คำถามเดียวกัน คำตอบต่างกัน
มีผู้ป่วยสองราย ปรึกษาเรื่องโรคหืดก่อนผ่าตัด การผ่าตัดนั้นไม่ใช่การผ่าตัดที่เกี่ยวข้องกับทางเดินหายใจ ไม่ใช่การผ่าตัดรีบด่วน
ผู้ป่วยสองรายเป็นสุภาพสตรี อายุประมาณ 50 ปี ประวัติเป็นโรคหืดมาเป็นสิบปี
รายแรก อาการไม่กำเริบมาห้าปีแล้ว ใช้ยาสูด salmeterol/fluticasone มาตลอด ช่วงโควิดไม่ได้ไปติดตามพบแพทย์ แต่ยังสูดพ่นยาตลอด ตรวจร่างกายปกติ
ไม่ต้องเตรียมตัวใดมากมายก่อนผ่าตัด ให้สูดยาต่อเนื่อง การผ่าตัดไม่มีปัญหา สามวันกลับบ้านได้
รายที่สอง มีอาการไอบ่อย ๆ ไม่หอบถึงขั้นไปพ่นยาที่รพ. ใช้แต่ยาพ่นเวลามีอาการเหนื่อย ไอ มาพบแพทย์ติดตามอาการนาน ๆ ครั้ง ซื้อยาพ่นใช้เอง (albuterol) ตรวจร่างกายพบหลอดลมตีบ
ต้องประเมินโรคกำเริบ วัดแรงลม พ่นยาก่อนผ่าตัด สอนการหายใจและสูดยาเตรียมหลังผ่าตัด ประเมินไอซียูเผื่อกำเริบ ประเมินร่วมกับทีมวิสัญญีก่อนผ่าตัด หลังผ่าตัด โรคหืดกำเริบ อยู่รพ.นานขึ้นกว่าเดิม
โรคหืด (asthma) เป็นโรคที่หากโรคไม่กำเริบ จะไม่มีอาการใด ๆ ตรวจสมรรถภาพปอดก็เหมือนคนปกติ ทำให้บางครั้งเราเผลอ ไม่ควบคุม หยุดยาเอง ที่น่ากลัวคือ หยุดสเตียรอยด์เอง แล้วเจออีกครั้งคือ ตีบถาวรไปแล้ว
หรือในรายที่อาการกำเริบไม่มาก บางทีพ่นยาเองก็สงบ ทำให้ไม่ไปประเมินอาการเพื่อปรับยา (หากควบคุมอาการดีไม่ควรกำเริบ) และหลายรายไม่สูดยาสเตียรอยด์ต่อเนื่อง
ตอนไม่ป่วย ไม่ต้องผ่าตัด อาจไม่เห็นความแตกต่าง แต่เมื่อต้องผ่าตัด หรือต้องรักษาใด ๆ ที่ต้องเกี่ยวข้องกับหืด จะมีผลต่อเนื่องและยุ่งยาก หากควบคุมไม่ดี
ยามศึก..เรารบ
ยามสงบ .. ลองไปปลุก ยามอาจจะหลับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น