07 มกราคม 2559

เจ็บข้อมือ จากเส้นประสาทถูกรัดบริเวณข้อมือ

เจ็บข้อมือ จากเส้นประสาทถูกรัดบริเวณข้อมือ

วันนี้ผมจะมาเล่าเรื่องที่พบบ่อยมากๆในชีวิตการเป็นหมอครับ และพบบ่อยมากๆกับคนวัยเลยครึ่งชีวิตไปแล้ว เช่นตัวแอดมินเองเป็นต้นคือภาวะการอักเสบจากเอ็นรัดข้อมือ carpal tunnel syndrome โรคนี้แปลง่ายๆก่อนว่า มีอุโมงค์อะไรสักอย่างที่ข้อมือแล้วมันปิดปกติตรงนั้นแหละทำให้มีอาการต่างๆที่มารบกวนเรา

   คนไข้โรคนี้จะมีอาการได้หลายแบบขึ้นกับว่าการกดเบียดไปกดเบียดที่ใด เรามาดูตำแหน่งก่อนนะครับ โรคนี้เกิดจากแรงดันที่เพิ่มขึ้นบริเวณเอ็นรัดข้อมือ เรามีเส้นเอ็นที่ใช้ในการควบคุมการทำงานของมือ เส้นเลือดแดงและดำ เส้นประสาทที่ควบสั่งการและรับสัมผัสบริเวณฝ่ามือ ทอดตัวจากแขนมาที่มือโดยมารวมกันที่ข้อมือแล้วมีเอ็นรัดเอาไว้ (flexor retinaculum) เกิดเป็นอุโมงค์ครับ ถ้าแรงดันในอุโมงค์สูงไปกดเบียดก็เป็นปัญหา
   ตำแหน่งของเอ็นอยู่ที่ข้อมือครับ ท่านลองแบบมือจะเห็นเส้นขวางสองเส้นบริเวณรอยต่อแขนกับมือ เอ็นยึดจะอยู่ที่เส้นขวางทางปลายนิ้วครับ และลากสายตาจากนิ้วกลางลงมาตัดกับเส้นนี้ก็จะได้ตำแหน่งบริเวณนั้น ลองทำมือเป็นปอบหยิบใส่ใบหน้าท่านเองแล้วเกร็งนิ้วนะครับท่านจะเห็นเส้นเอ็นเส้นหนึ่งนูนขึ้นมาตรงข้อมือ (palmaris longus tendon) เส้นนี้จะลอกผ่านเอ็นรัดข้อมือนี่แหละครับ เป็นจุดที่เราจะฉีดยารักษา จากข้อมูลปัจจุบันเราพบว่าตัวเส้นเอ็นรัดข้อมือไม่ค่อยผิดปกติมาก สาเหตุของโรคหลักๆอยู่ที่แรงดันที่เพิ่มขึ้น จากอะไรงั้นหรือตอนนี้ยังไม่พบครับ เพียงแต่พบว่าสัมพันธ์กับภาวะบางอย่างเช่น การใช้งานซ้ำๆ โรคไทรอยด์ การตั้งครรภ์ และโรครูมาตอยด์

   อาการที่พบก็มักจะมีอาการชาบริเวณนิ้วหัวแม่มือ นิ้วชี้และนิ้วกลาง ด้านฝ่ามือ อาจมีอาการปวดและร้าวมาที่นิ้วดังกล่าว มักจะเกิดอาการเวลาใช้งานนานๆ ในผู้ป่วยที่เป็นนานๆเส้นประสาทถูกกดนานๆ กล้ามเนื้อที่ได้รับการควบคุมจากเส้นประสาทที่ชื้อ เส้นประสาทมีเดียน (median nerve) จะเกิดการฝ่อลีบลงและใช้งานได้ไม่ดีเหมือนเดิม กล้ามเนื้อกลุ่มนั้นคือกล้ามเนื้อบริเวณเนินศุกร์และเนินอังคารต่ำตามวิชาลายมือ ใช้ควบคุมนิ้วโป้งที่รับผิดชอบการทำงานของมือกว่า 50% และพอเนินศุกร์ลีบลง เสน่ห์ทางเพศ สุขภาพจะลดลงด้วย บางตำราว่าสมรรถภาพทางเพศก็จะลดลงด้วยนะครับ การตรวจวินิจฉัยเราใช้การวัดความเร็วเส้นประสาทมีเดียน (nerve conduction velocity) แต่ในชีวิตจริงคงทำไม่ได้ทุกคน ทางคลินิกเราใช้การทดสอบโดยให้งอข้อมือมากๆ เอาหลังมือดันกำแพงเอาไว้สักพัก ถ้ามีอาการชาบริเวณที่ว่ามากขึ้นหรือบางคนปวดร้าวตามเส้นดังกล่าว ก็น่าจะเป็นโรคนี้ (Phallen’s test)

   ในเรื่องการรักษานั้น เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นข้อมูลแบบการรวบรวมข้อมูลการรักษามากกว่าการทดลองทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ ดังนั้นจึงยังไม่มีวิธีใดถูกหรือผิดนะครับเลือกเอาตามแต่ความเหมาะสม ในกรณีที่เป็นไม่มากและไม่บ่อยใช้การพักข้อมือหรือดามข้อมือก็จะทำให้อาการดีขึ้นได้ครับ ระยะเวลาของการพักหรือการดามข้อมือประมาณ 2-3 เดือนครับ การใช้ยากลุ่มแก้ปวดและลดการอักเสบใช้บรรเทาอาการได้แค่ชั่วคราว ถ้ามีอาการบ่อยหรือรุนแรงมากขึ้นจะใช้วิธีฉีดยาสเตียรอยด์ไปที่เอ็นรัดข้อมือได้ประสิทธิภาพการรักษามากกว่าและสูงกว่ายากินและใกล้เคียงกับการผ่าตัด ส่วนการผ่าตัดรักษานั้นปัจจุบันเราใช้การส่องกล้องเพื่อขยายเอ็นรัดข้อมือจะมีผลการรักษาได้นานครับ

   แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือต้องลดปัจจัยเสี่ยงโดยเฉพาะการใช้งานหนักๆหรือผิดท่าครับ ไม่อย่างนั้นรักษาแค่ไหนก็จะเกิดซ้ำครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม