เมื่อวานนี้มีเหตุระเบิดรถไฟใต้ดินที่เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก รัสเซีย มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 10 ราย เรายังไม่ทราบรายละเอียดว่าเสียชีวิตจากสาเหตุใด แต่จากภาพข่าวผมนึกถึงภาวะหนึ่งได้ เลยไปค้นคว้าแล้วมาเล่าให้ฟัง...การบาดเจ็บจากควัน
เวลามีการระเบิดขึ้น ย่อมเกิดควัน ควันจากการระเบิดนี้ต่างจากควันที่เกิดจากไฟไหม้ธรรมดานะครับ ควันที่เกิดจากการระเบิดจะมีองค์ประกอบสองประการ อย่างแรกคือสารเคมี อย่างที่สองคือควันและความร้อน โดยเฉพาะถ้าเกิดในที่ปิดเช่นสถานีรถไฟใต้ดิน
ในเรื่องสารเคมี ในการระเบิดไม่ว่าจะเกิดจากวัตถุระเบิด หรือการเผาไหม้ปิโตรเลียม จะเกิดสารเคมีได้หลายอย่าง ภายใต้สภาวะแรงดันและความร้อนมหาศาล จะเกิดสารได้หลายชนิด แต่ละชนิดก็สามารถทำร้ายทางเดินหายใจได้ทั้งสิ้น อาทิเช่น คลอรีน, กรดไฮโดรคลอริก, ซัลเฟอร์ไดออกไซด์, ไนโตรเจนออกไซด์, แอมโมเนีย สารเคมีเหล่านี้ถ้าขนาดโมเลกุลใหญ่ หรือละลายน้ำได้ดี ก็จะเกาะทำลายระคายเคืองผิวทางเดินหายใจส่วนบน จมูก ปาก คอ กล่องเสียง และจะมีอาการระคายเคือง แสบตาแสบจมูก สารคัดหลั่งมากมายที่ออกมาอาจอุดตันทางเดินหายใจได้
ส่วนสารที่โมเลกุลเล็กก็จะลงไปลึกถึงทางเดินหายใจส่วนล่างและปอด ทำให้เกิดความเสียหายทั้งระยะเฉียบพลันคือระคายเคือง เยื่อบุตาย สารคัดหลั่งมาก ทำให้แลกเปลี่ยนแก๊สไม่ได้ ขาดออกซิเจน
การระคายเคืองทั้งส่วนล่างและส่วนบน ก็จะทำให้เซลตาย สารคัดหลั่งมาก อุดตันอย่างที่กล่าวไป ในระยะยาวการอักเสบอาจเรื้อรังจนเกิดโรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง หรือหลอดลมโป่งพองเรื้อรังได้เลย โดยเฉพาะแอมโมเนีย ที่มีอยู่มากมายในปุ๋ย จะมีฤทธิ์เป็นด่าง กัดกร่อนทำลายเยื่อบุเป็นก้อนๆอุดตันทางเดินหายใจได้ บางรายต้องใส่ท่อ เจาะคอฉุกเฉินก็มี
ส่วนควันและความร้อน ควันที่เข้าไปไม่ใช่ควันเย็นๆนะครับ อุณหภูมิสูงมาก ทำให้ทางเดินหายใจส่วนบนไหม้และเหมือนถูกไฟลวกได้ ต่ำลงไปที่ทางเดินหายใจส่วนล่าง ไอน้ำร้อนๆก็ลงไปทำให้ไหม้ได้เช่นกัน การบาดเจ็บจากความร้อนนี้รุนแรงมากนะครับ เป็นสาเหตุหลักของการบาดเจ็บที่ปอด ทำให้หลอดลมตีบแคบ เซลตาย การอักเสบลุกลาม หลอดลมอุดตัน ติดเชื้อซ้ำซ้อนเพราะเจ้าเซลเยื่อบุที่คอยทำลายเชื้อโรคมันถูกทำลายไป
ส่วนควัน ก็ทำให้ระคายเคืองอย่างมาก หลอดลมจะมีปฏิกิริยาตีบแคบจากสารที่ตอบสนองต่อการกระตุ้น ก็จะหายใจไม่ออก แลกเปลี่ยนแก๊สไม่ได้ ออกซิเจนไม่เข้า เหนื่อยหอบถึงขั้นเสียชีวิตได้
สรุปว่าเสียชีวิตจากเซลตายพร้อมๆกันไปอุดตันหลอดลม สารคัดหลั่งที่ออกมาต่อต้านมากเกินกำจัดได้ อุดตันอีก ความร้อนเผาทำลายเซลอุดตันอีก เชื้อโรคตามเข้าโจมตี แถมตัวหลอดลมเองก็ตีบแคบลงด้วย ...ทั้งหมดทำให้ขาดอากาศเสียชีวิตนั่นเอง
การดูแลเบื้องต้น...ให้พาออกมาจากบริเวณนั้นโดยเร็ว ให้ออกซิเจนที่ผ่านความชื้นเพื่อเติมออกซิเจน (ทางเดินมันตีบแคบเลยต้องใส่มากๆ) ตรงนี้สำคัญต้องผ่านความชื้นนะครับ เพราะไอร้อนที่เข้าปอดมันทำให้ไม่ชื้น และถ้าไม่ชื้นการแลกแก๊สก็จะลดลง
ถ้าทางเดินหายใจอุดกั้นจนหายใจไม่ไหว ต้องใส่ท่อช่วยหายใจและเครื่องช่วยหายใจ การพ่นยาขยายหลอดลมมีประโยชน์นะครับ เพราะสารทั้งหมดจะทำให้หลอดลมแคบลงโดยเฉพาะควัน
ถ้าทางเดินหายใจอุดกั้นจนหายใจไม่ไหว ต้องใส่ท่อช่วยหายใจและเครื่องช่วยหายใจ การพ่นยาขยายหลอดลมมีประโยชน์นะครับ เพราะสารทั้งหมดจะทำให้หลอดลมแคบลงโดยเฉพาะควัน
การบาดเจ็บอาจลุกลามเป็นระบบการหายใจล้มเหลวที่เรียกว่า ARDS ที่มีอัตราการเสียชีวิตสูงมากๆ และต้องมีการรักษาเฉพาะแบบ ผมไม่กล่าวในที่นี่...เผื่องานให้หมอไอซียูได้ทำบ้างนะครับ แหะๆ
หลังจากนั้นก็รักษาแบบประคับประคอง ถ้าติดเชื้อซ้ำซ้อนก็ให้ยาฆ่าเชื้อ ดูแลการบาดเจ็บของระบบอวัยวะอื่นๆ โดยเฉพาะปอดฉีก เลือดออกในปอด กล้ามเนื้อหัวใจถูกกระแทก เพื่อดูแลทั้งหมดทั้งร่างกายไปพร้อมๆกันครับ
ขอแสดงความเสียใจกับผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์รถไฟใต้ดินระเบิดเมื่อวานนี้ครับ
ที่มา
Eurasian J Med. 2010 Apr; 42(1): 28–35.
http://emedicine.medscape.com/article/771194-overview
CDC.gov
Harrison's Principle of Internal Medicine 19th
Eurasian J Med. 2010 Apr; 42(1): 28–35.
http://emedicine.medscape.com/article/771194-overview
CDC.gov
Harrison's Principle of Internal Medicine 19th
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น