แรกเริ่มเดิมที่ สมเด็จพระราชบิดา ได้สำเร็จการศึกษาวิชาการทหารเรือจากประเทศเยอรมนีและกลับมารับราชการกองทัพได้สักพัก แต่ก็มีอุปสรรคด้านการทำงานและไม่ลงรอยกับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่หลายคน ทำให้ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร (บุตรบุญธรรมของพระองค์เจ้าสว่างวัฒนา พระมารดาของสมเด็จพระราชบิดา) ได้ชักชวนมาดูงานที่ รพ.ศิริราช พระองค์เห็นคนเจ็บมากมายและผู้คนล้มตายในโรงพยาบาลอย่างน่าอเน็จอนาถ เพราะตอนนั้นโรคระบาดเยอะและกำลังสาธารณสุขของเราน้อยมาก ท่านจึงตัดสินใจไปเรียนต่อด้านสาธารณสุขที่ Harvard School of Public Health
วันนี้เราจะมารู้จัก Harvard School of Public Health
โรงเรียนนี้ก่อตั้งในปี 1913 โดยตอนแรกเป็นความร่วมมือของ Harvard และ MIT (สถาบันเทคโนโลยีแห่งแมสซาซูเสตต์ อันโด่งดังนั่นแหละ) เพื่อผลิตบุคลากรทางสาธารณสุขออกมาทำงาน ในยุคนั้นนี่คือแห่งแรก เป็นต้นตำรับการสาธารณสุขของอเมริกา
ตอนนั้นความรู้ทางสาธารณสุขเฟื่องฟูมาก การรบกับกาฬโรคในยุโรป การกำจัดไทฟอยด์ในเอเชียไมเนอร์ การจัดการสาธารณสุขของคุณฟลอเรนซ์ ไนติงเกล จากสงครามไครเมีย เช่นเดียวกับฟากฝั่งอเมริกาที่มีการจัดตั้งวิทยาลัยสาธารณสุขแห่งนี้ขึ้นมา
วิทยาลัยนี้แยกตัวออกจาก MIT ในปี 1964 และสอนนักเรียนเรื่อยมาแต่แล้วในช่วงปี 1970 มีนักเรียนจากฮ่องกงคนหนึ่งมาเรียนที่นี่ Gerald Chan และเขาจะเปลี่ยนโฉมหน้าวิทยาลัยแห่งนี้ในอนาคต
Gerald Chan เป็นบุตรของนายธนาคารและอสังหาริมทรัพย์ชาวจีน ที่ลี้ภัยมาอยู่มี่ฮ่องกง (ตอนนั้นเป็นเขตการปกครองของอังกฤษ) คุณเจอรัลด์ได้เรียนในโรงเรียนที่ดีพอควรจากฐานะทางบ้าน ทำให้มีความคิดความอ่านดีกว่าคนอื่น ๆ ในยุคปี 1950 ที่จีนอยู่ในสภาพย่ำแย่จากการรบกันเองระหว่างจีนชาตินิยมกับคอมมิวนิสต์ เจอรัลด์ได้เห็นบางสิ่งบางอย่างในครอบครัว
อย่างแรกคือจะมีเพื่อนของพ่อเขามากมาย มายืมเงินพ่อของเขาไปส่งลูกเรียน ซึ่งพ่อเขาจะยินดีช่วยเหลือ แถมยังพาไปหาเงินทุนเพิ่มและติดต่อที่เรียนให้ด้วย ทำอย่างขมีขมันอีกต่างหาก เพราะพ่อของเขาก็อยากเรียนแต่ไปไม่ถึงฝันเพราะต้องออกมาทำงานและสภาพสังคมช่วงที่หนีมาฮ่องกงใหม่ ๆ มันไม่เอื้ออำนวย
อย่างที่สองแม่ของเจอรัลด์เป็นพยาบาล ที่ตอนนั้นเป็นอาชีพขาดแคลนมากในฮ่องกง แม่ของเขาต้องช่วยฉีดวัคซีนอหิวาต์ในช่วงระบาด โดยต้องตั้งศูนย์ฉีดในครัวบ้านเขาเอง เพราะต้องต้มหลอดฉีดยาและเข็มฉีด (สมัยนั้นไม่มีเข็มใช้แล้วทิ้ง) ที่แสนจะขาดอนามัยที่ดี แต่จะทำอย่างไร
เจอรัลด์จึงตั้งใจเรียนสาธารณสุข โดยเลือกไปสอบเรียนต่อที่ Harvard School of Public Health นี่แหละครับ ที่ไม่ได้ง่ายและยังต้องใช้เงินมากอีกด้วย เจอรัลด์ได้เรียนและขอทุน เพื่อหวังจะยืนด้วยตัวเอง ไม่ต้องขอเงินพ่อ ..และเจอรัลด์ก็ได้ทุนจนจบการศึกษา ที่ถือเป็นเกียรติกับตระกูลเขามาก ครั้งนั้นคุณพ่อของเขาเดินทางมาแสดงความยินดีด้วย
สิ่งที่คุณพ่อของเจอรัลด์มาเห็นคือความเจริญอย่างมากของโรงเรียน ทำให้พ่อของเขาภูมิใจในตัวลูกชายมาก แต่ในมุมมองของความสำเร็จของลูกชายที่ได้รับทุน ทั้ง ๆ ที่ตอนนั้นฐานะของเขาดีพอที่จะจ่ายค่าเรียนในลูกได้ เขามองว่าในขณะที่เจอรัลด์ได้ทุน จะมีอีกหนึ่งคนที่เขาไม่ได้ทุนและอดเรียนต่อ ทั้ง ๆ ที่คนนั้นไม่ได้ด้อยไปกว่าลูกชายเขาเลย เพียงแต่ทุนมีเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น ช่างน่าเสียดาย
หลังจากพ่อเขาเสียไป เจตนารมย์ของพ่อตกมาถึงรุ่นลูก เจอรัลด์ และรอนนี่ ซึ่งทั้งคู่ประสบความสำเร็จในทางวิชาชีพ โดยเฉพาะรอนนี่ ที่จับการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในฮ่องกงจนมีฐานะ เขาทั้งคู่ตั้งมูลนิธิ Morningside Foundation ที่ให้ทุนและสนับสนุนการศึกษาตามเจตนารมย์ของคุณพ่อ ได้ให้ทุนพัฒนากับหลายสถาบันการศึกษา
ในปี 2014 เจอรัลด์และมูลนิธิ ได้มอบทุนจำนวน 350 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ (พันกว่าล้านบาท) ให้กับ Harvard School of Public Health จนทำให้สถาบันมีความก้าวหน้า โดดขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่งของโลกในสาขาวิชานี้ และทางสถาบันได้เปลี่ยนชื่อตามเจตนารมย์ของการให้ทุนการศึกษา แบบอย่างจากคุณพ่อของเจอรัลด์ว่า Harvard T.H.Chan School of Public Health ตามชื่อของ Chan Tseng-hsi คุณพ่อของ เจอรัลด์และรอนนี่ ชาน นั่นเอง
สุดท้ายก็ขอฝากคำสอนของสมเด็จพระราชบิดา ซึ่งมีหลายข้อมาก ดีทุกข้อ แต่ที่ผมถือสูงสุดและยึดมั่นปฏิบัติมาตลอด เป็นแรงใจสำคัญมากในวันที่เริ่มทำเพจนี้วันแรก ก็เพราะประโยคนี้ครับ
"True Success is not in the learning, but in its application to the benefit of mankind"
"ความสำเร็จที่แท้จริงอยู่ที่การนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ เพื่อประโยชน์สุขแก่มวลมนุษยชาติ"
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น