19 กันยายน 2560

มาตรการการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิต ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มผสมน้ำตาล เครื่องดื่มให้กำลังงาน และบุหรี่

มาตรการการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิต ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มผสมน้ำตาล เครื่องดื่มให้กำลังงาน และบุหรี่ มีผลบังคับใช้ ส่งผลให้ราคาขายปลีกบุหรี่ขยับขึ้นอย่างแน่นอน สำหรับบุหรี่นอกนั้น บริษัทเจ้าของอาจรับภาระภาษีนี้เอง แต่สำหรับบุหรี่ราคาประหยัดราคา ต่ำกว่า 60 บาทก็จะขยับเป็นซองละ 60 บาท ส่วนบุหรี่ของโรงงานยาสูบไทยขยับราคาขึ้นทั้งสิ้น หมายถึงผู้สูบผู้ซื้อได้รับผลกระทบชัดเจน
มาตราการอันนี้เป็นหนึ่งในมาตรการการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก ตามข้อตกลง framework convention of tobacco control (FCTC) ที่ยกเป็นมาตรการยอดนิยม ใช้งบประมาณน้อย ได้ผลดี คือการปรับภาษีนั่นเอง
มาตรการนี้เป็นต้นแบบของหลายๆประเทศในโลกไปปรับใช้ ประเทศไทยเองก็มีการปรับเพิ่มภาษีสรรพสามิตบุหรี่หลายครั้ง แต่ละครั้งก็มีผลกระทบพอสมควร ผมกระทบทั้งสองด้าน คือ บริษัทผู้จำหน่ายบุหรี่จำหน่ายได้ลดลง (ตรงนี้ถ้าลดลงถึงระดับหนึ่ง กำลังซื้อลดลงมาก รัฐก็เก็บภาษีได้น้อยลงด้วย) มีประชาชนส่วนหนึ่งเลิกบุหรี่เพราะมาตรการนี้ มีจริงนะครับ
แต่ในขณะอีกด้าน หากไม่สามารถควบคุมบุหรี่ผิดกฎหมาย หนีภาษี หรือในบ้านเราก็รวมถึงบุหรี่ไฟฟ้า บารากู่ ประชาชนก็อาจหันไปหาสิ่งเหล่านี้ได้ ซึ่งก็อันตราย เป็นอันตรายที่คุมไม่ได้ด้วย หรือแม้กระทั่งบุหรี่มวนเองจากใบยาเส้น ซึ่งทางองค์การอนามัยโลกถือเป็นอันตรายเช่นกัน ประชาชนก็อาจหันไปใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ กลายเป็นว่ารัฐก็ขาดรายได้ ประชาชนก็ไม่ได้บริโภคยาสูบลดลง
มาตรการภาษีใหม่เราเก็บภาษียาเส้นด้วยนะครับ
ผมคงไม่สามารถบอกได้ว่ามาตรการภาษีอันใหม่นี้ดีหรือไม่ดี เพราะไม่ทราบตัวขี้วัดของภาครัฐ และระยะเวลายังไม่ยาวพอที่จะวัดผล คงต้องติดตามดูต่อไป
ข้อมูลจาก WHO FCTC, American Colleges of Physicians, Tobacco Control Act, European Network for Smoking and Tobacco Prevention และล่าสุดข้อมูลจากงานประชุม european respiratory society ที่มิลาน 2017 สัปดาห์ก่อน ได้มีการนำเสนอข้อมูลใหม่ๆ ที่ต่อมาจาก Athens Declaration ที่ประชุมร่วมเพื่อการควบคุมยาสูบของยุโรป (ประกาศเมื่อพฤษภาคม 2017)
ข้อมูลทั้งหมดนี้ไม่ได้แตกต่างกันในภาพรวม แต่อาจแตกต่างกันในรายละเอียดปลีกย่อยตามสถานการณ์ของแต่ละประเทศ ในมาตรการต่างๆดังนี้
1. ขึ้นภาษี อันนี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้สูบ และลดภาษียาเลิกบุหรี่
2. ป้องกันและควบคุม บุหรี่ผิดกฎหมาย ไม่อย่างนั้นการบริโภคก็ไม่ลดลง
3. ลดกิจกรรมและการสนับสนุนของบริษัทบุหรี่ การโฆษณา การเป็นผู้สนับสนุน การใช้ซองบุหรี่สีพื้น ไม่มีข้อความ
4. จัดพื้นที่สูบและงดสูบที่ชัดเจนในทุกๆที่ เพื่อปกป้องคนที่ไม่สูบบุหรี่ โดยเฉพาะในพื้นที่สาธารณะ
5. มีสื่อสาธารณะ สื่อออนไลน์ สายด่วนติดบุหรี่ ให้บริการ อย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ
ผมว่าห้าข้อนี้ประเทศเราทำได้พอๆกับทั่วโลก แต่ก็ยังมีอีกหลายมาตรการที่ควรควบคุมมากขึ้นดังนี้
1. ปกป้องคนที่ไม่สูบบุหรี่ โดยเฉพาะเยาวชน ไม่ให้หันไปหาบุหรี่ทั้งบุหรี่มวนและบุหรี่ไฟฟ้า
2. ปกป้องคนที่เลิกแล้ว ไม่หันกลับไปสูบอีก
3. สำหรับคนที่ยังสูบอยู่ ก็ต้องหามาตรการเพื่อเลิกบุหรี่ ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งคลินิกเลิกบุหรี่ การลดภาษียาเลิกบุหรี่และอุปกรณ์เพื่อเลิกบุหรี่ ให้เข้าถึงบริการได้ง่ายขึ้น
4. ส่งเสริมและให้ทุนการศึกษาใหม่ๆ หรืออุปกรณ์ใหม่ๆ เพื่อเลิกบุหรี่
5. ควบคุมปริมาณนิโคติน สารเผาไหม้ ใบยาสูบ สารเคมีต่างๆ ทั้งในบุหรี่มวน ยาเส้น บุหรี่ไฟฟ้า นิโคตินเหลว
6. กระตุ้นการให้คำแนะนำในการเลิกบุหรี่กับสถานพยาบาลทุกระดับ
ในหกข้อหลังนั้น อาจต้องเป็นมาตรการต่อเนื่องจากการปรับเพิ่มภาษี เพราะจะเป็นการบีบรัดผู้ผลิตและจำหน่ายด้วย แต่ในสถานการณ์ทั้งโลกพบว่าอัตราการใช้ยาเลิกบุหรี่ การเข้าคลินิกเลิกบุหรี่ ลดน้อยลง แต่การใช้ผลิตภัณฑ์ชดเชยนิโคตินโดยเฉพาะบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ผมยกตัวเลขจากข้อมูลการนำเสนอของ European Respiratory Journal ที่ผ่านมานะครับ น่าจะอัพเดตที่สุดแล้ว
อีกอย่าง ที่ยุโรปนั้นการศึกษาข้อมูลด้านยาสูบและการเลิกบุหรี่ และบุหรี่ไฟฟ้า เป็นอย่างอิสระและเปิดเผย ซึ่งอาจจะไม่พบข้อมูลแบบนี้ในบ้านเราเพราะว่าข้อกฎหมายครับ ส่วนจะประยุกต์มาใช้กับบ้านเราได้หรือไม่ อันนี้คงต้องมานั่งพิจารณาแบบละเอียดในบรรดาผู้เชี่ยวชาญและผู้กำหนดนโยบายครับ
ยาอดบุหรี่มาตรฐาน ใช้ลดลงจาก 6.7% ในปี 2012 ลดเหลือ 5.0% ในปี 2014 เรียกว่าของเดิมก็น้อยอยู่แล้ว ยังน้อยลงอีก
บุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น จาก 3.7% ในปี 2012 เพิ่มเป็น 11% อันนี้คือความหมายของการใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพื่อการเลิกบุหรี่นะครับ
ผู้ที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าส่วนมากคือ ผู้ที่เคยสูบบุหรี่อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเปลี่ยนมาใช้ไฟฟ้า หรือใช้ร่วมกับบุหรี่มวน
ผู้ที่เสี่ยงอันตรายจากควันและสารพิษต่างๆเรียงลำดับจากน้อยไปมากดังนี้ ใช้ร่วมบุหรี่มวนและไฟฟ้า 56% บุหรี่มวนอย่างเดียว 46% บุหรี่ไฟฟ้าอย่างเดียว 34% ไม่สูบแต่อาจได้ควันมือสอง 25%
ผู้ที่ใช้เริ่มบุหรี่ไฟฟ้าส่วนมาก ไม่ได้หันไปติดบุหรี่มวนมากขึ้น แต่จะสูบไฟฟ้าต่อไป หรือเลิกสูบ(แค่ลอง)
ผู้ที่ติดบุหรี่ไฟฟ้า หรือใช้ควบคู่กับบุหรี่มวน เพราะว่า บางสถานที่สูบบุหรี่มวนไม่ได้ และความสะดวกสบาย เรื่องสถานที่นี้ทาง american colleges of medicine เน้นย้ำมาก เนื่องจากต้องการปกป้องคนอื่นจากควันบุหรี่
ข้อมูลทั้งหลายของบุหรี่ไฟฟ้า ที่มีสารก่อมะเร็งน้อยกว่านั้นจริง ส่วนสารอื่นๆที่เป็นพิษบางชนิดมีมากกว่าบุหรี่มวนแต่ส่วนใหญ่ก็น้อยกว่า ข้อมูลตรงนี้ยังไม่พอที่จะบอกอัตราการเกิดมะเร็งหรืออัตราการเสียชีวิตโดยรวม เพราะบุหรี่ไฟฟ้าเกิดมาไม่นาน และอีกอย่าง การคิดคำนวนว่าอัตราการเกิดมะเร็งและอัตราการเสียชีวิตลดลงหรือไม่นั้น อาจต้องคำนึงว่าปัจจุบันเทคโนโลยีการรักษาก้าวหน้าขึ้น และการสูบบุหรี่มวนลดลง การศึกษาเพื่อหาความสัมพันธ์ของบุหรี่ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น กับ อัตราการเกิดมะเร็งและเสียชีวิตคงต้องมาปรับตัวแปรปรวนนี้ด้วย
ข้อมูลในเรื่องของการระคายเคืองทางเดินหายใจ การกระตุ้นการกำเริบของหลอดลมอุดกั้นเรื้อรังหรือหอบหืด ข้อมูลยังน้อยเกินไปและไม่ชัดเจน ข้อมูลเรื่องความสัมพันธ์กับโรคหัวใจและหลอดเลือดก็ยังมีน้อยและไม่ชัดเจน คงต้องรอการศึกษาต่อไป
เรื่องทั้งหมดไม่ง่ายเหมือนขึ้นภาษีมะม่วง แล้วบีบให้ไปกินมะละกอนะครับ อย่าลืมว่าบุหรี่คือสารเสพติด ในคนที่ยังไม่พร้อมจะเลิกหรือไม่ทราบมาตรการต่างๆ เขาไม่ลดปริมาณการสูบลงนะครับ แต่อาจจะหาทางอื่นๆเช่น บุหรี่ผิดกฎหมาย หรือ เสียเงินมากขึ้นในการซื้อบุหรี่ เพราะมันเสพติดไงครับ ขณะนี้หลายๆประเทศจึงไม่ได้มุ่งเน้นแค่การขึ้นภาษีเพียงอย่างเดียว ต้องมีมาตรการอื่นๆมารองรับด้วย นั่นรวมไปถึงการควบคุมปริมาณนิโคติน ให้เกิดสภาพเสพติดน้อยลง
ไม่ว่าการควบคุมการผลิตบุหรี่ ใบยาสูบ การควบคุมนิโคตินเหลวของบุหรี่ไฟฟ้า หรือ การพิจารณาเรื่อง tobacco harm reduction ลดทั้งควันลดทั้งนิโคติน
เพื่อให้ผู้ที่ติดบุหรี่แล้วเลิกไม่ได้มีทางเลือก แต่ไม่ใช่ว่าจะไม่เข้าคลินิกเลิกบุหรี่นะครับ ส่วนตัวผมคิดว่าแม้จะมีทางเลือกแต่ก็ควรอยู่ภายใต้คลินิกเลิกบุหรี่ครับ และสุดท้ายท้ายสุด การหยุดได้ทั้งหมดถือเป็นความสำเร็จสูงสุดนะครับ ทุกวันนี้ผมก็ยังเล็งเป้านั้นอยู่นะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม