มารู้จัก AI กันหน่อย
AI พระเอกของเราวันนี้คือ aromatase inhibitors ตัวยับยั้งฮอร์โมนอาโรมาเทส ที่มีบทบาทสำคัญสำหรับการรักษาและป้องกันโรคมะเร็งเต้านม
1. ฮอร์โมนเพศหญิงนั้น กำหนดการทำงานของอวัยวะหลายอย่าง ที่สำคัญคือเต้านมและอวัยวะสืบพันธุ์ทั้งมดลูกและรังไข่ นั่นหมายถึงเนื้องอกและมะเร็งที่มาจากอวัยวะเหล่านี้ด้วย หากฮอร์โมนเพศพร่องลงไปการตอบสนองของอวัยวะต่าง ๆ เหล่านี้รวมถึงมะเร็งก็จะลดการตอบสนองลง จนถึงฝ่อยุบไป
2. เป็นที่มาของการรักษามะเร็งเต้านมที่มีตัวรับฮอร์โมน โดยการใช้ยาหยุดการทำงานของเซลล์ที่มีตัวรับฮอร์โมน ที่เรียกว่า selective estrogen receptor modulator (SERM) ยากลุ่มนี้จะไปจับกับตัวรับฮอร์โมนของเซลล์ แต่ส่งสัญญาณให้เซลล์ทำงานต่างออกไปจากฮอร์โมนเพศปกติ ในที่นี้สำหรับมะเร็งคือทำให้เซลล์หยุดทำงาน เราสามารถใช้ยานี้เพื่อมาแทนยาเคมีบำบัดได้เพราะผลข้างเคียงน้อยกว่ามาก
3. สำหรับหญิงที่ยังมีประจำเดือน เราจะใช้ยาที่ชื่อว่า tamoxifen เป็นหลัก แต่สำหรับหญิงวัยหมดประจำเดือนที่ฮอร์โมนเพศหญิงไม่ได้มาจากรังไข่เป็นหลักนั้น เราจะไปยับยั้งฮอร์โมน อาโรมาเทส ที่จะคอยสร้างฮอร์โมนเพศหญิงจากต่อมหมวกไต เนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง เพราะตอนนี้รังไข่เริ่มหยุดทำงานแล้ว ยาที่ใช้เช่น letrozole
4. นอกจากมะเร็งแล้วการใช้ยา SERM ยังใช้ในโรคอีกหลายโรคโดยเฉพาะโรคกระดูกพรุน และเราพบว่าคนที่ใช้ยาเหล่านี้มีโอกาสเกิดมะเร็งเต้านมลดลง !! เช่นการใช้ยา raloxifene ในการรักษาโรคกระดูกพรุน ทำให้ต่อมามีการศึกษาอย่างจริงจังในการป้องกันมะเร็งเต้านมโดยใช้ยา SERM ในคนที่เสี่ยงเกิดมะเร็งเต้านม เช่นการศึกษา Breast Cancer Prevention Trial หรือการศึกษาที่ชื่อ Study of Tamoxifen and Raloxifene ที่พบว่ายาทั้งสองสามารถลดโอกาสการเกิดมะเร็งเต้านมลงได้ 49%
5. ส่วนยาที่ยับยั้งเอนไซม์อาโรมาเทสที่มีเป้าหมายที่หญิงวัยหมดประจำเดือน มีการศึกษาเช่นกันคือการศึกษาชื่อ MAP.3 ที่พิสูจน์ว่ายา exemestane สามารถลดโอกาสเกิดมะเร็งเต้านมลงได้ในหญิงหมดประจำเดือนที่มีความเสี่ยงสูง และหน่วยงานโรคมะเร็งของอเมริกา ASCO ได้แนะนำการให้ยา exemestane เป็นตัวเลือกหนึ่งในการป้องกันโรคมะเร็งในหญิงเสี่ยงสูง (ย้ำว่าเป็นแค่ทางเลือกเท่านั้น) เราเริ่มเห็นข้อมูลของการป้องกันมะเร็งเต้านมมากขึ้นเรื่อย ๆ
6. เรามาถึงข้อมูลของยาอีกตัวคือ anastrazole ที่เป็นยายับยั้งอาโรมาเทสรุ่นที่สาม มีการปรับปรุงเพื่อลดผลเสียของยาลงมามากแล้ว เรื่องการรักษาหลังจากการผ่าตัดนั้น ไม่เป็นที่กังขาว่าสามารถใช้ได้และแนะนำให้เสมอหากเป็นผู้ป่วยมะเร็งที่มีตัวรับฮอร์โมน สำหรับหญิงวัยหมดประจำเดือน เช่นกันกับในข้อ 5 ก็จะการให้ยาเพื่อป้องกันการเกิดมะเร็งเต้านมในหญิงที่เสี่ยงสูง ชื่อการศึกษาว่า IBIS-II และการศึกษาติดตามผลต่อเนื่องของ IBIS-II (ไอบิสทู ให้ยาและติดตามการรักษาห้าปี ส่วนการศึกษาติดตามผลต่อเนื่องนั้นติดตามไปอีกเจ็ดปี)
7. เรามาดูแนวคิดของการศึกษาไอบิสทูคร่าว ๆ กัน เขาเอาคนที่ยังไม่เป็นมะเร็งเต้านม ที่หมดประจำเดือนแล้ว ไม่ได้รับยาฮอร์โมนทดแทนใด ๆ ที่สำคัญคือต้องมีความเสี่ยงสูง นำมาแบ่งกลุ่มให้ยา anastrazole ขนาดหนึ่งมิลลิกรัมต่อวัน เทียบกับยาหลอก ต่อเนื่องกันนานห้าปี แล้วมาวัดผลว่าโอกาสการเกิดมะเร็งเต้านมต่างกันแค่ไหน และติดตามต่อเนื่อง แต่ไม่ได้ให้ยาอีกว่าผลของการลดการเกิดนี้จะยังส่งผลต่อเนื่องอีกหรือไม่ เป็นการศึกษาวิจัยทางคลินิกที่เชื่อถือได้ ...และบริษัทผู้ผลิตยาคือแอสตร้าซีเนก้าและซาโนฟี่ อเวนติส มีส่วนสนับสนุนงานวิจัยแต่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการและการคำนวณผล (ผู้ทำวิจัยหลักคือหน่วยงาน Cancer Research UK.)
8. คำว่าเสี่ยงสูงที่สำคัญคือ มีญาติสายเลือดเดียวกันป่วยเป็นโรคมะเร็งเต้านม ซึ่งความเสี่ยงในญาติชั้นปฐมภูมิ คือ พ่อแม่ พี่น้องจากพ่อแม่เดียวกัน หรือลูก จะเสี่ยงมากกว่าญาติทางทุติยภูมิ ทำแมมโมแกรมแล้วผิดปกติมากกว่าครึ่ง หรือเป็นเนื้องอกผิดปกติตั้งแต่เริ่มแรก
*** ไม่ได้ให้ทุกคนหรือเหมาะสมกับทุกคนนะครับ ***
*** ไม่ได้ให้ทุกคนหรือเหมาะสมกับทุกคนนะครับ ***
9. ผลการศึกษาในช่วงห้าปีแรกที่ให้ยา จากกลุ่มตัวอย่าง 3864 ราย พบว่ากลุ่มที่ได้รับยามีโอกาสการเกิดมะเร็งเต้านมน้อยกว่ากลุ่มที่ได้ยาหลอก 53% ลดลงเยอะมากทีเดียว และกลุ่มที่ลดลงมาก ๆ นี้ส่วนใหญ่คือมะเร็งที่มีตัวรับฮอร์โมนนั่นเอง โดยที่มีคนติดตามกินยาตลอดการรักษาประมาณ 70% และเมื่อติดตามต่อไปอีกกลุ่มคนที่เคยได้รับยา anatrazole ก็ยังคงมีอัตราการเกิดมะเร็งเต้านมน้อยกว่ากลุ่มที่ได้ยาหลอกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แม้ว่าขนาดการป้องกันจะลดลงเล็กน้อย (49%) แต่ก็ถือว่ามีความสำคัญ และกลุ่มมะเร็งที่ลดได้ชัดเจนคือกลุ่มมะเร็งเต้านมที่มีตัวรับฮอร์โมนเหมือนเดิม และแม้ติดตามระยะยาว ผลข้างเคียงอันรุนแรงพบน้อยมาก แต่ผลข้างเคียงอันน่ารำคาญเช่น สะบัดร้อนหนาว ท้องเสีย พบพอ ๆ กับยาหลอกเลย
10. ตอนนี้ข้อมูลการใช้ยา SERM และ AI ออกมาชัดเจนมากขึ้นสำหรับการป้องกันการเกิดมะเร็งเต้านมชนิดมีตัวรับฮอร์โมน และยังเห็นผลการป้องกันมะเร็งอื่นด้วย ตามการศึกษาคือมะเร็งลำไส้ใหญ่และมะเร็งผิวหนังบางชนิด (แต่นี่เป็นข้อมูลผลพลอยได้ ไม่ใช่เป้าหลักงานวิจัย) อนาคตเราอาจจะเห็นคำแนะนำที่หนักแน่นกว่านี้ โดยจะต้องมีข้อมูลเพิ่มเติมโดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลลดอัตราการเสียชีวิต และมะเร็งเต้านมชนิดที่ไม่มีตัวรับฮอร์โมน
ค้นต่อ อ่านเพิ่มได้ที่นี่
1. Int J Clin Pract. 2007 Dec; 61(12): 2051–2063.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น