หนองในเข้าตา
ภาพจากวารสาร New England Journal of Medicine แสดงให้เห็นภาพดวงตาซ้ายของผู้ป่วยสุภาพสตรีวัย 24 ปี มีอาการเปลือกตาบวมมาก แดงก่ำ ปวดแสบ และมองภาพไม่ชัด ขี้ตามากขึ้นสีเหลือง มีอาการมาสองวัน จึงมาตรวจที่แผนกฉุกเฉิน
คุณหมอที่โตเกียว ทำการเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ เพาะเชื้อ ทำนั่นนี่มากมาย … อาการตาบวมมาก ๆ จนรบกวนการมองเห็นก็ถือว่าเป็นภาวะฉุกเฉินทางจักษุวิทยานะครับ จะมานั่งหยอดยาป้ายตาที่บ้านไม่ได้แล้ว
ผลเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ก็ออกมาบวมเป่ง แต่ไม่ได้ลุกลามลึกไปกว่าโพรงลูกตา ผลป้ายหนองจากดวงตาพบเชื้อแบคทีเรียรูปกลม อยู่เป็นคู่ ๆ กระหนุงกระหนิง สีแดง (intracellular gram negative diplococci) ทำให้เราคิดถึงเชื้อ Neiserria gonarrhea เชื้อแบคทีเรียก่อโรคหนองใน ต่อมาผลเพาะเชื้อก็แสดงผลเชื้อตัวนี้เช่นกัน
ผู้ป่วยไม่มีอาการใด ๆ อื่น ๆ ของโรคหนองในเลย ไม่ว่าหนองจากท่อปัสสาวะ ทวารหนัก เจ็บคอ (ผมไปค้นหากรณีแบบนี้เพิ่มเติม ก็พบว่าส่วนมากไม่มีอาการอื่น ๆ เช่นกัน) สรุปว่าเป็นโรคหนองใน gonorrhea keratoconjuctivitis
ความสำคัญของโรคนี้ที่เราคุ้นเคยกันคือ ติดเชื้อที่ดวงตาในเด็กทารกแรกเกิด เพราะติดจากแม่ตอนคลอด เพราะว่าแม่เป็น อาจจะทราบหรือไม่ทราบก็แล้วแต่ เราจึงป้ายตาเด็กด้วยยาฆ่าเชื้อ หากติดและรุนแรงอาจทำให้ตาบอดได้หากรักษาไม่ทัน ส่วนในผู้ใหญ่นั้นพบน้อย คิดจากกลไกการเกิดโรคก็ไม่น่ามีสารคัดหลั่งทางอวัยวะสืบพันธุ์พุ่งไปที่ดวงตาได้ (อย่าไปถามคุณหมอ salikahappymen เข้าล่ะ)
ในผู้ใหญ่ก็อันตรายไม่แพ้ในเด็ก คือ สามารถลุกลามได้เร็ว ทำลายเยื่อบุดวงตา ตาขาว เลนส์ และอาจลุกลามเข้าโพรงลูกตาได้ และลุกลามเร็วด้วย ทำให้ตาบอดและติดเชื้อลุกลามเข้าสมองได้ง่าย อันตรายนะครับ ไม่ใช่เล่น
คำแนะนำจากซีดีซี และองค์กรโรคติดเชื้อหลายที่ แนะนำให้รักษาทันทีที่สงสัยหรือตรวจพบ ด้วยยาปฏิชีวนะโดยการฉีด ไม่ว่าฉีดเข้าหลอดเลือดหรือฉีดเข้ากล้าม (เรารักษาหนองในด้วยการฉีด ceftriaxone 0.5 -1.0 กรัม เข้ากล้ามวันละครั้ง) เป็นเวลาอย่างน้อย 5 วัน และอาจเสริมด้วยยาฆ่าเชื้อเฉพาะที่ หรือล้างทำความสะอาดด้วยน้ำเกลือบ่อย ๆ และต้องติดตามใกล้ชิด จนกว่าจะดีขึ้นและไม่ทำให้การมองเห็นพิการไป
ผู้ป่วยรายนี้ก็ได้รับยาตามนั้นและอาการดีขึ้น ไม่พบโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ และไม่ได้ลงรายละเอียดว่าสัมผัสสารคัดหลั่งมาได้อย่างไร ในรายงานวารสารอื่น ๆ ก็พบว่าหายให้ยาได้ทัน ผลการรักษาจะออกมาดีมากครับ
แม้ปัจจุบันจะมีรายงานการดื้อยาเชื้อหนองในมากขึ้น แต่เรายังพอรักษาได้ด้วยการเพิ่มขนาดยาให้สูงขึ้น สูงกว่าขนาดต่ำสุดที่จะทำลายเชื้อได้ เดิมเราเคยใช้ 0.125 - 0.25 กรัมต่อวัน ตอนนี้ขยับเป็นครึ่งกรัมหนึ่งกรัมไปแล้วครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น