ARR หรือ RRR
ตอนนี้กำลังเป็นข่าวดังว่า อัยการรัฐเท็กซัสได้ยื่นฟ้องบริษัทไฟเซอร์ว่าอ้างข้อมูลให้ประชาชนเข้าใจผิดเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA เรื่องนี้เป็นประเด็นแห่งการตีความเยอะเลย
หลายสื่อในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอามาบอกว่าไหนว่าวัคซีน mRNA ดีนักนี่ ตอนนี้ยื่นฟ้องแล้วเป็นไง ไม่ได้ดีอย่างที่โฆษณา ทำให้กลับมาระบาดอีก ..เอาล่ะ ผมก็ไปอ่านมาจากหลายสื่อก็อยากจะมาเล่าดังนี้
หัวข้อในการฟ้องคือ คุณอัยการเขาฟ้องในเนื้อหาสำคัญที่ว่าบริษัทไฟเซอร์อ้างว่าวัคซีน mRNA ช่วงป้องกันโควิดได้ 95% นั้น ก็ทำการศึกษาจริงแต่ว่ากลับใช้ค่า relative risk reduction ว่าลดการป่วยได้ 95% เมื่อเทียบกับยาหลอก ซึ่งทำให้ประชาชนเข้าใจผิดจริง ๆ แล้วตัวเลข absolute risk reduction จากการศึกษามันแค่หนึ่งเปอร์เซนต์กว่า ๆ เท่านั้น
ในกรณีนี้ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อหลายประเทศก็มาชี้แจงว่าตัวเลข relative risk reduction เป็นตัวชี้วัดที่ดีในการเปรียบเทียบ ซึ่งตอนนี้ยังอยู่ในช่วงการยื่นฟ้อง ยังไม่ได้ไต่สวน
เรามาดูง่าย ๆ แบบนี้ สมมติเรานำคนกลุ่มละ 200 คนมาสองกลุ่ม กลุ่มฉีดวัคซีนเกิดโรครุนแรง 10 คน (5%) กลุ่มฉีดยาหลอกเกิดโรครุนแรง 20 คน (10%) แล้วมาคิด risk reduction
Absolute Risk Reduction = 10% - 5% = 5% คือเราเน้นโรคที่ลดลงในภาพรวม
Relative Risk Reduction = (10% - 5%)/10% = 50% คือเราเน้นโรคที่ลดลงเทียบกับยาหลอก
ถามว่าอันไหนบอกข้อมูลได้ดีกว่ากัน มันขึ้นกับหลายอย่างเช่น หากเป็นโรคที่อัตราการเกิดโรคหรืออัตราตายต่ำ absolute อาจบอกได้ไม่ชัดเจน หรือการรักษาที่เพิ่มจากการรักษาเดิม (ที่อาจไม่ใช่ยาหลอก แต่คือการรักษามาตรฐานอยู่แล้ว) ว่าจะได้ประโยชน์หรือไม่ อันนี้ relative บอกได้ดีกว่า
ถามว่าแล้วควรใช้อันไหน จริง ๆ แล้วควรใช้ทั้งคู่มาพิจารณา และการอ่านวารสาร อ่านข้อเท็จจริงงานวิจัยทางการแพทย์ก็ต้องวิเคราะห์ค่าทั้งสองนี้ว่าน่าเชื่อถืออย่างไร ใช้ค่าเหมาะสมไหม มีตัวแปรปรวนอย่างไร ควบคุมได้ไหม แต่นั่นคือการวิเคราะห์ที่ชื่อว่า internal validation คือการตรวจสอบความน่าเชื่อถือภายในตัวงานวิจัยเอง
จะเอาไปใช้ในโลกชีวิตจริง ต้องไปเปรียบเทียบงานวิจัยอื่น กลุ่มตัวอย่างที่ยกมาเข้ากับสถานการณ์จริงแค่ไหน คิดเรื่องความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจเมื่อใช้ตัวเลขต่าง ๆ ตามงานวิจัยมาคำนวณ จำนวนผู้คนที่ถูกกระทบหากเราจะเอางานวิจัยไปใช้ เรียกว่า external validation
เมื่อ validate ทั้งภายนอกและภายใน จึงค่อยตัดสินใจว่าจะหยิบงานวิจัยนี้ไปใช้หรือไม่ และการใช้งานวิจัยเป็นเพียงหนึ่งในขั้นตอนการพิจารณาเท่านั้น ยังมีอีกหลายเรื่องที่จะตัดสินใจเลือกใช้ยานั้นหรือไม่
เวลาอ่านงานวิจัยจึงอย่าดูเพียงตัวเลขหรูหราที่เกิดได้จากงานวิจัย หรืออย่าด้อยค่าเพียงแค่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ ให้อ่านลงลึกไปในมิติต่าง ๆ ตอนเริ่มฝึกอาจสับสน ผมแนะนำให้อ่านไปเรื่อย ๆ เยอะ ๆ วิเคราะห์ทุกอันตามมาตรฐาน ไปคุยเปรียบเทียบมุมมองกับกลุ่มแลกเปลี่ยนความรู้ จะเกิดจินตมยปัญญา และ สุตมยปัญญา ทำให้มองเรื่องทางการแพทย์ทะลุขาดไปอีกระดับหนึ่ง
สรุปว่าสาระสำคัญของการฟ้องในคดีนี้คือ การใช้ตัวเลขทางสถิติเพื่อมาทำให้สาธารณะเชื่อถือแบบนี้ ถูกต้องหรือไม่ จริง ๆ แล้วผมก็อ่านเปเปอร์โควิดวัคซีนครบทุกตัวนะ ทุกตัวทุกยี่ห้อก็แจ้งค่าต่าง ๆ ตามกำหนดองค์การอนามัยโลกครบถ้วนไม่ได้ปิดบังอย่างไร ส่วนการนำไปใช้เพื่อผลประโยชน์ อันนี้ก็แล้วแต่มุมมองครับ ก็ต้องดูการพิจารณาของศาลต่อไป
See insights and ads
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น