม ราวมกับยา albendazole ขนาด 400 มิลลิกรัม กินคนละครั้ง ปีละครั้ง ปูพรมไปเลย องค์การอนามัยโลกประมาณผู้ติดเชื้อ 120 ล้านคน ซึ่ง 57% อยู่ในอาเซียนเรานี่เอง อีก 37% อยู่ในแอฟริกา

    องค์การอนามัยโลกประมาณการว่าด้วยมาตรการการปูพรมแบบนี้ (MDA : mass drug administration)  ลดโอกาสเป็นโรคไป 96 ล้านคนแล้ว และก็ต้องมาเก็บตกคนเป็นโรคอีกให้หมด (MMDP : morbidity management and disability prevention) จะช่วยควบคุมโรคเท้าช้างได้อย่างดี ร่วมกับการควบคุมกำจัดและป้องกันยุงก็จะควบคุมได้เฉกเช่นมาเลเรีย ไข้เลือดออก
   สำหรับประเทศไทย ได้มีการควบคุมโรคในกลุ่มคนอาศัยตามตะเข็บชายแดนภาคตะวันตกและภาคใต้บางบริเวณที่พบการระบาด และในกลุ่มแรงงานต่างชาติชาวเมียนมาร์ที่เข้ามาทำงาน..อย่างถูกต้อง..ในประเทศ โดยการตรวจเลือดและรับประทานยาแบบ MDA

   ..ไม่เกี่ยวอะไรกับ..ช้าง..แต่ประการใด..

ที่มา ..
1.WHO
2.Jaijakul S, Nuchprayoon S. Treatment  of lymphatic filariasis: An update.” Chula Med  J. 2005; 49: 401-421. (in Thai)
3.โรคเท้าช้าง  (Lymphatic filariasis) วิชา  Cardiovascular System II (3000378) 21  ตุลาคม  2551  รศ.พญ.ดร.สุรางค์ นุชประยูร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม