The Framingham Heart Study
ผลพวงจากอุบัติการณ์โรคที่เพิ่มขึ้นทุกปี การถึงแก่อสัญกรรมของ FDR จากโรคหลอดเลือดสมอง การผ่านพระราชบัญญัติโรคหัวใจแห่งชาติ ทางสถาบัน National Heart Institute ที่รวบรวมยอดมนุษย์ด้านสรีรวิทยาโรคหลอดเลือด ทีมแพทย์ที่รักษาโรคหัวใจและหลอดเลือด มือดีที่สุดของอเมริกาและที่อพยพมาจากยุโรป จึงเริ่มมีแนวคิดการศึกษาโรคแบบสมบูรณ์แบบ ติดตามปัจจัยเสี่ยงแต่ละคน การดำเนินชีวิต ในกลุ่มคนต่อเนื่องในระยะยาว เพื่อหาสาเหตุว่าอะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงการเกิดโรค อะไรที่จัดการได้ และจัดการแล้วโรคจะดีขึ้นไหม
คณะกรรมการชุดแรกของโครงการศึกษาโรคหัวในนี้ กำลังคิดว่าจะเลือกสถานที่ไหน เมืองไหนที่เป็นตัวแทนของประชาชนอเมริกา เพื่อศึกษาการก่อนโรค ตัวเลือกที่มีการนำเสนอในเวลานั้นมีสองเมือง คือ เมืองฟรามิงแฮม รัฐแมสซาซูเสตต์ และเมืองเพ้นสวิลล์ มลรัฐเคนตั๊กกี้ ด้วยสาเหตุที่สองเมืองนี้ เป็นเมืองที่มีประชากรกลุ่มคนขาวเหมือนกัน เพื่อตัดความหลากหลายของเชื้อชาติ มีการเคลื่อนย้ายประชากรค่อนข้างต่ำ ประชากรและการเมืองมีเสถียรภาพ เหมาะสมกับการศึกษาในระยะยาว
และสุดท้ายก็ได้เมืองฟรามิงแฮม เพราะประชาชนที่นั่นให้ความร่วมมือที่จะติดตาม ให้ข้อมูล ไม่ใช่แค่รุ่นที่ทำการศึกษา แต่ต่อเนื่องไปถึงรุ่นลูกหลาน และอีกประการคือ เมืองฟรามิงแฮม อยู่ใกล้กับสถาบันโรคหัวใจแห่งชาติ ที่มีเหล่าผู้เชี่ยวชาญมารวมตัวทำงานกันอยู่แล้ว (ที่โรงเรียนแพทย์ฮาร์วาร์ด)
11 ตุลาคม 1948 การเก็บข้อมูลชุดแรกของการศึกษาฟรามิงแฮม ก็เกิดขึ้น โดยนักวิจัยชุดแรกตั้งเป้าจะทำข้อมูลระยะยาวถึง 67 ปี โดยประเมินรายปีและให้ข้อมูลการวิจัยออกมาตลอด การศึกษาฟรามิงแฮมชุดแรกมีคนเข้าร่วม 5209 ราย อายุ 28-62 ปี และวัดผลการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ที่นี่เราได้พบว่า ความอ้วน ความดันโลหิต โคเลสเตอรอลในเลือด และบุหรี่ คือปัจจัยสำคัญในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ และในผู้เข้าร่วมการศึกษาชุดแรกมีหลายคนที่เป็นครอบครัวของคณะทำงาน
หลังจากเวลาผ่านไป ก็ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของโรคชัดเจนขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป ข้อมูลเรื่องของอาหาร การออกกำลังกาย การใช้ยา ก็เริ่มบอกว่ามีผลต่อการรักษา ด้วยความที่การเก็บข้อมูลของการศึกษาออกแบบมาดีมาก จึงสามารถหยิบข้อมูลใด ๆ มาวิเคราะห์ได้โดยง่าย มีการเก็บข้อมูลเป็นระยะ เพราะเมืองฟรามิงแฮมก็อยู่ใกล้ ๆ National Heart Institute หรือปัจจุบันคือ National Heart Blood and Lung Institute (NHBLI) ที่แม้จะเปลี่ยนผู้อำนวยการโครงการหลายคน แต่วัตถุประสงค์และการดำเนินการไม่มีเปลี่ยนแปลงจากเดิม
การเก็บข้อมูลของกลุ่มตัวอย่างใน Framingham Heart Study ไม่ได้จบเพียง 5 ปีหรือ 10 ปี การศึกษาความเสี่ยงเพื่อลดโรคหัวใจนี้ยังเก็บข้อมูลต่อเนื่องไปถึงรุ่นลูก (offspring cohort) รุ่นที่หนึ่งและรุ่นที่สอง
ทำให้เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงและปัจจัยเสี่ยงโรคหัวใจที่ชัดเจน เช่น ระยะเวลาที่จะเกิดโรค ความเสี่ยงที่สัมพันธ์กับพันธุกรรม ผลจากการรักษาต่อรุ่นถัดไป และยังขยายขอบข่ายการเก็บข้อมูลออกไปถึงโรคอื่น ๆ เช่นเบาหวาน โรคไต และลงลึกในข้อมูลเช่น มีการเก็บตัวอย่างเลือดถึงรหัสพันธุกรรม และสามารถเอาเลือดที่เก็บจากรุ่นก่อน ๆ มาวิเคราะห์เพิ่มได้อีก ทำให้เรามีข้อมูลความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจ และสามารถจัดการความเสี่ยงนั้นได้ดี จนอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจลดลงมาก ตัวอย่างความเสี่ยงที่จัดการได้จากการศึกษานี้คือ การจัดการโคเลสเตอรอลและ LDL
นอกจากสหรัฐอเมริกาแล้ว ประเทศทั่วโลกยังได้ประโยชน์และความคิดแนวปฏิบัติการการศึกษาจากฟรามิงแฮมนี้ ตัวอย่างที่ชัดคือ Framingham Risk Score ที่ผลิตออกมาครั้งแรกในปี 1998 ระบบคะแนนที่คำนวณความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจใน 10 ปี ได้ค่อนข้างแม่นยำ และเอามาจัดกลุ่มความเสี่ยงและดูแลรักษาคนไข้ได้ดี
ในประเทศไทยเราก็มีการศึกษาลักษณะนี้เช่นกัน คือ การเก็บข้อมูลความเสี่ยงในคนไทย ในกลุ่มคนที่ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงถิ่นที่อยู่และการใช้ชีวิตมากนัก และยินยอมพร้อมใจในการเก็บข้อมูลมาตลอด คือ การเก็บข้อมูลเพื่อประเมินความเสี่ยงการเกดโรคหัวใจและหลอดเลือดในพนักงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิต โดยคณะแพทยศาสตร์ รพ. รามาธิบดี เรียกว่า EGAT study และพัฒนาข้อมูลมาเป็น RAMA EGAT score ที่ต่อมาพัฒนาออกมาเป็น Thai CV Risk Score คำนวณความเสี่ยงโรคหัวใจในคนไทยในระยะเวลา 10 ปี
ปัจจุบันนี้ Framingham Heart Study ก็ยังดำเนินการศึกษาอยู่ ลงลึกไปถึงระดับยีน จัดทำระบบ big data และมีการทดสอบการใช้ artificial intelligence เพื่อพัฒนาการตรวจรักษาโรคหัวใจและลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจที่ทำได้สำเร็จแล้วในอดีต และจะทำต่อไปในอนาคต
การตัดสินใจของประธานาธิบดีแฮร์รี่ เอส ทรูแมน และเรื่องราวความเสี่ยงของท่านประธานาธิบดี แฟรงคลิน เดอลาโน รูสเวลต์ ทำให้โลกนี่เปลี่ยนไปจริง ๆ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น