27 พฤษภาคม 2562

"คำยินยอมหลังบอกกล่าว informed consent"

หนังสือเล่มนี้น่าอ่านยิ่ง โดยเฉพาะน้อง ๆ หมอที่กำลังจะออกไปทำงาน หนังสือ "คำยินยอมหลังบอกกล่าว informed consent"
แม้ว่าน้อง ๆ จะบอกว่า นี่มันหนังสือกฎหมายนี่หว่าพี่ ก็ใช่นะครับน้อง แต่เป็นกฎหมายทางการแพทย์ที่เราต้องทราบ ที่คนไข้ก็ควรรู้ในการมีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน ความเข้าใจของเรากับข้อเท็จจริงทางกฎหมายอาจไม่เหมือนกัน
หนังสือจากสำนักพิมพ์นิติธรรม แต่งโดย นพ.วิฑูรย์ ตรีสุนทรรัตน์และ ธนสร สุทธิบดี ราคาเล่มละ 150 บาท เป็นหนังสือขนาดเอสี่บาง ๆ แถมพรบ.สุขภาพปี 2550 มาด้วย
ตัวอย่างที่ยกมานะครับ ปี 1914 มีคดีระหว่างสมาคมแพทย์นิวยอร์กกับคนไข้ เพราะคนไข้ยินยอมให้แพทย์ทำการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ (biopsy) แต่เมื่อแพทย์เห็นก้อนแล้วก็วินิจฉัยว่าเป็นมะเร็ง จึงตัดออกทั้งก้อน โดยที่ผู้ป่วยไม่ได้ยินยอมให้ทำแบบนั้น คดีนี้ศาลสูงสหรัฐตัดสินใจว่าแพทย์ทำละเมิดนะครับ
ตามกฎหมายของไทยการที่หมอตรวจร่างกายคนไข้ พยาบาลฉีดยา หมอผ่าตัด เป็นการทำร้ายร่างกายเป็นการละเมิด โดยเจตนาด้วยนะครับ เพียงแต่มีบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายอาญายกเว้นโทษเอาไว้ตามหลัก Volenti Non fit Injuria ความยินยอมทำให้ไม่เป็นการละเมิด หากไม่มีความเสียหายเกิดขึ้น
พรบ. สุขภาพได้กำหนดให้มีการลงชื่อยินยอมหลังบอกกล่าว informed consent คือผู้ได้รับการรักษาหรือตัวแทน จะต้องได้รับข้อมูลเกี่ยวกับการรักษาอย่างเพียงพอ ด้วยภาษาที่เข้าใจ ก่อนจะยินยอมให้การรักษา นั่นคือเป็นหน้าที่ของผู้ให้บริการทางการแพทย์ ที่จะต้องทำโดยที่ผู้รับบริการไม่จำเป็นต้องถามก่อน หลังจากได้รับคำอธิบายเพียงพอ จึงตัดสินใจและลงชื่อ
หากไม่ยินยอม เราก็ไม่สามารถให้การรักษานั้นได้ ยกเว้นบางภาวะเช่น ภาวะฉุกเฉินอันตรายถึงแก่ชีวิต
และถึงแม้ผู้รับบริการเซ็นยินยอมก็ไม่ได้หมายความว่าเขาไม่มีสิทธิฟ้องร้องดำเนินคดีผู้ให้บริการนะครับ เขายังมีสิทธิฟ้องร้องดำเนินคดีได้หากผู้ให้บริการทำการด้วยความประมาทเลินเล่อ เพราะการทำข้อตกลงโดยยกเว้นความผิดที่จะต้องรับผิดเมื่อเป็นกลฉ้อฉลหรือประมาทเลินเล่อ ข้อตกลงนั้นจะเป็นโมฆะ
ที่กล่าวมาเป็นเพียงตัวอย่างเท่านั้น ในหนังสือเล่มนี้ยังกล่าวถึงข้อตกลงข้อกฎหมายที่หมอกับคนไข้มีปฏิสัมพันธ์กันทุกวัน แต่เราอาจไม่รู้ข้อกฎหมาย ทำให้เมื่อเกิดปัญหาจะวุ่นวายยุ่งยากมาก แนะนำให้ทั้งคนไข้และหมอ หรือผู้สนใจทุกท่านควรอ่านครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม