28 มกราคม 2559

whitecoat hypertension

ปัญหาที่พบบ่อยมากๆ เวลาได้รับปรึกษาเรื่องความดันโลหิตสูง คือเรื่องนี้ครับ สูงปลอม

เรื่องมันมีอยู่ว่ามักจะมีผู้ป่วยอยู่กลุ่มหนึ่ง มารพ.ด้วยเหตุผลกลใดก็แล้วแต่พอวัดความดันแล้วสูง เช่นมาทำใบรับรองแพทย์ทำใบขับขี่แล้วพบความดันโลหิตสูง หรือว่ามารักษาโรคความดันนี่แหละครับแต่พอวัดความดันที่บ้านไม่สูง มาวัดความดันที่โรงพยาบาลแล้วสูง

เราเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า whitecoat effect และ whitecoat hypertension คือความดันสูงนี่เกิดจากการมารพ.ต้องตื่นเช้า รถติด วนหาที่จอด เดินไกล คิวนาน พยาบาลดุ หมอด่า ยาแพง ประเด็นต่างๆมันกระตุ้นทำให้ระบบประสาทอัตโนมัติมันทำงานมาก ชีพจรเลยเร็วความดันสูง แต่พอไปวัดความดันที่บ้าน หรือที่ออกบูทตามห้าง กลับไม่สูงบางคนค่อนต่ำเลย เพราะไม่มีภาวะตึงเครียด เจ็บปวดนั่นเอง

ปัญหามันจะเกิดถ้าเราไปยึดว่าความดันโลหิตที่วัดได้ตอนนั้นคือของจริงแล้ว ได้รับยาลดความดันมากิน หรือคนที่เป็นโรคความดันที่มาติดตามนัด ก็จะได้รับการสั่งยาเพิ่มหรือปรับขนาดเพิ่ม คราวนี้ก็จะกลับไปวูบที่บ้านครับ ร้ายแรงกว่านั่นคือวูบตอนทำงานหรือขับรถ ร้ายกว่านั่นอีกคืออาจเกิดโรคหัวใจหรือโรคสมองขาดเลือดได้ เพียงเพราะเราใช้ค่าความดันที่ "ไม่ถูกเวลา" ครับ

ค่าความดันที่เชื่อได้จริงๆตามแนวทางเวชปฏิบัติทั่วโลกก็ใช้ home bloodpressure monitoring หรือ ambulatory BP monitoring ที่ใกล้เคียงกับของจริง จดบันทึกเอาไว้มาปรับการรักษาหรือวินิจฉัยโรคความดันโลหิตสูงจะแม่นกว่า และติดตามการรักษาการเปลี่ยนแปลงได้บ่อยๆ ท่านมารักษาโรคความดันโลหิตสูงกับหมอที่นัดทุก 2 เดือน ปีๆหนึ่ง 365 วัน ท่านตรวจวัดความดันแค่ 6 ครั้งต่อปีเท่านั้นเองนะครับ ผมว่าน้อยไป และบางทีถ้าได้ค่าที่ถูกต้องท่านก็ไม่จำเป็นต้องได้รับยามากๆ หรือขนาดสูงๆ ที่จะเสี่ยงต่อผลข้างเคียงของยาครับ

อีกอย่างตอนนี้เครื่องวัดความดันดิจิตอลที่แม่นยำมีวางขายทั่วๆไป อันละไม่เกิน 3000 บาท คิดว่าวัดปีละ 100 ครั้ง ก็แค่ครั้งละ 30 บาท ไปโรงพยาบาลเอกชนบางที่ แค่ตรวจวัดความดันก็ 200-300 แล้วนะครับ
พบบ่อยมากๆเลยนะครับ และถูกละเลยมากๆด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม