29 กันยายน 2563

หลอดเลือดหัวใจบีบตัว

 มาเรียนแบบเร็ว ๆ เวลาเราน้อย

หลอดเลือดหัวใจบีบตัว

สำหรับประชาชนทั่วไป เรามารู้จักอีกโรคนะครับ ส่วนบุคลากรทางการแพทย์และน้อง ๆ หมอ นอกจากอ่านสรุปในบทความแล้ว แนะนำให้ไปอ่านจากฉบับจริง ฟรีครับ

ปกติหลอดเลือดหัวใจตีบเฉียบพลัน เกือบทั้งหมดจะเกิดจากตะกรันไขมันอักเสบที่พอกหนาในหลอดเลือดเกิดแตกออกแล้วตัน การรักษาก็ต้องทะลวงจุดตัน แล้วค้ำยันด้วยขดลวด แต่จะมีบางส่วนเล็กน้อยที่การตีบแคบไม่ได้เกิดจากการตัน แต่เกิดจากการบีบรัดของหลอดเลือดหัวใจ (coronary atery spasm) จากกล้ามเนื้อรอบหลอดเลือดตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นบางประการ บีบแล้วคลายออกเอง เนื่องจากบีบแล้วเลือดก็ไม่ไหลเหมือนกัน อาการจึงออกมาเป็นหลอดเลือดตีบและกล้ามเนื้อหัวใจตายเหมือนกัน

เรื่องราวของชายอายุ 60 ปี ที่เคยมีหลอดเลือดหัวใจตีบตันที่หลอดเลือดแดงหัวใจแขนงหนึ่งชื่อ left anterior descending artery ได้รับการแก้ไขและใส่ขดลวดค้ำยันแล้ว ต่อมาเขามีอาการเจ็บแน่นหน้าอกขึ้นมาอีก และตามมาด้วยอาการหัวใจล้มเหลว ภาพคลื่นไฟฟ้าหัวใจมีความผิดปกติดังรูปแรก เข้าได้กับกล้ามเนื้อหัวใจด้านล่างและด้านหลังเกิดขาดเลือด และมีการนำไฟฟ้าหัวใจที่ผิดปกติ

หลอดเลือดตีบเฉียบพลัน
หัวใจวายเฉียบพลัน
การนำไฟฟ้าผิดปกติเฉียบพลัน
นี่คือข้อบ่งชี้ของการรักษาเฉียบพลัน ตามทีมด่วน !!

แต่ก่อนที่ทีมจะมาถึงผู้ป่วยได้รับการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจซ้ำ ปรากฏว่าการนำไฟฟ้าที่ผิดปรกติกลับมาเป็นปรกติ คลื่นไฟฟ้าที่บ่งบอกอาการการจากเลือดเฉียบพลันนั้นดีขึ้นมากจนเกือบหายไป เกิดอะไรขึ้น เขาห้อยพระอะไร !!

สุดท้ายเมื่อตรวจฉีดสีพบว่ามีการตีบแคบของหลอดเลือดหัวใจแขนง right coronary artery สามารถอธิบายอาการนี้ได้ และเมื่อฉีดยาขยายหลอดเลือด nitroglycerin เข้าไปก็พบว่าหลอดเลือดกลับมาขยายขนาดปรกติ หลอดเลือดอื่นปรกติ

สรุปว่าผู้ป่วยมีอาการบีบตัวรุนแรงของกล้ามเนื้อเรียบรอบหลอดเลือด เป็นภาวะที่พบประมาณ 3-10% และพบมากขึ้นเมื่ออายุมาก ปัจจัยเสี่ยงและเหตุกระตุ้นที่พบบ่อยคือ ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ใช้ยาหรือสารที่มีฤทธิ์ตีบหลอดเลือดรุนแรงเช่น โคเคน การออกกำลังกายหนัก (พบน้อยนะครับ ห้ามใช้เป็นข้ออ้างการไม่ออกกำลังกาย) แน่นอนว่าการตรวจคงต้องฉีดสีตรวจหลอดเลือดและฉีดยาดูการตอบสนองของกล้ามเนื้อหลอดเลือด ส่วนการรักษาในระยะยาว นอกจากหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงและปัจจัยกระตุ้น คือการใช้ยาขยายหลอดเลือดกลุ่ม calcium channel blocker หรือ nitrates ครับ

อีกหนึ่งโรคที่น่าสนใจ ในวารสารฉบับเต็มเขียนรายละเอียดไว้ดีมาก น้อง ๆ หมออยาลืมเข้าไปอ่านนะครับ ฟรี และอย่าดอง

Thakkar AB, Goldschlager N. Right Coronary Artery Vasospasm Presenting as Complete Atrioventricular Block. JAMA Intern Med. 2020;180(9):1244–1245. doi:10.1001/jamainternmed.2020.2361

ไม่มีคำอธิบายรูปภาพ
ไม่มีคำอธิบายรูปภาพ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม