08 มกราคม 2563

5 เรื่องจากใน 10 เรื่องที่มีคนอ่านมากที่สุดในวารสาร JAMA ปี 2019

5 เรื่องจากใน 10 เรื่องที่มีคนอ่านมากที่สุดในวารสาร JAMA ปี 2019 ไม่ได้หมายความว่าเป็นเรื่องที่ดีที่สุดหรือถูกต้องที่สุดนะครับ หมายถึงเป็นเรื่องที่คนสนใจอ่าน หรืออาจจะเอาไปต่อยอดเป็นแนวทางของโลกอนาคตได้ (ทำไมวันนี้สำนวนโคตรหล่อเลย) ผมเลือกเรื่อง 5 เรื่องที่สามารถนำมาคิดต่อและปรับปรุงประยุกต์ใช้ต่อเนื่องต่อไปได้
1. ความรู้ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์มีการเปลี่ยนแปลงและความเห็นหลากหลาย จะต้องมีการพิสูจน์และคิดให้รอบคอบก่อนตัดสินใจนำไปใช้ และหมายรวมถึงความไม่จีรังยั่งยืนของความคงอยู่ความรู้ในหลายสาขา จงเปิดใจให้กว้าง อย่าเป็นน้ำเต็มแก้ว ปรับตัวและใช้ข้อมูลให้เกิดประโยชน์สูงสุด
อาหารโคเลสเตอรอล ไข่ กับการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ข้อมูลที่ผ่านมาบอกว่าอาหารโคเลสเตอรอลเพิ่มการเกิดโรคหัวใจ ส่วนข้อมูลของการกินไข่พบว่าไม่ทำให้เกิดโรคหัวใจมากขึ้น งานวิจัยแบบรวบรวมงานวิจัยต่าง ๆ ที่เป็นการติดตามกลุ่มคน 29,615 รายติดตามไป 17 ปี ยังยืนยันว่าการกินโคเลสเตอรอลเพิ่มจากที่ควรเป็น (ไม่เกิน 300 มิลลิกรัมต่อวัน) จะเพิ่มอัตราการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด 17% ส่วนการบริโภคไข่เพิ่มกว่าปกติ (ประมาณหนึ่งฟองต่อวัน) เพิ่มอัตราการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด 6% อันนี้จะเพิ่มขึ้นประมาณครึ่งฟองจากปรกติ แต่ว่าการศึกษานี้ไม่ได้รวบรวมจากการทดลอง เกือบทั้งหมดมาจากการศึกษาแบบติดตามเฝ้าดู
Zhong VW, Van Horn L, Cornelis MC, et al. Associations of Dietary Cholesterol or Egg Consumption With Incident Cardiovascular Disease and Mortality. JAMA. 2019;321(11):1081–1095. doi:https://doi.org/10.1001/jama.2019.1572
2. การควบคุมสินค้าและบริการ รวมถึงกฎหมายจะต้องมีการปรับปรุงให้เข้ากับยุคสมัยและความรู้ใหม่ที่เกิดขึ้น หากไม่ปรับจะทำให้ไม่สามารถควบคุม หรือเกิดอันตรายต่อไปได้ ส่วนผู้บริโภคเอง โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพ จำเป็นต้องปรับปรุงความรู้ให้ก้าวหน้า เหมือนข้อบังคับ ข้อกฎหมายเช่นกัน คนที่ช้า อาจไม่สามารถอยู่รอดได้
ครีมกันแดดกับระดับยาในเลือด ในอดีต องค์การอาหารและยาสหรัฐบอกว่าความปลอดภัยของครีมกันแดดคือวัดระดับสารเคมีในเลือดไม่เกิน 0.5 นาโนกรัมต่อมิลลิลิตร การศึกษาทดลองนี้ทำในอาสาสมัคร 24 คนให้ใช้สารกันแดด 4 ยี่ห้อที่มีทั้งแบบโลชั่น สเปรย์ ครีม ทาอย่างน้อย 2 มิลลิกรัมต่อผิวหนึ่งตารางเซนติเมตร วันละสี่ครั้ง ต่อเนื่องกัน 4 วัน ต้องทาอย่างน้อย 75% ของพื้นที่ผิวกาย แล้วติดตามผลเลือด พบว่าสารเคมีที่เป็นข้อกำหนดนั้น เกือบทั้งหมดมีระดับที่เกิน 0.5 นาโนกรัมต่อมิลลิตร แต่ก็ยังไม่ได้บอกว่าที่เกินนั้นจะเกิดผลเสียใด ที่พบในการทดลองแค่ระคายเคือง ดังนั้นอาจจะต้องมาทบทวนการควบคุมอีกครั้ง (regulations)
Matta MK, Zusterzeel R, Pilli NR, et al. Effect of Sunscreen Application Under Maximal Use Conditions on Plasma Concentration of Sunscreen Active Ingredients: A Randomized Clinical Trial. JAMA. 2019;321(21):2082–2091. doi:https://doi.org/10.1001/jama.2019.5586
3. การปรับปรุงและดูแลตัวเอง ยังเป็นสิ่งสำคัญและคลาสสิก ไม่เสื่อมตามกาลเวลา ไม่ว่าความรู้ด้านการรักษาหรือสาเหตุการเกิดโรคจะก้าวล้ำเพียงใด การดูแลตัวเองก็ยังสำคัญมากที่สุด ปรับได้ง่ายที่สุด ใช้ค่าใช้จ่ายน้อย และไม่มีโทษใด ๆ และควรเริ่มตั้งแต่..วันนี้
วิถีชีวิตและพันธุกรรมกับการเกิดภาวะสมองเสื่อม เรามีความรู้มากขึ้นว่าการเกิดสมองเสื่อมโดยเฉพาะอัลไซเมอร์เกิดจากโปรตีนเบต้าอะไมลอยด์ไปสะสมในเซลล์สมอง เหตุของการสะสมเกิดจากพันธุกรรมระดับยีนที่ผิดปกติ และการใช้ชีวิตที่เสี่ยงต่อการเกิดโรค งานวิจัยนี้ได้รวบรวมข้อมูลการศึกษาย้อนหลังเพื่อดูความเสี่ยงของทั้งพันธุกรรมที่ผิดปกติ และการใช้ชีวิตว่าส่งผลต่อการเกิดสมองเสื่อมหรือไม่ พบว่าถ้าพันธุกรรมเสี่ยงและพฤติกรรมไม่ดีจะเสี่ยงสมองเสื่อมเพิ่ม 2.83 เท่า พันธุกรรมอย่างเดียว 1.23 เท่า ส่วนการปฏิบัติตัวที่ผิดปกติอย่างเดียวเสี่ยงเพิ่ม 1.78 เท่า และการปรับพฤติกรรมเสี่ยงคือ งดบุหรี่ ออกกำลังกายเป็นประจำ กินอาหารห้าหมู่ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์มากไป จะช่วยลดโอกาสเกิดสมองเสื่อมลงได้ เพราะเราปรับพันธุกรรมยังไม่ได้นั่นเอง
Lourida I, Hannon E, Littlejohns TJ, et al. Association of Lifestyle and Genetic Risk With Incidence of Dementia. JAMA. 2019;322(5):430–437. doi:https://doi.org/10.1001/jama.2019.9879
4. สิ่งแวดล้อม กลายเป็นประเด็นสำคัญที่จะมามีผลต่อสุขภาพเราทั้งตัวบุคคลและโดยรวม การดูแลเอาใจใส่สิ่งแวดล้อมจะส่งผลกลับมาสู่สุขภาพที่ดีของเรา และยังส่งต่อสิ่งที่ดีให้กับลูกหลานคนรุ่นหลัง อย่าคิดว่าตัวเราไม่มีผล หรือเราทำผิดพลาดเล็กน้อยไม่มีผลต่อภาพรวม สิ่งเหล่านี้ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกคน ทุกที่และทุกเวลา
มลภาวะทางอากาศกับสุขภาพปอด (วารสารนี้ไม่ฟรี) ภาวะโลกร้อน มลพิษ ฝุ่นควัน ต้องยอมรับว่าส่วนหนึ่งมาจากการกระทำของเราทุกคน และสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ส่งผลกระทบต่อเราแน่นอน การศึกษาแบบเฝ้าติดตามข้อมูลสิบปี 2008-2018 ในอเมริกา จากกลุ่มตัวอย่าง 5,780 รายเปรียบเทียบคนที่สัมผัสมลภาวะทางอากาศสี่ชนิดคือ โอโซน, ฝุ่นPM.5, ออกไซด์ของไนโตรเจน และ ฝุ่นคาร์บอน ว่าภาพถ่ายเอ็กเรย์คอมพิวเตอร์ทรวงอกของคนกลุ่มนี้มันจะมีถุงลมโป่งพองมากกว่าคนปรกติหรือไม่ จากการติดตามไปสิบปีนี้ก็พบว่าภาพรังสีของคนที่สัมผัสมลภาวะทางอากาศเข้าได้กับโรคถุงลมโป่งพองมากกว่าคนปรกติ (ภาพรังสีนะครับ ไม่ใช่อาการหรือการวินิจฉัย) และหากสัมผัสโอโซนและออกไซด์ของไนโตรเจนต่อไป ก็จะยิ่งทำให้สมรรถภาพปอดแย่ลงด้วย อย่าคิดว่าเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องไกลตัว
Wang M, Aaron CP, Madrigano J, et al. Association Between Long-term Exposure to Ambient Air Pollution and Change in Quantitatively Assessed Emphysema and Lung Function. JAMA. 2019;322(6):546–556. doi:https://doi.org/10.1001/jama.2019.10255
5. work life balance คือแนวทางในยุคปัจจุบัน หมดยุคที่จะทำงานจนสุขภาพเสื่อมถอย เงินที่มากมายอาจไม่คุ้มกับสุขภาพที่แย่ลง การจัดการสมดุลของสุขภาพกาย ภาระหน้าที่การงาน และครอบครัว จึงเป็นแนวทางที่ยอมรับในปัจจุบัน ทั้งตัวพนักงานและผู้ประกอบการ
สุขภาวะที่ทำงานกับสุขภาพของพนักงาน การศึกษาทดลองที่ทำงานว่าเมื่อเข้าสู่โครงการ จัดที่ทำงานเพื่อสุขภาพ พนักงานจะมีสุขภาพดีขึ้นไหม เป็นการวัดผลระยะสั้น 18 เดือน ศึกษาในพนักงาน 32,974 ราย พบว่าการายงานตัวเองว่าออกกำลังกายเพิ่มขึ้นเป็น 69.8% เทียบกับ 61.9% ของที่แบบเดิม และรายการการควบคุมน้ำหนักตัวได้ถึงเป้าหมายถึง 69.2% เทียบกับ 54.7% ของที่ทำงานแบบเดิม ส่วนเรื่องการตรวจโรคต่าง ๆ ค่าใช้จ่ายทางสุขภาพยังไม่เห็นความแตกต่างเพราะวัดผลสั้นแค่ 18 เดือน ดูแนวโน้มการมีที่ทำงานแบบเฮลท์ตี้น่าจะดี แต่กระนั้นการศึกษานี้พบว่ามีพนักงานมาใช้ทรัพยากรต่าง ๆ เป็นประจำแค่ 40% เท่านั้นเอง คงต้องจัด mindset ให้ดีกว่านี้
Song Z, Baicker K. Effect of a Workplace Wellness Program on Employee Health and Economic Outcomes: A Randomized Clinical Trial. JAMA. 2019;321(15):1491–1501. doi:https://doi.org/10.1001/jama.2019.3307
สุขภาพดีทำได้เริ่มง่ายง่ายที่คุณเอง
สุขภาพเหมือนนักเลงต้องทำเองถึงได้มา
สุขภาพไม่มีลัดมีวินัยใช้เวลา
สุขภาพมีคุณค่าเมื่อได้มาอย่าทิ้งไป
ปล. อะไรมันจะรักการอ่านขนาดนั้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม