18 กันยายน 2566

ยาพาราเซตามอลเกินขนาด จาก consensus management ของสมาคมแพทย์พิษวิทยาของแคนาดาและอเมริกา ปี 2023

 กินยาพาราเซตามอลเกินขนาด

1.นิยามใหม่ acute ingestion คือ กินยาพาราเซตามอลรูปแบบใด แบบใดก็ได้ ที่คิดว่าจะเกินขนาด ภายในเวลา 24 ชั่วโมง ซึ่งคำนิยายจากการคำนวณกราฟแสดงพิษเดิม จะใช้ปริมาณมากกว่า 7.5 กรัม คือประมาณ 15 เม็ดขึ้นไป ส่วนคำว่า repeated supratherapeutic ingestion หมายถึงกินยาเกินขนาดในเวลาที่มากกว่า 24 ชั่วโมง ที่แยกแบบนี้เพราะการจัดการแตกต่างกัน
2.สำหรับ Repeated Supratherapeutic Ingestion ไม่ต้องล้างท้อง ไม่ต้องกินถ่านชาร์โคล และการตัดสินใจการรักษาขึ้นกับระดับยาพาราเซตามอลในเลือดที่เกิน 20 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร หรือระดับเอนไซม์ตับที่สูงกว่าปกติ ถ้าเป็นไปตามนี้จึงตัดสินใจรักษาด้วยยา N-Acetylcysteine
3.ส่วนการกินเฉียบพลันใน 24 ชั่วโมง การตัดสินใจรักษาขึ้นกับระดับยาพาราเซตามอลในเลือดเทียบกับระยะเวลาที่กิน (revised Rumak-Matthew Nomogram) ว่าถึงเกณฑ์รักษาแล้วหรือยัง และหากในกรณีกินยามาเกิน 30 กรัม (60 เม็ด) หรือผลการตรวจระดับยาจะกลับมาหลัง 8 ชั่วโมง ให้ยา acetylcysteine รอผลไปก่อน … ส่วนมากในประเทศเราจึงให้ยาไปก่อนนั่นเอง
4. Rumak-Matthew Nomogram ของเดิม ได้รับการปรับปรุงให้เริ่มรักษาที่ระดับพาราเซตามอลที่ลดลงกว่าเดิม 25% เพราะจากข้อมูลยาต้านพิษที่หาง่ายและให้ได้อย่างปลอดภัยมากขึ้น จะได้ให้การรักษาได้เร็วและลดภาวะตับวายได้มากขึ้น
5.ยาที่ใช้รักษาพาราเซตามอลเกินขนาดคือ N-acetylcysteine ในขนาด 300 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัวหนึ่งกิโลกรัมต่อหนึ่งวัน ใช้แบบกินหรือหยดเข้าทางหลอดเลือดก็ได้ แต่ต้องใช้ใน 24 ชั่วโมง ไม่มีสูตรการใช้แบบไหนพิสูจน์ว่าเหนือกว่าแบบอื่น จะใช้สูตรที่เราคุ้นชิน 150-50-100 ก็ได้ จริง ๆ แล้วการใข้แบบกินจะยากกว่าและคาดเดาผลได้ยากเพราะ ผู้ป่วยอาจกินไม่ได้หรืออาเจียน ส่วนการให้ยาทางหลอดเลือดดำง่ายกว่า เพียงแต่ต้องระวังปฏิกิริยาภูมิแพ้ที่ไม่ได้ผ่านระบบภูมิคุ้มกัน มันแสดงออกเหมือนกัน จึงเรียกว่า anaphylactoid แทนที่จะเป็น anaphylactic
6.ความสำคัญของการใช้ยาคือ เมื่อตัดสินใจใช้ยา "ควรใช้ไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะถึงเกณฑ์หยุดยา" ที่เรียกว่า stopping criteria คือ ผู้ป่วยอาการปกติดี + ค่า INR ไม่เกินสอง + ค่า AST ALT ลดลงมาอย่างน้อย 50% + ระดับพาราเซตามอลในเลือดไม่เกิน 10 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร ซื่งการประเมิน stopping criteria ให้ประเมินทุก 12-24 ชั่วโมง
7.เมื่อให้ N-acetylcysteine ไปใน 24 ชั่วโมงแรกแล้วและประเมินซ้ำ แต่ยังไม่ถึง stopping criteria แนะนำให้ยาต่อทางหลอดเลือดในอัตรา 6.25 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมต่อชั่วโมง จนกว่าจะถึง stopping criteria อย่าลืมประเมิน ทุก 12 ชั่วโมงนะครับ
8.ยาพาราเซตามอลชนิดออกฤทธิ์ยาว ยังไม่มีการศึกษาแก้พิษที่ชัดเจน แต่แนะนำว่าอาจจะมีพิษสูงกว่าและใช้เวลานานในขนาดการกินยาที่เท่ากัน และต้องระมัดระวังการใช้ยาอื่นร่วมกับพาราเซตามอล ที่ทำให้การทำงานของลำไส้ลดลง นั่นคือโอกาสมีพิษสูงขึ้นเพราะการเคลื่อนที่ขับออกมันลดลง
9.ในกรณีตับอักเสบรุนแรง หรือ ระดับพาราเซตามอลมากกว่า 900 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร นอกจากการใช้ยา N acetylcyteine แล้วอีกหนึ่งวิธีที่อาจพิจารณาทำได้คือ การฟอกเลือด
จาก consensus management ของสมาคมแพทย์พิษวิทยาของแคนาดาและอเมริกา ปี 2023

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม