เมื่อ 15 ปีก่อน ---ทำไมคนไข้รายนี้ต้องผ่าคลอด
ณ ปัจจุบัน นี้ --- ทำไมถึงไม่ผ่าคลอดล่ะ
เป็นที่สงสัยในใจมากครับ ในกลุ่มผู้ป่วยอายุรกรรมที่เป็นสุภาพสตรีเมื่อเวลาเธอเหล่านั้นตั้งครรภ์ มักจะเลือกการคลอดโดยการผ่าตัดทุกที ผมไม่ได้หมายถึงผ่าฉุกเฉินหรือว่า ลองคลอดเองก่อนนะครับ แต่เป็นการเจตนาผ่าคลอดตั้งแต่แรกเลย ก็เลยลองไปอ่านบทความนี้จาก สมาคมสูตินรีแพทย์ของอเมริกา เขาเขียนน่าสนใจครับ
สิ่งแรกที่จะมาดูก่อนคือผลกระทบของแม่ก่อนนะครับ เรามาดูผลดีของการคลอดปกติทางช่องคลอดก่อนที่มีข้อมูลยืนยันชัดๆคือ ลดเวลาการนอนรพ. ลดการติดเชื้อ ไม่ต้องเสี่ยงกับผลข้างเคียงของการผ่าตัดและการดมยาสลบ และเพิ่มโอกาสการได้รับนมแม่ตั้งแต่ต้นครับ ข้อเสียแทบไม่พบเลย ส่วนการคลอดแบบผ่าคลอดนั้นก็จะลดโอกาสตกเลือดหลังคลอด ลดอัตราการเกิดอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ในปีแรก (ส่วนอัตราการเกิดอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ในปีที่ 2 และปีที่ 5 ไม่แตกต่างกันกับคลอดเอง) ส่วนผลเสียของการผ่าคลอด...ผมตั้งใจเขียนให้ครบ ไม่ใช่สรุปนะครับ มีดังนี้ เพิ่มโอกาสการเกิดหัวใจหยุดเต้น เพิ่มโอกาสติดเชื้อหลังคลอด เพิ่มโอกาสการต้องตัดมดลูกหากเกิดเลือดออกมาก และยังไปเพิ่มความเสี่ยงเวลาที่ตั้งครรภ์ครั้งต่อไปด้วย คือ เพิ่มโอกาสการเกิดรกเกาะต่ำ โอกาสมดลูกแตก เพิ่มโอกาสเลือดออกในท้องหน้า นอกจากนี้ผลต่อแม่ในระยะยาวคือ พังผืดในช่องท้องและการทำงานของลำไส้กับกระเพาะปัสสาวะที่จะผิดปกติ ได้มากกว่ากลุ่มที่คลอดเอง
ส่วนสิ่งต่างๆเหล่านี้ ไม่ต่างกันนะครับ คือ อาการปวดหลังคลอด อาการซึมเศร้าหลังคลอด สมรรถภาพทางเพศ โอกาสการเกิดมดลูกและเชิงกรานหย่อน รวมทั้งอัตราการเสียชีวิตของแม่ก็ไม่ต่างกันครับ ดังนั้นก่อนที่จะตัดสินใจเลือกผ่าคลอดโดยไม่มีข้อบ่งชี้นั้น ควรต้องปรึกษากันดีๆในครอบครัวและแพทย์ผู้ให้การรักษา ว่าผลเสียมันเกิดอีกมาก คุณรับได้ไหม !!
สำหรับผลกระทบกับเด็กนั้น ข้อมูลตรงนี้ค่อนข้างน้อยเพราะในอดีตการผ่าตัดคลอดมักมีข้อบ่งชี้ชัดเจน ในกรณีที่ไม่มีข้อบ่งชี้จึงไม่มีข้อมูล ทางการศึกษานี้จึงใช้ข้อมูลสุขภาพเด็กที่เกิดจากกการคลอดเองและ คลอดโดยการผ่าตัดแบบมีข้อบ่งชี้ แต่ไม่ด่วน มาเปรียบเทียบกัน ผลเสียต่อเด็กของการผ่าตัดคลอดนั้นพบ อุณหภูมิต่ำ น้ำตาลต่ำ ปัญหาด้านระบบการหายใจเช่น ระบบหายใจล้มเหลว และ แรงดันเลือดแดงในปอดสูง (persistent pulmonary hypertension) และโดยเฉพาะอย่างยิ่งอัตราจะสูงขึ้นถ้าผ่าตัดก่อน 39 สัปดาห์...ย้ำโดยไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์นะครับ
ส่วนการคลอดเองทางช่องคลอดก็อาจเกิดผลต่อเด็กบ้างแต่ก็น้อยกว่ามากนะครับ อาทิ เพิ่มโอกาสการเกิดเลือดออกในสมองหรืออาการบาดเจ็บต่อเส้นประสาทที่คอ (brachial plexus injuries) ในกรณีช่วยคลอดทางช่องคลอดโดยใช้เครื่องมือ..ที่ไม่ชำนาญหรือผิดวิธี และถ้าเด็กไม่คลอดจนอายุครรภ์เกิน 42 สัปดาห์ก็อาจเพิ่มอันตรายกับเด็กได้
สำหรับอัตราตายของเด็กทารกและผลในระยะยาว ข้อมูลยังไม่มากครับ อนาคตคงเพิ่มขึ้นเพราะคนเรียกร้องผ่าตัดคลอดมากขึ้นนั่นเอง
สิ่งที่เขียนมาคือ โอกาส การเกิดเหตุการณ์นะครับไม่ได้หมายถึง "ต้องเกิด" แต่ท่านก็ต้องทราบก่อนตัดสินใจเลือกการผ่าตัดคลอด ทางสมาคมสูตินรีแพทย์เขาจึงให้คำแนะนำดังนี้
1. ถ้าไม่มีข้อบ่งชี้ของแม่หรือลูก ในการผ่าตัดคลอด...การคลอดเองทางช่องคลอดดีกว่า
2. ถ้าจะเลือกผ่าคลอด (requested cesarean delivery) ให้อายุครรภ์มากกว่า 39 สัปดาห์
3. ถ้าจะเลือกผ่าคลอด (requested cesarean delivery) ไม่ควรเกิดจากกการกลัวเจ็บ หรือกลัวว่าจะจัดการอาการเจ็บได้ ไม่ดีพอ
4. ถ้าต้องการจะมีลูกมากกว่า 1 คน ให้เลือกการคลอดเองทางช่องคลอดดีกว่า
ข้อมูลทั้งหมดมาจากการศึกษาแบบ systematic review ลงประกาศใน ACOG april, 2013 หวังว่าท่านและคนที่ท่านรักจะได้ข้อมูลครบถ้วน ครบด้าน เพื่อการตัดสินใจที่ดีครับ ถึงจะไม่ใช่สูตินรีแพทย์ แต่เราก็ดูแล "คน" โดยไม่ได้แยกเป็นส่วนๆครับ
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
บทความที่ได้รับความนิยม
-
Acute pancreatitis จากที่ตอนที่แล้ว เราได้กล่าวถึงตับอ่อนอักเสบในภาพรวม สำหรับโพสต์วันนี้ขอเล่าถึงในภาพลึกในเชิงปฏิบัติบ้างนะครับ ตามสัญญา...
-
เล่าเรื่องเชื้อดื้อยา มนุษย์เราได้มีการพัฒนายาฆ่าเชื้อแบคทีเรียมาตั้งแต่ยุคของอเล็กซานเดอร์ เฟลมมิ่ง จนถึงปัจจุบันก็ยังต้องพัฒนาต่อไป เพร...
-
เทคโนโลยียุคใหม่ช่วยเราได้มาก ปรกติแล้วการใช้เครื่องช่วยหายใจนั้น จะมีโหมดการทำงานมาตรฐานไม่กี่อัน และเจ้าไม่กี่อันนี้ถือว่าใช้ได้ดีทีเดียวค...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น