11 มิถุนายน 2559

การหาความรู้การแพทย์

การศึกษาหาความรู้ทางการแพทย์ยุคใหม่

การศึกษาหาความรู้ทางการแพทย์ยุคใหม่ บทความนี้เป็นความคิดความเห็นส่วนตัวของผมจริงๆนะครับ ท่านใดคิดต่างเห็นแย้ง ผมขอรับฟังจะได้จุดประเด็นความคิดของเราต่อเนื่อง แต่ต้องยอมรับก่อนว่าผมจบเทรนนิ่งมาหลายปีแล้ว ไม่ได้เข้าไปมีบทบาทการสอนมากมายนัก แต่จะบอกในมุมมองของแพทย์ที่อยู่วงนอก เป็น คนใช้ความรู้เอามาใช้กับคนไข้โดยตรง คนโดนร้องเรียน โดนฟ้อง และต้องทำตามนโยบายหลักๆต่อไป
สมัยก่อน เราใช้วิธีการเรียนจากอาจารย์ พี่สอนน้อง และศึกษาจากตำรามาตรฐานทางการแพทย์ที่ถือว่าเป็นตำราคลาสสิกต่างๆ ถ่ายทอดกันมารุ่นต่อรุ่น โรงเรียนแพทย์มีไม่กี่ที่และหล่อหลอมออกมาเป็นทิศทางเดียวกัน ดังนั้นแนวทางหลักๆที่เป็นศาสตร์ทางการแพทย์มักจะไม่ต่างกันมากนัก แต่จะต่างกันที่ศิลปะแห่งการรักษาเท่านั้น สมัยที่ผมเป็นนักเรียนแพทย์อยู่ที่ศิริราช ท่านอาจารย์จินตนา ศิรินาวิน บอกว่าการเป็นแพทย์นั้นยากมากเพราะต้องคิดตัดสินใจด้วยความรู้ ในขณะที่เรามีข้อมูลและเวลาจำกัดมากๆ ข้อมูลเป็นศาสตร์แต่การตัดสินใจเป็นศิลปะมากๆ

เวลาผ่านไป การศึกษาหาความรู้ทางการแพทย์เปลี่ยนไป โรงเรียนแพทย์ที่มีมากขึ้น การเรียนการสอนหลากหลาย ตำรามากมาย เทคโนโลยีสารสนเทศที่ไปไกลมาก เอาเป็นว่าสมัยก่อนตอนเป็นนักเรียนแพทย์ผ่านกองอายุรศาสตร์การได้เห็นวารสาร New England Journal of Medicine ในมือแพทย์ประจำบ้านท่านใด เราจะซูฮกท่านนั้นมากๆว่าสุดยอด มันหายากอ่านยาก แต่ตอนนี้ เราเข้าถึง NEJM ได้ทุกคน ทุกฉบับ ผ่านหน้าเว็บไซต์ทางมือถือ !!!
ข่าวสารทางการแพทย์ออกมารวดเร็วมาก เราทราบข่าวพร้อมๆกับอเมริกา ยุโรป เรียนพร้อมๆเขา โลกเคลื่อนไปพร้อมๆกัน และบางครั้งผู้ที่หุ้นบริษัทต่างๆทราบก่อนเราจาก wallstreet journal, TIME magazine

เรื่องราวทางการแพทย์ได้ถูกย่อยออกมาให้เป็นทางเลือกในการศึกษาผ่านเว็บบล็อก หรือปัจจุบันก็ทางเว็บเพจ ทวิตเตอร์ ผมเองเป็นสมาชิกของสมาคมและวารสารต่างๆมากมายทั้งที่ฟรีและจ่ายสตางค์ วันๆหนึ่งมีอีเมล์เตือน ทวีตเตอร์ เกือบๆ ห้าสิบเรื่องนี่แค่อายุรศาสตร์นะครับ ไม่นับสาขาศัลยกรรม สูตินรีเวช กุมาร หรือศาสตร์ทางปรีคลินิกต่างๆ แค่อ่านแค่ผ่านตาไม่ตกข่าววันๆก็ต้องตามเกือบห้าสิบเป็นวารสารฉบับเต็มวันละ ห้าหกฉบับที่ต้องอ่านแบบเคี้ยวละเอียดๆ ไม่ใช้แค่ดมดอมแล้วทิ้งไป
ดังนั้นในยุคที่ทุกคนเข้าถึงข้อมูลได้ เราควรอ่านให้เป็น ศึกษาให้ถูกต้อง สำหรับคนนอกวงการ ผมจะได้กล่าวถึงว่าแหล่งที่มาของแต่ละความรู้เป็นอย่างไร และสำหรับคนในวงการ คุณต้องรู้ทันครับ

1. ตำรามาตรฐาน ยุคนี้มีตำราออกมามากมายครับ ทั้งภาษาไทยและต่างประเทศ ทุกตำราจะทำคล้ายๆกันคือรวบรวมผู้เชี่ยวชาญมาเขียนและสรุปรวบรวมเนื้อหาในแต่ละเรื่อง แล้วเอามาถกโต๊ะกลมอีกครั้ง ยิ่งถ้าเป็นตำราคลาสสิกเช่น Harrison, Cecil, Oxford เขามีมาตรฐานสูงครับ ข้อมูลที่เอามาก็จากตำราฉบับก่อน ปรับปรุงด้วยข้อมูลที่ทันสมัย กรองกลั่นเรียบร้อย อ่านแล้วเอาไปใช้ได้ทันที ได้เลย แต่ก็จะต้องทำใจว่าข้อมูลจะช้ากว่าปัจจุบันสัก 4-5 ปีครับ นักเรียนแพทย์ต้องอ่านครับ

2. แนวทางเวชปฏิบัติ clinical guidelines อันนี้ทางสมาคมแพทย์เฉพาะทางของแต่ละสาขา จะรวบรวมข้อมูลการศึกษาทางการแพทย์เรื่องใดเรื่องหนึ่ง เอามารวบรวมอย่างเป็นระบบ ว่าคำแนะนำในการปฏิบัติแบบนั้นแบบนี้ มาจากหลักฐานการศึกษาแบบใด น่าเชื่อถือแค่ไหน ด้วยความมั่นใจระดับใด ควรหรือไม่ควรปฏิบัติ จะรวบรวมผู้เชี่ยวชาญ ผู้ทำการทดลอง มาถกปัญหาร่วมกัน เป็นข้อสรุปให้แพทย์ทั่วไปได้ใช้ จะค่อนข้างร่วมสมัย แพทย์บางท่านที่ไม่มีเวลาติดตามอาจไม่ทันการประกาศใช้ เพราะเขาประกาศและเปลี่ยนแปลงกันบ่อยมากตามหลักฐานการศึกษาใหม่ที่ออกมา แต่ว่าแนวทางพวกนี้ก็จะมีแค่เรื่องที่ทำการศึกษาและมีข้อมูลออกมามากๆเท่านั้นครับ โรคหรือยาที่ไม่ค่อยพบหรือไม่มีคนสนใจ ไม่มีทุนการวิจัย ข้อมูลก็จะน้อย แพทย์ทุกคนต้องฝึกอ่านนะครับ

3. นิพนธ์ต้นฉบับ original article อันนี้คืองานวิจัยที่ผู้ศึกษาทำออกมา เป็นข้อมูลจริงๆ ไม่ได้ผ่านการวิเคราะห์ตามความเห็นของผู้เชี่ยวชาญท่านใดๆ ข้อมูลแบบนี้ออกมาทุกวันวันละเป็นร้อยๆ ตามวารสารต่างๆ ทั้งที่ชื่อดังระดับโลกและวารสารท้องถิ่น ไม่ได้หมายความว่าวารสารระดับโลกจะดีและต้องเชื่อเสมอนะครับ การจะอ่านข้อมูลตรงนี้ได้ต้องมีความรู้เรื่องสถิติการแพทย์ ระบาดวิทยา พอสมควร เพราะว่านี่คือการทดลองที่มีหลักว่า "ผลการทดลอง = ความจริง + ข้อผิดพลาด" เราจะเก่งพอจะหาข้อพลาดได้ไหม และจะสรุปได้ไหมว่าผลการทดลองนี้คือความจริง และใช้ได้ในชีวิตจริง ไม่ใช่แค่การทดลอง อันนี้ต้องฝึกฝนการอ่านต่อเนื่องนะครับ ระดับต้องแต่แพทย์เฉพาะทางขึ้นไปต้องอ่านและเลือกใช้ได้นะครับ

4. เว็บไซต์ เฟสบุ๊ค ทวิตเตอร์ อันนี้ผมถือว่าสุ่มเสี่ยงที่สุด เพราะข้อเขียนต่างๆมักจะมีความโน้มเอียงตามความเชื่อและความศรัทธาของผู้เขียน ยกเว้น official website หรือ official page ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อบอกความจริง ไม่ได้วิจารณ์ใดๆ แต่จะอ่านยากฟังยากนะครับ ข้อมูลออนไลน์มาจากมุมมองของคนไม่กี่คน อาจผิดพลาดหรือเอาไปประยุกต์ใช้ได้ไม่ทุกกรณี อย่างเพจที่ผมทำ ไม่ได้หมายความว่าจะต้องถูกต้อง 100% นะครับ เป็นแค่ทางเลือกในการอ่านตัวหนึ่งเท่านั้น แต่เพจหรือเว็บที่มีชื่อเขามักจะมีมาตรฐานตัวเองและพอเป็นแนวทาง ย้ำ เป็นแนวทางเท่านั้นนะครับ เช่น medscape, emedicine, UpToDate อันนี้ทุกคนเข้าถึงได้แต่ต้องใช้วิจารณญาณในการรับฟังครับ เอ่อออ..ผมยกเว้น 1412 cardiology เอาไว้เพจนึง เพราะอาจารย์เขาใจน้อยครับ..อิอิ

5. งานประชุม conference ปกติงานประชุมหลักๆมักจะรวบรวมข้อมูลจากข้อ 1-4 มาสรุปให้ฟัง โดยอาจารย์ที่เชี่ยวชาญและมีมาตรฐาน มักจะเป็นข้อมูลที่ไปใช้ได้ครับ และเอาไปเป็นแนวทางการอ่านเพิ่ม ศึกษาวิจัยเพิ่มได้ เช่นงานประชุมราชวิทยาลัย งานประชุมสมาคม งาน international scientific conference ต่างๆ แต่ก็ต้องระวังในกลุ่ม symposium ที่มี pharmaceutical sponsorship นะครับ ไม่ใช่ว่าข้อมูลจะไม่ถูกนะ แต่ว่าเราอาจจะเห็นแค่ด้านเดียวเท่านั้น ต้องฟังหูไว้หูนะครับ ปัจจุบันงานประชุมมากมายหลากหลาย ผมเองก็เดินสายเช่นกัน บอกตามตรงว่าแต่ละงานมันก็จะมีความโน้มเอียงเล็กน้อย เล็กน้อยเท่านั้น ตามธีมของการประชุมแต่ละครั้งครับ สำหรับแพทย์ที่เวลาน้อยๆ ผมแนะนำงานประชุมแบบนี้ครับ ไปทีเดียวได้เจอเพื่อน ได้อัพเดตความรู้ ได้พักผ่อน สำหรับหมอสาวๆ ก็จะเจอหมอหนุ่มๆก็งานนี้นะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม