01 มิถุนายน 2566

เรื่องเล่าจากคลินิก : โรคหืด : การขาดโอกาสทางการแพทย์

 เรื่องเล่าจากคลินิก : โรคหืด : การขาดโอกาสทางการแพทย์

เมื่อคลินิกใกล้จะปิด คุณหมอประจำคลินิกเดินมาทำความสะอาดหน้าร้าน สุภาพบุรุษท่านหนึ่งเดินลงมาจากรถเข้ามาสอบถามว่า ร้านปิดหรือยังและคุณหมอกลับหรือยัง ผมก็บอกว่า คุณหมอยังไม่กลับ มีอะไรให้ช่วยไหม คำตอบคือ อยากให้คุณหมอตรวจปอดและพ่นยาให้หน่อย
ผมเชื้อเชิญสุภาพบุรุษท่านนั้นเข้าไปในร้าน นั่งรอและดื่มน้ำ สักพักพนักงานทำความสะอาดคนเมื่อสักครู่ล้างมือและจัดเอกสารเรียบร้อยก็เชิญคนไข้เข้าห้องตรวจ ซึ่งเขารู้สึกงุนงงบ้าง ที่นี่พนักงานเราทำได้ทุกตำแหน่ง
แต่พนักงานทำความสะอาดคนนั้นแอบสังเกตว่า คุณสุภาพบุรุษเดินได้สะดวก ไม่หอบเหนื่อย กระแสการพูดราบรื่น ไม่ตะกุกตะกัก หายใจสม่ำเสมอ นอกจากนั้นยังได้กลิ่นควันบุหรี่จาง ๆ ออกมาจากตัวเขาด้วย
ได้ความว่า สุภาพบุรุษท่านนี้ป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูงและหลอดเลือดสมองตีบเล็กน้อย ตอนนี้กินยารักษาและติดตามที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เพราะอาการคงที่แล้ว ได้รับการส่งตัวมาจากรพ.จังหวัดและรพ.อำเภอตามลำดับ ผู้ป่วยมีอาการเหนื่อยมาสักประมาณ 4 ปีแล้ว รู้สึกหายใจติด ๆ ขัด ๆ บ้างแต่ไม่ถึงกับหอบ ไม่มีเสมหะ อัตราการหายใจ 15 ครั้งต่อนาที ไม่เหนื่อย ฟังเสียงปอดแล้วช่วงจังหวะหายใจออกยาวนานกว่าปกติ ไม่มีเสียงวี๊ด ความอิ่มตัวออกซิเจนปลายนิ้ว 98%
คุณหมอ "คุณใช้ยาพ่นและเคยไปพ่นยาที่รพ.หรือครับ"
คนไข้ "เคยใช้ครับ ใช้ประจำ ถ้าอาการเหนื่อยมากก็ไปพ่นยาและฉีดยาตามคลินิก หายเลย"
คุณหมอ "แสดงว่า เป็นโรคหืดหรือครับ แล้วไม่ได้ติดตามต่อเนื่องหรือครับ"
คนไข้ "ไม่เคยตรวจว่าเป็นโรคหืดครับ เคยบอกหมอหลายครั้งเรื่องเหนื่อยง่าย แต่หมอบอกว่าน่าจะเกิดจากโรคความดันและหลอดเลือดตีบ ให้คุมอาหาร ออกกำลังกาย และกินยาต่อเนื่อง"
ผู้ป่วยเสริมว่า ไปรับยาแต่ละครั้งก็รอนานและคนไข้เยอะ ก็เลยไม่เคยได้ตรวจเรื่องเหนื่อย ได้แต่รับยา และที่ผู้ป่วยซื้อยามาพ่นและไปพ่นยาที่คลินิก คือ ข้อมูลที่อ่านจากอินเตอร์เน็ตและเพื่อน ๆ เล่าให้ฟัง
สรุปว่าผู้ป่วยใช้ยาพ่นเอง โดยที่ไม่เคยได้รับการวินิจฉัย เข้าใจว่ารพ.และหมอยุ่งนะ แต่มันก็…
ผมให้คนไข้ตรวจ Peak Expiratory Flow Rate ได้ที่ 60% ของค่าที่ควรจะเป็น นึกในใจว่าอาจจะเป็นโรคหืดกำเริบหรือถุงลมโป่งพองก็ได้ อาการเข้ากับหืดมากกว่า ถามคนไข้ว่าสูบบุหรี่ไหม คำตอบคือไม่ได้สูบ แต่ตัวเองเป็นนักดนตรี คนรอบตัวสูบทั้งนั้นและเลี่ยงยาก
เนื่องจากที่คลินิกไม่มีเครื่อง pulmonary function test ผมเลยเลือกใช้วิธีต้นทุนต่ำ คือตรวจความเร็วลมจากเครื่อง peak flow นี่แหละ ถ้าหลังสูดยาขยายหลอดลมแล้วมีการเปลี่ยนแปลงในทางดีขึ้น 60 ml หรือเพิ่ม 20% อันใดอันหนึ่ง น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงหลอดลมไปในทางโรคหืด (จริง ๆ ต้องวัดค่าด้วยเครื่อง pulmonary function test นะครับ)
คุณหมอ "ถ้าอย่างนั้น ขอดูยาพ่นและรบกวนพ่นให้ผมตรวจสอบวิธีใช้ด้วยนะครับ" จะได้ดูว่ายาที่ใช้คืออะไร และใช้ถูกวิธีไหม
ผู้ป่วยหยิบยาพ่น salbutamol ขึ้นมาและบอกว่าใช้ตัวนี้แบบเดียวเฉพาะเวลามีอาการ …อืม ไม่มียาสูดสเตียรอยด์เลย…และเมื่อให้พ่นเพื่อจะทำการวัดค่าความเร็วลมหลังพ่น สิ่งที่พบคือ ผู้ป่วยไม่ได้เขย่ายา คว่ำกลักยาลงด้านล่าง กดยาไม่สัมพันธ์กับจังหวะหายใจ ไม่กลั้นลมหายใจหลังพ่นยา ยาออกมาเกือบหมด
ผมจึงสอนวิธีใหม่ และเมื่อสูดแล้ววัด peak flow ซ้ำพบว่าเพิ่มไปถึง 80 ซีซี และอาการดีขึ้น น่าจะตอบสนองดี โอกาสเป็นโรคหืดสูงมาก จึงแนะนำโรคหืดว่าควรทำอย่างไร ตรวจอย่างไร และใช้ยาสเตียรอยด์แบบสูดพ่นอย่างไร ผู้ป่วยบอกผมว่า ไม่เคยทราบเรื่องนี้เลย พ่นยาเองมาสี่ปีแล้ว พ่นผิด ไม่เคยดีขึ้น
ผมคิดว่าที่ดีขึ้นทุกครั้งน่าจะเป็นจากการใช้สเตียรอยด์แบบฉีด
ผู้ป่วย "ผมอาจไม่ได้มาติดตามอีก เพราะต้องทำงานหลายที่ครับ และบ้านก็ไกลจากที่นี่"
ผมจึงเขียนบันทึกลงในสมุดประจำตัวผู้ป่วยความดันโลหิตสูง ว่าตรวจเจออะไร แนะนำอะไรไป เผื่อว่าคุณหมอที่ตรวจประจำจะได้เข้ามาพบข้อมูลนี้ และดูแลต่อเนื่องตามสิทธิการรักษาต่อไป ให้ยาติดตัวไปเล็กน้อย พอที่เขาจะไปรักษาครั้งต่อไป และไม่กำเริบจนอันตรายก่อนจะไปหาหมอประจำ
หลังจากคุยและแนะนำจนคนไข้เข้าใจตัวโรค การดูแล และผลเสียจากการไม่รักษา ผู้ป่วยหายเหนื่อยและขอตัวกลับบ้าน วันนั้นลูกจ้างทำความสะอาดประจำร้านที่ควบตำแหน่งแพทย์ประจำคลินิก จึงเลิกงานค่ำพอสมควร แต่ก็ดีใจที่ได้เปลี่ยน mind set ของคนหนึ่งคน
สี่ปีที่ผ่านไป ไม่รู้ว่าเกิด airway remodelling แค่ไหน ค่ารักษาพยาบาลและค่าเสียโอกาสในการกำเริบแต่ละครั้งมากเพียงใด เข้าใจหมอและพยาบาลที่งานประจำหนักหนาจนไม่สามารถดูแลทุกปัญหา เข้าใจคนไข้ที่ต้องหาทางดูแลตัวเอง ถูกบ้างผิดบ้าง ตามแต่ข้อมูลที่ได้
นี่เพียงแค่เศษเสี้ยวเล็ก ๆ จาก "ปัญหาการเข้าถึงบริการสาธารณสุข" ที่ไม่ใช่แค่มีสิทธิการรักษาและมีเจ้าหน้าที่คอยให้บริการ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม