จุกแน่นท้อง ไม่หายสักที กินยาหลายที่ก็แค่บรรเทา ... ปัญหาที่ไม่ใช่เพียงแค่การวินิจฉัยทางการแพทย์
ผู้ป่วยสุภาพสตรีอายุ 67 ปี นอนบนเตียงตรวจเพราะไม่ค่อยมีแรง นั่งยืนนาน ๆ ไม่ค่อยไหว มาตรวจเพราะอาการจุกแน่นแสบท้องเป็น ๆ หาย ๆ มาสามปี กินยามาหลายที่หลายขนาน ผมขอข้ามการซักประวัติและการตรวจร่างกายเพื่อการวินิจฉัยโรค dyspepsia หรือโรคกระเพาะอาหารและลำไส้ส่วนต้นทำงานผิดปกติ ตรวจและแยกโรคที่เป็นอาการเตือนทั้งหลายออกไปหมดแล้ว สรุปว่าเป็นโรคกระเพาะ
แต่ทำไมไม่หาย ?!?!?
มองดูผู้ป่วยผอม หน้าตาตึงเครียด ผู้ป่วยเบื่ออาหาร กินได้น้อย ไม่อยากเดินไปไหนมาไหนเพราะปวดหัวเข่าทั้งสองข้าง เมื่อดูและตรวจหัวเข่า ก็พบว่าเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมที่รุนแรงพอสมควร กล้ามเนื้อรอบหัวเข่ามีขนาดเล็กและไม่แข็งแรง
ได้ความว่าปวดเข่ามานาน กินยาแก้ปวดมาหลายที่หลายขนาน ทั้งหมอจ่ายให้ ทั้งซื้อกินเอง เมื่อปวดไม่หายก็ไม่อยากเดิน นั่ง ๆ นอน ๆ อยู่บนเตียง ใช้ยานอนหลับบ่อย ๆ
อืม…ปวดท้อง ปวดเข่า มันก็เกี่ยวข้องกันได้นะ โดยเฉพาะสารพัดยาแก้ปวดเข่า ที่มีผลข้างเคียงระคายเคืองกระเพาะอาหาร หรืออาจเกิดเลือดออกในทางเดินอาหาร ถ้าใช้แต่ยาบรรเทาอาการปวดและอักเสบ (NSAIDs) ซึ่งเป็นปลายเหตุโดนไม่แก้ต้นเหตุ ทำให้ต้องใช้ยาตลอดและเกิดอันตรายจากการใช้ยามากขึ้น
ดังนั้นอาจต้องคุยและปรึกษา 'ต้นเหตุ' ที่ไม่ใช่อาการสำคัญ ที่ทำให้ผู้ป่วยต้องมาพบหมอ
เอาล่ะถ้าปวดเข่าและมีอันตรายจากการใช้ยาขนาดนี้ การรักษาควรจะเป็นการผ่าตัดรักษาข้อเข่า เช่นการเปลี่ยนข้อเข่า จะได้แก้ไขปัญหาและลดปริมาณการใช้ยาแก้ปวดลง จะได้ไม่ต้องเจออาการปวดท้องจากยาแก้ปวด
หรือหากยังไม่พร้อมจะผ่าตัด (หรือหลังผ่าก็ตาม) การทำกายภาพบำบัด การเสริมความแข็งแรงกล้ามเนื้อรอบเข่า การใช้อุปกรณ์ช่วยเดิน ก็เป็นการรักษาที่ตรงจุดอีกอันหนึ่ง เพราะ
…เมื่อทำกายภาพ… อาการปวดจะลดลง ใช้ยาแก้ปวดลดลง
…เมื่อทำกายภาพ… กล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้น การเคลื่อนที่และเดินทำได้มากขึ้น
…เมื่อทำกายภาพ…จะเหนื่อยและต้องการพลังงาน จะกินได้มากขึ้น ใส่สารอาหารได้มากขึ้น
…เมื่อทำกายภาพ…มีความเหนื่อยล้า ก็จะนอนหลับสบายขึ้น พักผ่อนได้ดีขึ้น
…เมื่อทำกายภาพและฝึกเดิน… จะทำกิจวัตรประจำวันได้มากขึ้น ลดภาวะพึ่งพา มีความสุขในการใช้ชีวิต ความตึงเครียดและเศร้าซึมจะลดลง
การรักษาผู้ป่วยรายนี้คงเป็นเรื่องของการทำกายภาพบำบัดและคุยปรึกษาเรื่องการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า เพื่อที่จะแก้ไขสาเหตุของปัญหาหลายประการ และต้องคุยร่วมกันกับผู้ดูแลเพื่อวางแผนการรักษาให้ตรงกัน ปรับให้เข้ากันมากที่สุด
การเลือกใช้ยาแก้ปวด ยารักษาอาการปวดจุกท้อง จึงเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของการรักษาที่อาจไม่ประสบความสำเร็จและเกิดวนซ้ำแล้วซ้ำเล่า หากไม่แก้ไขต้นเหตุครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น