แล้วถ้าฉันเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเรื้อรัง ฉันควรปฏิบัติตัวอย่างไร ?
เมื่อได้รับการจัดกลุ่มเรียบร้อยว่าจะต้องใช้ยา จะต้องไปฉีดสีและขยายหลอดเลือด หรือต้องตรวจเพิ่มเติม สุดท้ายปลายทางต้องมาอยู่ที่ตัวเรา ผู้ป่วยอย่างเราที่ต้องอยู่กับตัวเอง แล้วเราจะทำอย่างไรดี เรื่องการใช้ยาคงต้องใข้อย่างเคร่งครัดตามที่แพทย์และเภสัชกรสอนอยู่แล้ว (คุณหมอและคุณเภสัชต้องอ่าน pharmacological management อย่างละเอียดนะครับ) แล้วอย่างอื่นล่ะ เอ้า เรามาดูแนวทางกันเรียงข้อเลยนะ
1. เลิกบุหรี่ อันนี้เป็นคำแนะนำอันดับหนึ่งมาตลอด ต้องเลิกสนิท สูบแม้แต่มวนเดียวต่อวันก็เสี่ยง ผมแนะนำว่าวิธีอะไรก็ได้ที่ทำให้เลิกได้ จะหักดิบ ใช้สารทดแทนนิโคติน หรือยาเลิกบุหรี่ก็ได้ และไม่กลับมาสูบอีก คำถามเรื่องบุหรี่ไฟฟ้า บอกว่าเป็นตัวช่วยลดความเสี่ยงจากบุหรี่มวนปกติได้ แต่ว่าอันตรายไม่เป็นศูนย์ ทางที่ดีควรเลิกหมด แม้บุหรี่ไฟฟ้าจะไม่เป็นวิธีเลิกมาตรฐาน แต่ก็เป็นตัวช่วยเลิกได้ในบางคน
2. อาหาร เพิ่มผัก ถั่ว ปลา เพิ่มใยอาหาร ลดเนื้อแดง ลดไขมันอิ่มตัว (ใช้ไขมันไม่อิ่มตัวแทน) ปริมาณไขมันโดยรวมลดลง ลดไขมันทรานส์ ลดเกลือ เครื่องปรุง เลิกเครื่องดื่มผสมน้ำตาลโดยเฉพาะน้ำอัดลม จริง ๆ แล้วอาหารแบบไหนก็ได้ที่มีสัดส่วนแบบนี้ แต่มีอาหารที่สัดส่วนพอเหมาะและทำการศึกษามาแล้วว่าลดโอกาสเกิดโรคหัวใจคือ อาหารเมดิเตอเรเนียน
3. แอลกอฮอล์ แม้การศึกษาจะออกมาว่าการดื่มแอลกอฮอล์ในขนาดไม่เกิน 15 กรัมต่อวันจะไม่ได้เพิ่มโรคหัวใจ (15 กรัมประมาณ 1.5 ดื่มมาตรฐาน) แต่อาจจะไปเพิ่มอันตรายจุดอื่น เช่น ตับแข็ง สมองเสื่อม ตับอ่อนอักเสบ หรืออุบัติเหตุจราจร ส่วนตัวผมแนะนำเลิกเหอะ
4. น้ำหนักตัว ยิ่งอ้วนยิ่งเป็นโรคหัวใจ ลดลงก็ยิ่งลดโรคหัวใจ ง่าย ๆ ก็ควบคุมพลังงานจากการกินอย่ากินมากเกิน ลดพลังงานลงทีละ 500 กิโลแคลอรี จะใช้อาหารสูตรไหนก็ตามใจ วัดติดตามง่าย ๆ คือดัชนีมวลกายไม่ควรเกิน 25 แต่การลดน้ำหนักต้องค่อย ๆ ทำและให้สมดุลกับการออกกำลังกายเพิ่มมวลกล้ามเนื้อมาชดเชยมวลไขมันที่จะลดลงด้วย
5. การออกแรงกับการออกกำลังกาย ขยับให้มากขึ้น เพิ่มกิจกรรมที่ใช้แรงมากขึ้นในชีวิตประจำวัน และออกกำลังกายแบบแอโรบิก 30-60 นาทีต่อครั้งและ 5 ครั้งต่อสัปดาห์เป็นอย่างต่ำ แนะนำให้เพิ่มขนาดการออกกำลังกายมากขึ้นและต่อเนื่องสม่ำเสมอ ใครใช้นาฬิกาชีพจรใช้อยู่ที่ Heart Rate Zone 3 ต่อเนื่องนะครับ
6. อย่าลืมทำใจให้เข้มแข็ง ถ้ามีปัญหาต้องปรึกษาเพื่อนหรือจิตแพทย์ การไปพบจิตแพทย์ไม่ได้หมายความว่าเราฟั่นเฟือน แต่เป็นการแก้ปัญหาอันพึงแก้ได้ ก่อนปัญหาจะลุกลามมาก บางครั้งเราก็มองตัวเองไม่เห็น
7. มลภาวะ ฝุ่น สารพิษต่าง ๆ นี่ควรหลีกเลี่ยงมากเพราะเป็นตัวกระตุ้นให้โรคหัวใจแย่ลง เช่นฝุ่น PM2.5
8. เซ็กซ์ จ้ำจี้ไปเถอะครับ โอกาสตายคาอกน้อยมาก แถมการใช้พลังงานในการจ้ำจี้แต่ละครั้งก็ไม่มากมายอะไร ยกเว้นคุณจะเล่นท่ายิมนาสติกโอลิมปิก ในคนที่ "ไม่แข็ง" ก่อนจะใช้ยาช่วยการแข็ง ขอให้ปรึกษาแพทย์เสมอเพราะผู้ป่วยกลุ่มนี้มักจะได้รับยาลดการเจ็บหน้าอกกลุ่มไนเตรต หากใช้ยาไนเตรตคู่กับยา PDE5 หรือยาแข็งทั้งหลาย จะทำให้ความดันโลหิตต่ำจนอันตรายได้ และแนะนำออกกำลังกายเป็นประจำเพื่อเพื่มสมรรถภาพการมีเซ็กซ์
9. การติดตามการรักษาสม่ำเสมอ พบแพทย์ตามกำหนด ประเด็นคือต้องมีการประเมินความเสี่ยงการเกิดโรคหลอดเลือดที่รุนแรงขึ้นเป็นประจำ ด้วยการตรวจร่างกาย การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจหรือการตรวจคลื่นเสียงสะท้อน กระตุ้นเตือนการปฏิบัติตัวให้ต่อเนื่อง ปรับยาให้เหมาะสม
10. วัคซีนไข้หวัดใหญ่ โรคไข้หวัดใหญ่ทำให้โรคหัวใจแย่ลง และโรคหัวใจเป็นปัจจัยการเกิดอันตรายจากไข้หวัดใหญ่ ดังนั้นผู้ป่วยหลอดเลือดหัวใจตีบเรื้อรังต้องฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ประจำปีตลอดไป ผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้สิทธิฉีดฟรีจากรัฐด้วยนะครับ
"หลอดเลือดหัวใจตีบไม่ถึงตาย แต่หากไร้คนข้างกาย นอกจากเดียวดาย แล้วยังตายอย่างหนาวเย็น"
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น