14 มกราคม 2559

10 ข้อควรรู้เกี่ยวกับปอดอักเสบในชุมชน (community-acquired pneumonia)

10 ข้อควรรู้เกี่ยวกับปอดอักเสบในชุมชน (community-acquired pneumonia)

1. ที่เรียกว่าปอดอักเสบในชุมชนเพราะว่า จัดกลุ่มตามกลุ่มเชื้อโรคที่พบนอกโรงพยาบาลที่ความรุนแรงไม่มาก อัตราการดื้อยาไม่สูง และเป็นผู้ป่วยที่ภูมิคุ้มกันยังดีอยู่ การตอบสนองต่อการรักษาจะดี

2. วินิจฉัยโดยใช้อาการและอาการแสดง ร่วมกับภาพถ่ายรังสีทรวงอก ไม่ได้ใช้ผลเลือดหรือผลเสมหะนะครับ แต่ที่ต้องเก็บเสมหะไปตรวจเพื่อเพาะเชื้อ เอาไปย้อมดูเชื้อ เพื่อเอามาปรับยาให้เหมาะสม

3. อาการและอาการแสดงที่ว่านั่นคือ ไข้ ไอ อาจจะมีหรือไม่มีเสมหะก็ได้ เหนื่อยขึ้น เราจะดูว่าเหนื่อยขึ้นง่ายๆ คือคุณทำกิจวัตรประจำวันตามปรกติแล้วต้องพัก อาจจะไม่หอบถ้าอาการไม่มาก มีอาการเจ็บอกเวลาหายใจลึกๆหรือไอ (pleuritic chest pain) โดยที่อาการทั้งหมดเป็นมาไม่เกิน 2 สัปดาห์

4. โลกยุคนี้ อาจต้องดูประวัติการเดินทาง หรือสัมผัสโรคด้วย เช่น สัมผัสไก่ตาย นกตาย สำหรับไข้หวัดนก เดินทางมาจากแถบตะวันออกกลางเช่น MERS-CoV ที่อาจบอกโรค บอกว่าต้องกักกัน

5.เราเริ่มการรักษาด้วยยาฆ่าเชื้อเลยโดยคิดถึงกลุ่มเชื้อที่เป็นไปได้จากสถิติในท้องถิ่นนั้นๆ เรียกว่า empirical antibiotics เมื่อได้ผลอื่นๆมาระบุตัวเชื้อที่ชัดเจนค่อยปรับยาตามเชื้อนั้น

6. ควรรอให้ยาได้ทำงานก่อน ตามแนวทางการรักษาปอดอักเสบประเทศไทยโดยสมาคมอุรเวชช์ ไม่แนะนำให้ปรับหรือเปลี่ยนยาฆ่าเชื้อใน 72 ชั่วโมงแรก ยกเว้นมีหลักฐานว่าเชื้อไม่ตอบสนองต่อยาอย่างแน่นอน เวลาไม่หายทันใจผู้ป่วยมักไปพบหมอคนใหม่ ก็จะได้รับการปรับยา ขอให้รอก่อนครับถ้ามั่นใจในการให้ยา รอสัก3วันก่อน ถ้าไม่ดีจึงปรับยา

7. ยาที่ใช้นั้นถ้าไม่รุนแรงมาก ไม่ต้องนอนรพ. ก็ใช้ยากินได้ หรือในกรณีนอนรพ. เมื่ออาการดีก็ปรับเป็นยากินได้เช่นกัน ใช้เวลาในการให้ยา 7-10 วัน ยกเว้นพวกอาการหนักหรือเชื้อรุนแรงอาจต้องให้ยา 2-3 สัปดาห์

8. ยาที่ใช้เป็นกลุ่มยา macrolide เช่น roxithromycin clarithromycin azithromycin ที่มีทั้งรูปกินและฉีด ก่อนใช้อาจต้องดูว่ามีปฏิกิริยากับยาที่เราใช้อยู่หรือไม่ ยากลุ่มนี้เกิดปฏิกิริยาบ่อยๆ หรือใช้ยากลุ่ม fluoroquinolones (คือครอบคลุม atypical pathogenด้วย) เช่น levofloxacin moxifloxacin sitafloxacin

9. ถ้าอาการรุนแรงหรือที่พื้นที่มีการดื้อยา macrolideสูงเกิน 25% ควรใช้ยาสองชนิดคือ ยากลุ่ม third generation cephalosporin แบบฉีด เช่น ceftriaxone, cefotaxime หรือ BLBI แบบฉีดเช่น amoxicillin/clavuronate, amplicillin/sulbactam ร่วมกับ ยาในข้อแปดครับ เมื่ออาการดีขึ้นค่อยเปลี่ยนเป็นยากิน

10. ไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในรพ. ทุกรายครับ ถ้าไม่ใช่เสี่ยงสูง การเข้ารับการรักษาโดยไม่จำเป็นอาจทำให้กลายเป็นการติดเชื้อปอดอักเสบใน รพ. ซึ่งรุนแรงกว่า เชื้อดื้อยากว่า และอัตราการตายสูงกว่ามากครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม