11 มิถุนายน 2566

บันทึกความทรงจำครั้งหนึ่งในชีวิต กู้ชีวิตในห้องฉุกเฉิน

 บันทึกความทรงจำครั้งหนึ่งในชีวิต

หลังจากจบเฉพาะทางมาสักพัก ผมก็เดินทางท่องเที่ยวอีกครั้ง เป้าหมายครั้งนี้คืออำเภอและจังหวัดหนึ่งในภาคอีสานที่เขาว่ากันว่าสัดส่วนแพทย์ต่อประชากรต่ำที่สุด ผมมีเพื่อนอยู่ที่นั่น วันนั้นเขาอยู่เวรผมเลยตัดสินใจเดินทางไปหา ค้างสักคืน ซื้ออาหารไปทำกินกัน แต่เรื่องราวมันก็ไม่แสนสุขสงบแบบนั้น
ระยะทางที่ผ่านไป ผมเปิดดีวีดีประชุมวิชาการฟังไปเรื่อย ๆ แวะกินอาหารตามร้านข้างทาง ก็ไม่ได้รีบเดินทาง กว่าจะถึงตัวอำเภอประมาณสิบหกนาฬิกาเศษ เคยแวะซื้อของสดในตลาด ก่อนตลาดจะวาย
ผมเคยมาที่นี่เมื่อเกือบสิบปีก่อน คราวนี้แวะเวียนมาอีกครั้ง ถ้าไม่นับตึกรามอาคารที่มากขึ้นเล็กน้อย ที่นี่แทบจะเหมือนหยุดเวลา
ตลาดเต็มไปด้วยความจอแจ มีสารพัดผัก เนื้อ วางขายแบบที่เรียกว่า "แบกะดิน" มีขนมที่ชาวบ้านทำเอง ผลไม้ที่เขาตัดมาขาย ทุกคนดูเหมือนรู้จักกันหมด ผมกลายเป็นคนแปลกหน้าทันที เดินเลือกซื้อหมู ไก่ ผักแกล้มสามสี่อย่าง เครื่องเทศเอาไปทำเครื่องปรุง และซื้อข้าวสวยไปสำเร็จเลย ขี้เกียจไปหุงอีก เมนูวันนี้เป็นรายการย่าง ปิ้ง และแจ่ว ไม่ต้องวิลิศมาหรา เพราะรสชาติที่แท้จริงอยู่ที่การได้มาคุยกัน อ้อ..เราทั้งคู่ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ เลยซื้อน้ำอัดลมขวดใหญ่ไปแทนแอลกอฮอล์
สิบเก้านาฬิกา
ผมกับเพื่อน รวมทั้งภรรยาของเขา นั่งข้างเตาปิ้งย่างกำลังคุยกันอย่างสนุก แล้วก็มีเสียงโทรศัพท์ตามเพื่อไปที่ห้องฉุกเฉิน มีคนไข้ด่วนมา สถานการณ์ที่เราเข้าใจดี ชีวิตแพทย์ก็แบบนี้ ผมจึงนั่งรอกับภรรยาของเขา ส่วนตัวเขาขี่รถจักรยานยนต์ไปที่ห้องฉุกเฉิน
ห้องฉุกเฉินโรงพยาบาลอำเภอในช่วงดึก มีแต่พยาบาลเวร แพทย์เวร กับเจ้าหน้าที่อีกสองสามคน กำลังคนมีแค่นี้ ใครเคยอยู่จะเข้าใจ ไม่ใช่ในหนังที่ไฟสว่างตลอดเวลา แต่ก็จะพร้อมรับคนไข้ที่ฉุกเฉินเข้ามา ถ้าเหลือบ่ากว่าแรง ก็ต้องส่งต่อไปรพ.จังหวัด ที่แสนไกล
"พิม ชินหรือยังกับชีวิตแบบนี้" ผมถามภรรยาเขา
"แรก ๆ ก็ไม่ชินค่ะ หลัง ๆ นี้เข้าใจแล้ว และเราก็ชอบที่นี่" พิมเป็นเจ้าหน้าที่ของที่ว่าการอำเภอ เพิ่งแต่งงานกันมาสามปี วันแต่งงานผมไม่ได้มาด้วย วันนี้จึงเป็นการมาเยี่ยมสองสามีภรรยาครั้งแรก
"แต่เขาก็จะบ่นหน่อย ๆ ว่ารพ.จังหวัดมักจะโวยวายตัวเขาและน้องพยาบาล เวลาไปส่งคนไข้ หรือโทรปรึกษาบ่อย ๆ และไม่เข้าใจว่าจะโวยวายทำไม ถ้าเราทำได้ เราก็ทำแล้ว ไม่สร้างภาระให้เขาหรอก พิมอยู่อำเภอ เรื่องแบบนี้ที่อำเภอก็มี" พิมบ่นเบา ๆ
"พี่อย่าดุน้อง ๆ เวลาเขาโทรไปส่งเคสนะคะ" พิมแหย่เล่น
เรื่องการถูกดุ ถูกโวย เป็นเรื่องที่ผมไม่ชอบ และเคยโดนมากับตัวเองหลายครั้ง ครั้งร้ายแรงที่สุดคือคำพูดที่ว่า "ทำไมไม่ส่งมาให้เร็วกว่านี้" ซึ่งกระบวนการช้า ไม่ได้เกิดที่เรา และเคยคิด เคยทำ เคยโวยกลับ ว่าเราก็ทำเพื่อคนไข้เหมือนกัน ทำไมต้องว่าตั้งแง่กันด้วย วุฒิบัตรผู้เชี่ยวชาญมันเปลี่ยนคนได้ขนาดนั้น..ในบางคน
รุ่นหลัง ๆ เริ่มดีขึ้น
เสียงมอเตอร์ไซค์ดังเข้ามาใกล้ ๆ รปภ.รพ ขี่รถมาที่บ้านของเพื่อนผม บอกว่าคุณหมอให้มารับ ขอให้มาช่วยหน่อย การกินและการสนทนาหยุดลงทันที ผมหยิบผ้าเช็ดหน้ามาเช็ดมือเช็ดปากแล้วกระโดดซ้อนท้ายรปภ. ไปทันที
ที่ห้องฉุกเฉิน ญาติประมาณห้าหกคนนั่งรออยู่ รถพยาบาลมาเตรียมพร้อม ..น่าจะหนักแฮะ รถรีเฟอร์มารอเลย… รถรีเฟอร์ คือ รถพยาบาลส่งต่อ เมื่อเปิดประตูเข้าไป พบเพื่อนของผมอยู่หัวเตียง ในมือถือแพดเดิ้ลที่ไว้ช็อกหัวใจ คนไข้บนเตียงเข็น หายใจเร็ว แต่ดูยังไม่หมดสติ พยาบาลสองคนอยู่ข้างคนไข้ มีสายน้ำเกลือสองสาย ผู้ช่วยวัยหนุ่มอยู่ข้าง ๆ
ทุกคนมองมาที่ผม …ไอ้หมอนี่เป็นใคร
เพื่อนผมพูดขึ้น "นี่เพื่อนผมเอง เป็นเฉพาะทาง เขามาเที่ยววันนี้ เลยขอความช่วยเหลือ" ทุกคนหลีกทางให้ น้องพยาบาลส่งถุงมือยางและหน้ากากให้ สิ่งที่ผมเห็นคือ ทุกคนพยายามแก้ไขปัญหาคนไข้อย่างเต็มที่ เท่าที่ทรัพยากรที่นี่จะมี
"น่าจะ VT หัวใจเต้นเร็วมาก 160 ครั้ง ความดันประมาณ 100 ไม่แย่มาก แต่เหนื่อย แกเป็นคนไข้เบาหวานความดันที่นี่" เพื่อนผมพูด เมื่อสิ้นเสียงเพื่อน ตาผมมองจอเครื่องดีฟิบบริลเลเตอร์ พร้อมเอามือจับชีพจรที่คอและขาหนีบคนไข้ ตามสัญชาตญาณ
ผู้ป่วยเหนื่อย หอบลึก ตัวผอม ๆ ไม่บวม จับชีพจรได้ 90 ครั้งต่อนาที ความดันที่หน้าจอ 100/60 ชีพจรที่หน้าจอ 160 ครั้งต่อนาที QRS complex ตัวกว้าง ๆ
"ส่งเลือดตรวจอีเล็กโทรไลต์หรือยัง และค่าครีอะตีนินด้วย" ผมถามพร้อมกับเดินเข้าไปดูหน้าจอมอนิเตอร์แบบใกล้ ๆ แล้วบอกว่า "ยังไม่ต้องดีฟริบนะครับ" ….ดีฟริบ คือช็อกหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบไม่รอจังหวะ ส่วนค่าครีอะตินีนคือค่าการทำงานของไต
หลังจากจ้องจอสักครู่ ผมหันหน้าไปถามเพื่อน "มีแคลเซียมกลูโคเนตไหม ขอสักแอ้มป์สิ" ผมไม่สั่งพยาบาลโดยตรงเพราะไม่ได้มีอำนาจตรงนั้น ทุกคนอาจจะแปลกใจว่า VT (ventricular tachycardia) ดูไม่คงที่ ทำไม่ไม่ช็อก
ผมเดาความคิดทุกคนได้
ผมอธิบายสั้น ๆ ให้ทีมเข้าใจว่าอาการหอบลึกแบบ Kussmaul น่าจะต้องสงสัยเลือดเป็นกรด ผู้ป่วยเบาหวานความดันเดิม มีโอกาสเกิดโรคไตได้ง่าย คลื่นไฟฟ้าหัวใจที่จอภาพอ่านชีพจรเป็นสองเท่าของชีพจรจริง ต้องระวังว่ามันนับ T wave เป็นชีพจร (QRS complex) แสดงว่า T wave สูง, QRS complex กว้าง ถ้าเราดูดี ๆ สองอันนี้แตกต่างกันอยู่ และ P wave เจอน้อยมาก ทุกอย่างเข้าได้กับ hyper K (เกลือแร่โปตัสเซียมในเลือดสูง)
เมื่อฉีด แคลเซียมกลูโคเนต คลื่นไฟฟ้าหัวใจดีขึ้น จึงแก้ไขโปตัสเซียมในเลือดสูงต่อไป และส่งต่อไป รพ.จังหวัด ด้วยว่าประวัติเดิมมียา metformin และการทำงานของไตไม่ค่อยดี อาจเกิดเหตุใดที่ทำให้ไตวายแล้วเลือดเป็นกรดจากยา
ผมจึงถอยออกมา นั่งคอยที่หน้าห้องฉุกเฉิน สักพักเพื่อนก็ออกมาหลังจากส่งตัวเรียบร้อย เล่าให้ฟังว่า รพ.จังหวัดบ่นเล็กน้อยว่าทำไมฉีดยาแคลเซียมก่อนจะรู้ผลเลือด อ้อ..ลืมบอกว่า ผลเลือดออกมาก่อนจะส่งตัว เรียกว่าผลออกมาพร้อมล้อหมุนเลย ค่าโปตัสเซียมประมาณ 6 กว่า ๆ ค่าไบคาร์บอเนตเป็นกรด ไตวาย
ผมเดินไปตบไหล่ บอกว่า เราตั้งใจช่วยเขาเท่าที่เราทำได้อย่างดีที่สุดแล้วล่ะ อย่าเอาคำบ่นเล็กน้อยมาทำลายความตั้งใจที่จะช่วยคนสิ ไปกินข้าวกันต่อเหอะ
คืนนั้นเป็นอีกคืนที่มีความสุขมากเลย
ความทรงจำนี้แว่บมา เพราะมีคนไข้แบบเดียวกันนี้เลือดเป็นกรด (ก็ที่ย้ำ metformin กับ enalapril เมื่อวันก่อน)
พอดีกับ …เรื่องการลาออกของแพทย์จากปัญหาการทำงาน
และพอดีกับ …ไป รพ.ชุมชน แห่งหนึ่งมา คิดถึงบรรยากาศเก่า ๆ เลยทีเดียว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม