12 กันยายน 2562

แนวทางเรื่องหัวใจเต้นผิดจังหวะแบบ supraventricular tachycardia 2019

สำหรับแนวทางเรื่องหัวใจเต้นผิดจังหวะแบบ supraventricular tachycardia ตัวแนวทางออกมาให้กับแพทย์เป็นหลัก สำหรับคุณหมอที่ทำงานเกี่ยวพันกับห้องฉุกเฉินจะต้องทราบการจัดการเร่งด่วน และการแยกชนิด SVT ต่าง ๆ ออกจากกันซึ่งในแนวทางนี้เขียนละเอียดมาก เป็นการทบทวนสรีรวิยาไฟฟ้าหัวใจได้ดี สำหรับแพทย์เฉพาะทางอายุรศาสตร์ทุกสาขา เป็นสิ่งที่ต้องรู้อย่างแน่นอนครับ การทำ valsalva วิธีต่าง ๆ การใช้ยา การทำช็อกหัวใจด้วยไฟฟ้า
แต่สำหรับประชาชนทั่วไป สิ่งที่ผมอยากจะบอกมีไม่กี่ประเด็นเท่านั้นครับ
1. โรคหัวใจเต้นเร็ว สำหรับคุณหมออาจจะต้องมีโรคที่ต้องแยกออกมากมาย สำหรับประชาชนอย่างเรา อาการใจสั่นถือเป็นสิ่งที่คุกคามชีวิตมากเพราะเราไม่ทราบว่ามันจะเป็นอะไรและร้ายแรงหรือไม่ ในกรณีรุนแรงจะมีอาการที่ชัดเจนเช่น หมดสติ ล้ม เหงื่อออก เหนื่อย อันนี้ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาล แต่ถ้ารู้สึกว่าใจสั่นใจเต้นเร็วเท่านั้น ให้วัดอัตราเต้นชีพจรและลองจับชีพจรว่าเต้นแรงสม่ำเสมอหรือไม่ เพราะบางทีเวลาไปหาหมอแล้วอาการอาจหายไปแล้ว แต่ไม่ใช่ว่าจับชีพจรแล้วนอนอยู่บ้านนะครับ ต้องไปหาคุณหมอด้วย โชคดีที่ส่วนมาก SVT มักจะมีอาการชัดเจนครับ
2. เมื่อคุณไปถึงโรงพยาบาล แน่นอนว่านอกจากการวัดสัญญาณชีพตามปรกติแล้ว คุณจะได้รับการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจอย่างแน่นอน การบันทึกด้วยคลื่นไฟฟ้าหัวใจชนิด 12 leads คือการตรวจมาตรฐาน สามารถแยกความผิดปกติได้มากมาย การจัดการเบื้องต้นหรือบางทีจนสุดท้ายก็อาศัยคลื่นไฟฟ้าหัวใจนี้เอง ในกรณีที่คุณมีเครื่องบันทึกที่ข้อมือ อาจจะช่วยวินิจฉัยได้ แต่ยังไม่ใช่การตรวจมาตรฐาน
3. คุณจะได้รับการจัดกลุ่มออกเป็นสองกลุ่มหลักคือ ระบบไหลเวียนเริ่มอันตราย กับระบบไหลเวียนคงที่
3.1 ในกรณีระบบไหลเวียนคงที่ ทั้งคุณและหมอจะมีเวลาหายใจหายคอ หาสาเหตุและวิเคราะห์ได้ดีขึ้น คำแนะนำแรกคือการกระตุ้นระบบประสาทพาราซิมพาเธติกที่ทำให้หัวใจเต้นช้า เช่น ให้เบ่ง ให้เป่าหลอดฉีดยาจนกระบอกฉีดเคลื่อนที่ ใช้แรงเยอะนะครับ การทำให้อาเจียน หรือคุณหมอเป็นคนทำโดยการกดหลอดเลือดที่ต้นคอ กดทีละข้าง การทำแบบนี้ช่วยรักษาและวินิจฉัยได้ด้วย หากไม่สำเร็จจะใช้ยา
3.2 ในกรณีระบบไหลเวียนเริ่มเรรวน ไม่ว่าความดันโลหิตตกลง หรือหมดสติ สับสน คุณหมอจะใช้การช็อกหัวใจด้วยไฟฟ้า จะมีการให้ยาแก้ปวดและยาช่วยให้เคลิ้มและสงบทางหลอดเลือดดำ แล้ววางเครื่องกระตุกไฟฟ้าเมื่อสัณญาณหัวใจได้ที่จะทำการกระตุก แน่นอนว่าจะเจ็บปวดบ้าง แต่อย่างไรก็ต้องทำเพื่อช่วยชีวิต
4.ในกรณีต้องให้ยา ยาที่แพร่หลายและจะได้รับเป็นตัวแรกคือยาฉีด adenosine ความสำคัญคือคุณจะได้รับการใส่สายน้ำเกลือบริเวณใกล้หัวใจมากสุด โดยทั่วไปจะที่ข้อพับแขน ที่หัวไหล่ หรือทางต้นคอ อย่าลืมว่าเรามีเวลาเพราะใช้ยาในกรณีระบบไหลเวียนยังดี ยาฉีด adenosine มีเกือบทุกที่ทุกโรงพยาบาล หลังจากฉีดจะช่วยการวินิจฉัยและรักษาได้ดี คุณจะรู้สึกวูบไปชั่วขณะ และคุณหมอกับทีมจะเตรียมกู้ชีวิตหากเกิดเหตุไม่คาดคิด ถ้ายานี้ไม่ได้ผลจะมียาฉีดอีกสองสามชนิด คือยาฉีด beta blocker หรือ CCB (calcium channel blocker) แต่ว่าไม่ได้มีแพร่หลายเหมือนชนิดแรก คุณหมออาจเลือกวิธีช็อกด้วยไฟฟ้าหากยาไม่ได้ผล หรือไม่มียาอื่น
5. ตอนนี้คุณจะปลอดภัยในระดับหนึ่งแล้ว การรักษาที่พอรอได้จะทำต่อไป ไม่ว่าการใช้ยา การตรวจเพิ่มเติม รอผลเลือดหรือส่งต่อไปรักษา เพราะส่วนใหญ่ของ SVT สามารถรักษาได้โดยการตรวจระบบนำไฟฟ้าหัวใจ ซึ่งต้องใส่สายสวนและทำลายวงจรนำไฟฟ้า ที่จะต้องส่งไปห้องแล็บเฉพาะ
6.สำหรับโรงพยาบาลระดับใหญ่ขึ้น อายุรแพทย์ อายุรแพทย์โรคหัวใจ แพทย์ประจำบ้าน จะต้องไล่เรียงความผิดปกติที่ระดับต่าง ๆ เพราะรักษาต่างกัน รู้จักยาควบคุมการเต้นและปรับไฟฟ้าห้วใจทั้งหมดเป็นอย่างดี ส่วนการใส่สายเพื่อตรวจสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจและการใข้คลื่นวิทยุความถี่สูงเพื่อทำลายวงจรไฟฟ้า ให้ช่างไฟฟ้าหัวใจที่เขาเชี่ยวชาญกว่ารักษาครับ
7.สำหรับ SVT ควรยกเว้นกฏ..คิดอะไรไม่ออกบอก amiodarone นะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม