28 ธันวาคม 2558

ภาวะที่พบบ่อยและควรรู้...หลังจากเป็นอัมพาต

ภาวะที่พบบ่อยและควรรู้...หลังจากเป็นอัมพาต

สิ่งต่างๆเหล่านี้จะเกิดมากครับหลังจากที่เป็นอัมพาตและผ่านการรักษาที่โรงพยาบาลไปแล้ว เป็นสิ่งที่ญาติและผู้ดูแลจะต้องทราบและเตรียมรับมือ ไม่อย่างนั้นผู้ป่วยก็มักจะเสียชีวิตหรือเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคหรือภาวะต่างๆดังนี้ ผมสรุปมาจากหนังสือเรื่อง “การดูแลรักษาภาวะสมองขาดเลือดในระยะเฉียบพลัน” ของ อ.นิจศรี ชาญณรงค์

1.ข้อไหล่เคลื่อน ข้อไหล่เป็นข้อเสมือน คือ มีกล้ามเนื้อหลายๆมัดมาล้อมข้อไหล่ทำให้เหมือนเป็นข้อที่มีเส้นใยแข็ง แต่จริงๆแล้วเป็นกล้ามเนื้อหลายๆมัด เมื่อกล้ามเนื้ออ่อนแรงจากอัมพาต ไหล่ก็จะหลุด พบได้ 50-80% ดังนั้นจึงต้องออกกำลังไหล่อย่างน้อยวันละหนึ่งครั้ง เพื่อให้มีแรงตึงตัวและระยะหลังๆสัก 6 เดือนก็จะเข้าสู่ระยะเกร็ง ไหล่ก็จะไม่หลุดอีก ดังนั้นช่วงหกเดือนแรกคงต้องออกกำลังกายและใช้สายพยุงไหล่ครับ และจัดแขนให้ถูกต้องเวลานอน คือ มีหมอนรองใต้แขนครับ

2. การสำลัก เกิดจากการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อการกลืน และการขาดการประสานงานของการหายใจและการกลืน ทำให้เกิดการสำลักและการสำลักนี้เป็นสาเหตุการเสียชีวิตที่สำคัญในกรณีสูดสำลักลงปอด แล้วมีปอดติดเชื้อ การสำลักที่เราเห็นชัดเจนนั้นเป็นแค่ 1/3 เท่านั้น อีกที่เหลือเรามักจะไม่เห็นซึ่งเกิดขึ้นได้กับทุกจังหวะของการกินการกลืน
ควรรักษาความสะอาดช่องปากดีๆเพราะเชื้อโรคที่ปากและฟันนี่แหละครับที่จะทำให้ปอดติดเชื้อ จัดผู้ป่วยนั่งตรง โน้มตัวมาข้างหน้าเล็กน้อยก่อนจะกินอาหาร และถ้าผู้ป่วยเคี้ยวกลืนไม่ดี ให้ใช้อาหารประมาณโจ๊กข้นๆ หรืออาหารเหลวแบบเด็กทารกครับ ให้มีเนื้อบ้างจะได้กลืนได้ครับ ถ้าไม่ไหวจริงๆก็ต้องใส่สายให้อาหารครับ

3. การติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ พบ 30-40% ทั้งจากควบคุมกล้ามเนื้อไม่ได้ สื่อสารไม่ได้ว่าปวด การับรู้การปวดปัสสาวะผิดปกติ นอนหงายปัสสาวะทำให้ออกไม่หมดหรือผู้ป่วยบางท่านต้องคาสายสวน สิ่งต่างๆเหล่านี้ทำให้การติดเชื้อเพิ่มขึ้น ถ้าติดเชื้อบ่อยๆก็อาจเกิดเชื้อดื้อยาได้
แนะนำสวนปัสสาวะทิ้งเป็นครั้งๆไปครับ ไม่อยากให้คาสาย สวนทุก 4-6 ชั่วโมงและกระตุ้นการฝึกถ่ายปัสสาวะ การเบ่ง การกดหัวเหน่า เพื่อให้ปัสสาวะออกหมดไม่เหลือค้าง พอฝึกพอควรจนถ่ายปัสสาวะแล้วไม่เหลือค้างคราวนี้ก็หยุดสวนได้ครับ

4.แผลกดทับ พบได้ 14.5% ที่พบบ่อยๆคือกระเบนเหน็บ ส้นเท้า ด้านข้างสะโพก สาเหตุคือนอนท่าเดียวนานๆครับดังนั้นต้องมีการพลิกตัว ทำความสะอาดผิวหนังส่วนที่ถูกกดทับ อย่าให้อับชื้นหรือเปรอะเปื้อนอุจจาระและปัสสาวะ ขยับเบาๆอย่าให้เสียดสีจนเกิดแผล จะมีท่าทางการนอนที่ถูกต้อง ผมขอกล่าวคร่าวๆนะครับ รายละเอียดมากๆต้องถามนักกายภาพบำบัดของท่านครับ
4.1นอนหงาย หมอนเตี้ย นอนตัวตรง ใช้หมอนบางๆหนุนสะโพกและไหล่ของด้านที่เป็นอัมพาต เข่าตรง ส่วนที่ปลายเท้าควรมีปลายเตียงยันเท้าให้ตั้งฉาก ไม่ไห้เท้างุ้มลง ไม่งั้นจะข้อติดและเดินไม่ได้ หาผ้าขนหนูมาม้วนเพื่อให้ผู้ป่วยกำในมือข้างที่เป็นอัมพาต ให้ข้อนิ้วได้เหยียด
4.2 นอนตะแคง ได้ทั้งสองด้าน ประเด็นคือต้องมีหมอนรองแขนและรองขาครับ
4.3 นอนคว่ำ ถ้านอนคว่ำได้ควรจัดท่านอนคว่ำด้วยนะครับ มีหมอนรองข้อเท้า และไหล่ทั้งสองข้าง

5. หลอดเลือดดำอุดตัน เนื่องจากนอนนานๆ มีโอกาสที่เลือดดำที่ขาไม่ค่อยไหลเวียน เกิดอุดตันได้และถ้าโชคร้ายหลุดไปอุดที่ปอดก็จะอันตรายมากครับ วิธีป้องกันก็เป็นวิธีเดียวกับการป้องกันแผลกดทับคือขยับบ่อยๆ

6. ข้อติด เกิด 65% ของผู้ป่วยนะครับ การป้องกันคือมีการกายภาพบำบัดเพื่อยืดกล้ามเนื้อ เวลาไม่ออกกำลังก็ต้องหาผ้าขนหนูม้วนกลมมาให้ผู้ป่วยกำ ใช้หมอนรองข้อพับไม่ให้เกร็งมาก ส่วนการใช้ยาจะมีข้อเสียที่ทำให้ง่วงซึม และความจำแย่ลง ใช้อย่างระมัดระวังครับ

7. การล้ม ต้องฝึกเดินครับ จัดสภาพในบ้านให้ดี ไม่มีสิ่งกีดขวาง มีราวจับ มีแสงสว่างเพียงพอ พื้นไม่ลื่น และต้องระมัดระวังการใช้ยาลดความดัน ยานอนหลับ ที่อาจทำให้ซึมและล้มได้ครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม