ความเสี่ยงโรคหัวใจใหม่ มีอะไรใหม่ แล้วหนักแน่นพอไหม
ความเสี่ยงโรคหัวใจ ที่เรารู้จักกันดี มีการศึกษาติดตามระยะยาวว่าเพิ่มความเสี่ยง และลดปัจจัยเสี่ยงนั้นโรคหัวใจก็ลดลง เรียกว่าไม่ต้องสงสัยกันอีก ก็มี อ้วน บุหรี่ เบาหวาน ความดัน ไตเสื่อม ชีวิตที่ไม่ค่อยขยับตัว อายุ
แต่ในยุคปัจจุบัน มีการศึกษามากมายตั้งข้อสงสัยด้วยกลไกการเกิดโรคว่า เอ กลไกแบบนี้ การเปลี่ยนแปลงทางเคมีชีวภาพแบบนี้ มันน่าจะนำไปสู่การเกิดโรคหัวใจขาดเลือด ก็เลยออกแบบการศึกษาแบบต่าง ๆ มาเพื่อหาความสัมพันธ์ของปัจจัยเสี่ยงที่สนใจกับการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ
** ความสัมพันธ์ อาจไม่ใช่ เป็นเหตุหรือเป็นผลกัน **
วารสาร American Journal of Medicine ลงตีพิมพ์ปัจจัยเสี่ยงใหม่ ๆ ที่สัมพันธ์ต่อโรคหลอดเลือดหัวใจ เมื่อเดือนที่แล้ว เราไปดูปัจจัยเหล่านั้นกันและผมจะประเมินเหตุผลและความหนักแน่น จากเอกสารอ้างอิงที่แนบมา
ปัจจัยโรคที่มีการอักเสบเรื้อรัง : โรค SLE, ข้ออักเสบรูมาตอยด์, ลำไส้อักเสบเรื้อรัง, โรคสะเก็ดเงิน
ปัจจัยเรื่องการตั้งครรภ์ : ความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์, เบาหวานขณะตั้งครรภ์, ทารกเกิดก่อนกำหนด, ทารกน้ำหนักตัวน้อย, ภาวะหมดประจำเดือนก่อนวัยอันควร
ปัจจัยเรื่องอุบัติเหตุรุนแรงเมื่อวัยเด็ก
ปัจจัยเรื่องสิ่งแวดล้อมคือเศรษฐานะที่ไม่ดีและมลภาวะทางอากาศ (โดยเฉพาะ pm 2.5)
ปัจจัยเรื่องการใช้ชีวิต คือ การทำงานที่หนักและยาวนานเกินไป, การงดอาหารเช้า, การกินน้ำตาลหรือสารให้ความหวานแทนน้ำตาล
ท่านอาจจะนึกว่า อิหยังวะ ดูมันไม่น่าจะเป็นไม่ได้ แน่นอนครับ มันไม่ได้เป็นเหตุเป็นผล มีปัจจัยก่อกวนรบกวนอีกมากมาย ใช่ครับ มันขึ้นกับผู้ศึกษาสนใจอะไร บางอย่างมันไม่ได้มีเหตุผลที่ดีที่สุด แต่มันกลับมีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าสัมพันธ์กัน
แล้วเราเชื่อการศึกษาความสัมพันธ์นี้ได้ไหม
ผมคงไม่ได้อธิบายทุกอ้างอิง แต่อ่านทุกอ้างอิง ก็ต้องบอกว่าหลักฐานเกือบทั้งหมดมาจาก registry หรือที่เรียกว่า cross sectional study ไปเค้นหาข้อมูลจากชุดข้อมูลที่เก็บไว้แล้ว อีกสองการศึกษาใช้การจำลองโมเดลทางคณิตศาสตร์ เรียกว่าระดับความหนักแน่นของหลักฐานไม่หนักแน่น ยังไม่สามารถพัฒนาระดับความสัมพันธ์ มาเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ชัดเจน เป็นเพียงทฤษฎีเล็ก ๆ ที่มีเหตุผลสนับสนุน
มีเพียงสองการศึกษาที่เป็นการศึกษาแบบตามไปข้างหน้าคือ การหมดประจำเดือนก่อนวัยอันควร และ โรคความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ นับว่าเป็นระดับหลักฐานที่ดีและหนักแน่นขึ้น แต่ก็เป็นการศึกษาที่มีกลุ่มตัวอย่างน้อยและระยะเวลาติดตามโรคไม่นาน เรียกว่าก็ยังไม่สามารถเอามาเป็นข้อสรุปปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของหัวใจและหลอดเลือกได้ อาจต้องใช้เวลาหรือการศึกษาที่มีขนาดใหญ่และวิธีการทำที่รัดกุมกว่านี้
สำหรับความเสี่ยงที่ปรับเปลี่ยนได้คือ โรคอักเสบเรื้อรังเช่น เอสแอลอี สะเก็ดเงิน มีคำถามว่าการรักษาโรคให้สงบนั้น ทำให้โอกาสการเกิดโรคหัวใจขาดเลือดลดลงไหม คำตอบคือ มีแนวโน้มเป็นเช่นนั้นแต่ว่าหลักฐานยังไม่ชัดเจนเท่าไร ต้องหาข้อมูลเพิ่ม
สรุปว่าปัจจัยเหล่านี้มีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าเพิ่มความเสี่ยงโรคหัวใจขาดเลือดจริง และยังคงต้องศึกษาต่อเนื่องว่าน้ำหนักของความเสี่ยงมากหรือน้อย รวมทั้งจะปรับเปลี่ยนได้อย่างไร ต้องรอดูข้อมูลต่อไป ตอนนี้จัดการปัจจัยเสี่ยงที่จัดการได้ชัดเจนก่อนนะครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น