10 กุมภาพันธ์ 2559

การติดเชื้อที่ลิ้นหัวใจ infective endocarditis

แค่ "ถอน" ฟันก็ "สั่น" ไปถึงหัวใจ

ครับเป็นอย่างนั้นจริงๆ เรื่องบางเรื่องก็มีเส้นใยบางๆเชื่อมโยงกันอยู่ เป็นหน้าที่ของอายุรแพทย์อย่างผมที่ต้องโยงเส้นบางๆนั้นไว้ ถ้าไม่ทำมันก็จะสะเทือนถึงใจคนไข้ได้ ผมจะกล่าวถึงการติดเชื้อที่ลิ้นหัวใจครับ
ลิ้นหัวใจเป็นทางผ่านของเลือดในอัตรา 4-5 ลิตรต่อนาทีครับเมื่อใดมีการติดเชื้อในกระแสเลือดก็อาจไปเกาะหนึบที่ลิ้นหัวใจจนเกิดเป็นแผลจากการติดเชื้อดังรูปได้ ร่างกายเราก็แสนมหัศจรรย์ครับป้องกันได้ดีทีเดียว ถ้าไม่เหลือบ่ากว่าแรงโอกาสติดเชื้อจะน้อยมาก ท่านลองคิดดูครับทุกครั้งที่เราแปรงฟัน แคะฟัน ใช้ไหมขัดฟัน แค่นี้ก็มีเชื้อแบคทีเรียฟุ้งกระจายเข้าไปในเลือดแล้ว ท่านที่ไปสักยันต์ สักสี เจาะลิ้น เจาะสะดือ เชื้อโรคก็ฟุ้งเข้ากระแสเลือดแล้ว ต้องมีความพอเหมาะพอดีจริงๆจึงติดเชื้อได้

ในอดีตเมื่อ เกือบ20ปีก่อน ทางการแพทย์เราระวังทุกอย่างที่เชื้อโรคจะฟุ้งกระจายเข้าเลือดแล้วไปเกาะกับหัวใจ ไม่ว่าจะใส่สายสวน ส่องกล้อง กลัวหมดทุกอย่าง แต่พอได้ทำการศึกษามากขึ้นพบว่า ไอ้การแปรงฟันทุกวันเนี่ย มันฟุ้งกระจายมากกว่าและบ่อยกว่า ไปทำฟัน ไปใส่สายต่างๆเสียอีก ยังไม่ติดเลย จึงได้กำหนดเกณฑ์ใหม่เพื่อไม่ให้ตกใจกลัวมากเกินไป ไม่ให้เสียสตางค์ป้องกันเกินควร ไม่ให้ใช้ยาฆ่าเชื้อพร่ำเพรื่อจนเกิดการดื้อยา โดยประกาศแนวทางของแพทย์โรคหัวใจยุโรป ในงาน ESCcongress 2015
หัวใจที่เสี่ยงจะติดเชื้อคือ ลิ้นหัวใจเทียมหรือมีวัสดุซ่อมแซมที่เป็นของเทียม เคยเป็นติดเชื้อที่ลิ้นหัวใจมาก่อน (มีแผลเป็น) โรคหัวใจผิดปกติแต่กำเนิดที่ยังไม่ได้ซ่อมหรือซ่อมแค่บางส่วน


และการกระทำที่จะทำให้เชื้อฟุ้งเข้ากระแสเลือดอันเดียวที่เสี่ยงคือ การทำฟัน การรักษาเหงือก หรือ มีบาดแผลที่เยื่อบุข้างแก้ม

จะต้องเสี่ยงทั้ง "ใจ" และ "การกระทำ" พร้อมๆกันนะครับจึงจะต้องป้องกัน โดยกินยาamoxicillin หรือฉีดยา amplicillin ขนาด 2 กรัมก่อนทำฟันสัก 30 นาทีครับและถ้าแพ้ยาเพนนิซิลินให้ใช้ยา clindamycin 600 มิลลิกรัมแทนครับ
เป็นหน้าที่ของคนไข้ต้องทราบว่าเราเสี่ยง เป็นหน้าที่ของหมอที่ต้องทราบว่าต้องให้ยาเมื่อจะต้องทำฟัน ถ้าต่างคนต่างรู้หน้าที่ โอกาสเกิดติดเชื้อจากลิ้นหัวใจจะลดลงครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม