รำลึกถึงพ่อหลวง..ปอดเหล็ก สิ่งที่พระองค์ "ซื้อ" ให้คนไทย
ในสมัย 2495 (2490-2499) หรือ คศ.1952 เป็นสมัยที่ไข้โปลิโอระบาดอย่างหนักทั่วโลก ตอนนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้ริเริ่มการรักษาผู้ป่วยในประเทศ โดยให้ประกาศทางวิทยุ ชวนประชาชนมาบริจาคซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อรักษาโรคและ เพื่อสร้างตึก "ตึกวชิราลงกรณ์ธาราบำบัด" เพื่อการรักษาผู้ป่วยโดยให้เดินในน้ำ รวมทั้งบริจาคพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อจัดซื้อปอดเหล็ก จำนวน สามเครื่อง เพื่อมารักษาผู้ป่วยด้วย
เรามารู้จักปอดเหล็กและโปลิโอกันนะครับ
โรคโปลิโอ เกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่แพร่กระจายและติดต่อจากการปนเปื้อนของน้ำและอาหาร ปะปนออกมากับอุจจาระลงสู่แหล่งน้ำ สมัยปี 2490 สงครามโลกครั้งที่สองเพิ่งยุติ ตอนนั้นการสาธารณสุขแย่มากทำให้เกิดการระบาดไปทั่วโลก โรคนี้เมื่อติดเชื้อแล้วส่วนมากจะไม่มีอาการแต่อาจจะถ่ายทอดเชื้อโรคต่อไปได้ ทำให้มันแพร่กระจายเร็วมาก ส่วนคนที่มีอาการมีไม่ถึง 10% ของคนที่ติดเชื้อ อาการนั้นก็จะรุนแรง มีการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อและฝ่อลีบลงของกล้ามเนื้อ ก็ขึ้นอยู่กับไปโดนเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อใด กล้ามเนื้อนั้นก็จะอ่อนแรงและฝ่อลีบไป ที่เราพบเห็นมากๆจะเป็นแขนขาลีบ แต่ที่อันตรายคือ ไปโดยเซลประสาทในไขสันหลังระดับคอ ที่จะควบคุมกล้ามเนื้อกระบังลม กล้ามเนื้อหลักที่ใช้ในการหายใจ
ตามปกติ ปอดมนุษย์ ไม่ได้หายใจหรือพองเองนะครับ เราใช้กล้ามเนื้อหลายมัดเพื่อ "ดูด" ลมเข้ามาในปอด หลักๆคือกล้ามเนื้อกระบังลมนั่นเอง เคลื่อนที่ลงไปทางช่องท้องดูดลม..ฮูบ..เกิดเป็นแรงดันติดลบในช่องอก ลมจึงไหลเข้ามาในปอด พอจะหายใจออก ลมจะออกไปเองเพราะเมื่อลมเข้ามาใจปอดแล้วแรงดันจะสูงขึ้นๆ พอไหลออกไปได้เอง และปอดก็เหมือนสปริงคอยหดตัวบีบไล่ลมออกไปด้วย จะเห็นว่าถ้ากระบังลมเป็นโปลิโอไป การหายใจจะลำบากมากๆ คนไข้จะหายใจล้มเหลวและเสียชีวิต
เครื่องปอดเหล็ก เป็นกล่องไม้หรือเหล็กครอบตัวคนไข้และมีช่องยื่นออกมาให้ศีรษะโผล่ออกมาหายใจ มีมอเตอร์ปั๊มลมออกมาให้แรงดันในกล่องเป็นลบ ต่ำกว่าแรงดันอากาศข้างนอก พอคนไข้ออกแรงนิดเดียว ลมจากภายนองก็จะไหลเข้าปอดคนไข้ตามแรงดันทันที ทำให้หายใจสะดวกไม่ต้องออกแรงมากนัก เริ่มประดิษฐ์ใช้จริงจังในชื่อ Drinker Respirator ตามชื่อ Phillips Drinker ในปี 1928 แต่เครื่องใหญ่มากเทอะทะ ต้องใช้คนในการจัดการเครื่อง จึงได้มีการพัฒนาต่อไป ในปี 1937 Edward Both ได้ประดิษฐ์รุ่นใหม่ชื่อ Both Respirator ที่เบากว่าเล็กกว่า ถูกกว่า (เกือบสิบเท่า) และใช้แพร่หลายมากในการระบาดช่วงปี 1953 หรือ 2496 นั่นเอง
ปัจจุบันนี้ไม่ได้ใช้เครื่องดูดลมแล้วนะครับ เครื่องช่วยหายใจยุคปัจจุบัน เป็นเครื่องเป่าลมเข้าไปแทน ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านกล่าวว่า การดูดลมตรงกับการทำงานของมนุษย์มากกว่าการเป่าลม แต่ว่าก็ควบคุมยากและใช้ไม่ทุกโรคครับ ปัจจุบันจึงเป็นเครื่องเป่าลมเข้าเกือบหมด เครื่องเล็กๆเท่าโทรศัพท์หยอดเหรียญ ราคาประมาณ 2-3 ล้านบาท
โรคโปลิโอไม่มียารักษานะครับ ถ้ามีไข้สูง ไอ อ่อนเพลีย อีกสักสัปดาห์เริ่มมีแขนขาอ่อนแรงเฉียบพลัน ให้รีบไปหาหมอครับ เพื่อแยกโรคและสาเหตุต่างๆรวมทั้งโปลิโอด้วย ปัจจุบันเราคงแทบไม่พบโปลิโอแล้วล่ะครับ เพราะว่าเรามีการให้วัคซีนโปลิโอกันตั้งแต่แรกเกิด เป็นวัคซีนฟรีที่ทางรัฐจัดให้เด็กแรกเกิดทุกคน และเป็นนโยบายอันเดียวกันทั้งโลก การให้วัคซีนนี้ เมื่อเกิดภูมิคุ้มกันจะสามารถป้องกันร่างกายได้ยาวนานมาก เรียกว่าแตะๆตลอดชีวิตเลยก็ได้นะ มีทั้งการหยอดวัคซีน OPV และการฉีดวัคซีน IPV วัคซีน IPV แบบฉีดมาจากเชื้อที่ตายแล้ว ใช้ในกรณีผู้จะฉีดมีภูมิคุ้มกันไม่ดีครับ นอกจากนั้นวัคซีนแบบหยอดทางปาก OPV เหนือกว่าในทุกๆกระบวนท่า
หลังจากที่พระองค์ท่านได้ทุ่มเทให้การรักษาโปลิโอในประเทศพัฒนาและมีเงินทุนการการร่วมบริจาคในรูปแบบทำบุญกับในหลวง รวมทั้งการบริจาคพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ทำให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่กำจัดโปลิโอหมดไปได้ อีกหนึ่งประเทศครับ
ขออภัยถ้าผมใช้ราชาศัพท์อาจจะไม่ถูกต้องมากนักครับ
ข้อมูลจาก สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
wikipedia
Mandell infectious disease 7th
ภาพแรกเป็นภาพปอดเหล็กที่พระองค์ซื้อให้คนไทย ส่วนภาพอื่นๆผมนำมาให้ดูประกอบความเข้าใจครับ จาก pr3350.blogspot.com
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
บทความที่ได้รับความนิยม
-
Acute pancreatitis จากที่ตอนที่แล้ว เราได้กล่าวถึงตับอ่อนอักเสบในภาพรวม สำหรับโพสต์วันนี้ขอเล่าถึงในภาพลึกในเชิงปฏิบัติบ้างนะครับ ตามสัญญา...
-
คำถามจากทางบ้าน : น้ำอสุจิมีมดตอม แบบนี้ เป็นเบาหวานไหม อย่างแรกคนที่ถามคำถามนี้เป็นสุภาพสตรี ต้องนับถือในความช่างสังเกตสิ่งรอบตัวจริง ๆ ค...
-
ปฏิบัติการ I/O สะท้านโลก I/O ทางการแพทย์เราคือ intake -- output ปริมาณสารน้ำเข้าออกในร่างกาย ไม่ได้เกี่ยวกับปฏิบัติการข่าวสารอันเลื่องลื...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น