ไม่ใช่ว่าอาการบวมทุกอย่างจะแก้ได้ด้วยยาขับปัสสาวะยอดนิยมที่มักจะใช้ลดบวม : furosemide
ผมเคยเจอผู้ป่วยหลอดเลือดดำอุดตันจนขาบวม แล้วได้ยาขับปัสสาวะตัวนี้มา ผู้ป่วยบอกว่าเป็นยาลดบวม เคยเจอผู้ป่วยเป็นผิวหนังอักเสบ cellulitis และมีอาการบวม ผู้ป่วยไปซื้อยาขับปัสสาวะมากิน รายแรกโชคดีที่ไม่เกิดผลแทรกซ้อน แต่รายที่สองพบเกลือแร่ในเลือดต่ำรุนแรง
อาการบวมเกิดจากน้ำนอกเซลล์มีมากเกินกักเก็บ ที่เราเห็นบวมจะเป็นการบวมที่เนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่เรียกว่า interstitial edema ที่อาจจะเกิดจากสารน้ำใน interstitial space ช่องว่างระหว่างเซลล์มีมากเกิน เช่น เกิดผนังหลอดเลือดรั่ว เกิดท่อน้ำเหลืองอุดตัน หรืออาจเกิดสารน้ำในหลอดเลือดมีมากเกินจะดันออกมา เช่น บวมจากหัวใจวาย บวมจากไตวาย
จริงอยู่ว่า สารน้ำทั้งนอกและในหลอดเลือดมันไหลถึงกันได้ แต่เราจะรักษาอาการ "บวม" ด้วยยาขับปัสสาวะในกรณีที่อาการบวมนั้นมีปฐมเหตุจากน้ำในหลอดเลือดปริมาณมาก แรงดันมันสูงมากเป็นหลัก ข้อบ่งชี้ที่ชัดเจนคือ บวมจากหัวใจล้มเหลว บวมจากไตเสื่อมเรื้อรังและโรคไตเนโฟรติก บวมจากตับแข็งบางชนิด (โดยเฉพาะที่มีขาบวมร่วมด้วย) ภาวะ SIADH
ส่วนอีกข้อที่ไม่ได้บวม แต่มีที่ใช้คือ การรักษาโรคความดันโลหิตสูง (แต่อันนี้ใช้ furosemide น้อยนะครับ ส่วนมากเป็นยากลุ่ม thiazide)
ถ้าบวมจากเหตุอื่นเช่น ติดเชื้อแล้วบวม หลอดเลือดหลอดน้ำเหลืองตัน ปฏิกิริยาภูมิแพ้ โปรตีนในเลือดต่ำ เราก็ไม่ใช้ยาขับปัสสาวะมาลดบวม บางรายอาจยุบลงบ้าง แต่ที่อันตรายคือ อาจทำให้เกลือแร่ในเลือดต่ำมาก (ยาไปหยุดยั้งการดูดกลับที่ท่อไต) ทำให้น้ำในหลอดเลือดลดลงจนความดันโลหิตต่ำได้ และอาจทำให้ค่าการทำงานของไตแย่ลงได้ด้วย เรียกว่าได้ไม่คุ้มเสีย เพราะบวมอาจไม่มีอันตรายเท่าไร แต่ยาลดบวมมันเกิดอันตรายสูง (หากใช้ในกรณีไม่จำเป็น)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น