02 มิถุนายน 2559

การดูแลผู้ให้อาหารทางสายยาง

การดูแลรักษาผู้ป่วยที่ใส่สายยางให้อาหาร

การดูแลรักษาผู้ป่วยที่ใส่สายยางให้อาหาร ไม่ว่าจะเป็นการดูแลในโรงพยาบาลหรือเป็นการดูแลต่อเนื่องที่บ้าน เป็นส่วนสำคัญอันหนึ่งเลยครับเพราะโอกาสสำลัก โอกาสติดเชื้อขึ้นอยู่กับเทคนิคการปฏิบัตินี่แหละครับ โพสต์นี้ตั้งใจเอาใจคุณพยาบาลคนสวยเลยครับ และผู้ที่ต้องพยาบาลผู้ป่วยที่บ้านก็นับถือเป็นคุณพยาบาลอันทรงเกียรติเช่นกันครับ

สายยางให้อาหาร ต้องทราบสองเรื่องคือ ทางเข้าอาหารและทางออกอาหาร ถ้าระยะสั้นเรามักจะใส่ทางปากหรือจมูกครับ ส่วนการใช้ในระยะยาวส่วนมากก็จะผ่าตัดหรือส่องกล้องใส่สายทางหน้าท้อง จะเห็นว่าระยะเวลาในการใช้สายก็จะเป็นปัจจัยกำหนด ต้นทางของสาย และสายยางมันมีทางเข้าก็ต้องมีทางออกครับ ทางเปิดสายก็จะเป็นส่วนใดส่วนหนึ่งของทางเดินอาหาร ได้แก่เปิดที่กระเพาะหรือทีลำไส้ (ทั้ง jejunum และ duodenum) ดังนั้นสิ่งที่จะต้องระลึกไว้เสมอคือ สายที่เห็นใส่มานานหรือยัง และเปิดที่ใดครับ

ในกรณีที่สายเปิดที่กระเพาะ เราจะสามารถให้อาหารแบบค่อยๆหยดใน 24 ชั่วโมงก็ได้ หรือแบ่งเป็นมื้อย่อยๆค่อยๆให้ครั้งละ 20-60 นาทีก็ได้ หรือให้เป็นขันๆ 300-350ซีซีในทีเดียวได้ เพราะกระเพาะเป็นถุงเก็บอาหารได้ แต่ก็จะมีโอกาสสำลักขึ้นหลอดอาหารหลอดลมได้ครับ การให้อาหารที่ดีจึงเป็นการค่อยๆให้นะครับ
ในกรณีที่สายเปิดในลำไส้ อันนี้ห้ามให้อาหารครั้งละมากๆเป็นขันนะครับ เพราะลำไส้ขยายได้น้อยมาก ไม่เหมือนนกระเพาะครับ จึงต้องใช้การหยดหรือการให้ครั้งละน้อยๆแต่บ่อยๆ แทน หรือถ้าจะให้แบบครั้งละน้อยๆหลายครั้งต้องให้แต่ละมื้อใน 3 ชั่วโมงนะครับ

การให้อาหารตลอด 24 ชั่วโมงควรมีเครื่องให้อาหารพิเศษนะครับ ถ้าผมจำไม่ผิดจะเป็นเครื่องยี่ห้อ แกงการู จะมีการขยับ เขย่า ผสม และสลับป้อนน้ำเป็นอัตโนมัติ ซึ่งต้องควบคุมการติดเชื้อช่วงการผลิตอาหารและการต่อสายให้อาหารดีๆนะครับ ยิ่งปล่อยถุงอาหารไว้นานก็เพิ่มโอกาสการติดเชื้อมากขึ้น เพราะประเทศเราร้อนครับเป็นตัวกระตุ้นเชื้อโรคอย่างดี แนวทางต่างประเทศเขาอ้างอิงอุณหภูมิห้องที่ 25 องศาเซลเซียสเองครับ บ้านเราอย่างต่ำก็ 35
ส่วนอาหารผสมที่ไม่ได้ให้หยดตลอด 24 ชั่วโมงนั้นโดยทั่วไปถ้าให้เกินหนึ่งชั่วโมงก็ต้องเริ่มระวังการโตของเชื้อโรคครับ เริ่มมีการโตของเชื้อโรคไม่ได้หมายถึงต้องติดเชื้อนะครับ แค่เพียงเพิ่มโอกาสเท่านั้น
การดูดอาหารคงค้าง (gastric residual volume) ใช้สำหรับสายที่เปิดที่กระเพาะเท่านั้นนะครับถ้าสายเปิดที่ลำไส้ไม่ต้องดูดครับ การดูดอาหารคงค้างมีเพื่อเอาไว้ประเมินภาวะการทำงานลำไส้ ชนิดอาหาร ตำแหน่งสาย แต่ไม่ได้มีข้อกำหนดนะครับว่า ถ้าดูดอาหารคงค้างเท่านี้แล้วจะไม่ให้อาหารต่อไป การศึกษาที่ทำพบว่าอาหารคงค้างไม่สัมพันธ์กับการเกิดการสำลัก แต่จะทำให้คนไข้ได้รับอาหารน้อยลงเพราะเรากังวลเรื่องปริมาณอาหารคงค้างมากเกินไป ย้ำว่าเป็นการประเมินการให้อาหารนะครับ ไม่ได้กำหนดว่ามื้อต่อไปจะให้อาหารได้หรือไม่ บอกว่าถ้ามีอาหารคงค้างมากต้องหาสาเหตุและแก้ไขเท่านั้น
ทุกครั้งก่อนให้อาหารต้องตรวจสอบตำแหน่งสายโดยการฟังใช้หูฟัง ตรวจสอบตำแหน่งสายที่ติดอยู่ที่จมูกหรือหน้าท้อง ควรใส่น้ำดูก่อนด้วยนะครับ จัดท่าให้ผู้ป่วยศีรษะสูง 30-45 องศา กันการสำลักครับ ผู้ที่จะให้ก็ต้องล้างมือให้สะอาด อุปกรณ์การให้ก็ต้องสะอาดทุกครั้งครับ

การใช้ยา

1. ถ้าเป็นไปได้ให้ใช้ยาน้ำจะดีกว่าครับ ...ตรงนี้ต้องระวังถ้าเป็นยาที่มีน้ำเชื่อม น้ำตาลอาจสูงได้และอาจท้องเสียได้ (จาก sorbitol) ...ส่วนถ้าเป็นยาเม็ดหรือแคปซูล ต้องปรึกษาเภสัชกรก่อนเสมอครับว่าสามารถบดได้หรือไม่ แกะเม็ดแคปซูลได้หรือไม่ จะทำให้การออกฤทธิ์หมดไปหรือเปล่า

2. ควรป้อนยาแยกจากอาหารครับ ยาแต่ละตัวทั้งก่อนและหลังป้อนต้องให้น้ำประมาณ 5-10ซีซี ไม่ควรผสมยารวมกัน คราวนี้ยาแต่ละตัวอาจป้อนได้หรือไม่ได้นั้น มีความหลากหลายต่างกันมาก ผู้ดูแลต้องทำงานเป็นทีม ทั้งแพทย์ พยาบาลและเภสัชกร ถึงคุณลักษณะของยาทุกชนิดที่จะป้อน เช่น
ยาต้านเชื้อรา ketoconazole ต้องการกรดเพื่อละลายยา ถ้าสายของเราไปเปิดที่ลำไส้ซึ่งสภาวะแวดล้อมไม่ใช่กรดก็จะดูดซึมลดลง

3. ห้ามให้น้ำแร่กับผู้ป่วยในการป้อนยา เนื่องจากยาบางอย่างอาจเกิดปฏิกิริยากับแร่ธาตุในน้ำแร่ได้ ทำให้ตกตะกอน ยาดังนี้นะครับ
***norfloxacin, ciproflixacin, tetracycline, doxycycline, ferrous sulphate, phenytoin**

4. ยาเคลือบฟิล์ม ยาที่ออกฤทธิ์ยาวนานพิเศษ การหักหรือบดเม็ดยาอาจทำให้คุณสมบัติพิเศษเหล่านั้นหมดไป ต้องปรึกษาเภสัชกรในการปรับยาครับ

อาหารที่ใช้ หากมีการเปลี่ยนสูตรต้องทดสอบความหนืดเสมอ ไหลสะดวกหรือคงค้างมากหรือไม่ การผสมอาหารไม่ควรเกิดตะกอนมากเพราะอาจติดค้างสายได้ ห้ามใส่ไข่ขาวลงไปเด็ดขาดนะครับ ติดหนึบถึงขนาดเปลี่ยนท่อสายยางเลย
อย่าลืมดูแลจุดที่สายยึดติดกับลำตัวนะครับ อาจมีแผลกดทับหรือผิวหนังอักเสบได้ ถ้าการทำแผลไม่ถูกหรือไม่สะอาดพอ ทั้งแผลที่จมูก แผลเปิดทางหน้าท้องเพื่อให้อาหาร การทำความสะอาดใช้แค่น้ำเกลือปลอดเชื้อก็เพียงพอนะครับ

การดูแลเรื่องอาหารมีความสำคัญมาก เพราะอาหารคือชีวิต เปรียบเท่ายาดีๆตัวหนึ่งเลยทีเดียว
ที่มา : หนังสือพยาบาลโภชนบำบัด สมาคมผู้ให้อาหารทางหลอดเลือดดำและทางเดินอาหาร
ESPEN enteral nutrition guidelines

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม