บทความนี้มีวัตถุประสงค์ให้ทุกท่านได้เห็นความสำคัญของโรคที่มีอยู่ ดำเนินอยู่ แต่เรามองไม่เห็น เราจึงละเลย
องค์การอนามัยโลกและกระทรวงสาธารณสุขไทยได้ประกาศการใช้วัคซีนโรคไอกรนมานานกว่า 40ปีแล้ว เป็นวัคซีนรวม คอตีบ-ไอกรน-บาดทะยัก ฉีดกันตั้งแต่อายุสองเดือนจนสี่ขวบ ด้วยการดำเนินการแบบนี้อุบัติการณ์ของโรคไอกรนลดลงแบบดราม่ามากๆครับ เมื่อปี2520 พบ 7.25 ต่อหนึ่งแสนประชากรพอเวลาผ่านไปสามสิบปีในปี 2550 พบ 0.02 ต่อแสนประชากรหรือพูดง่ายๆคือ สองคนในสิบล้านคน ....เวลาก็ผ่านไปสิ่งที่เกิดขึ้นคือเราก็ยังพบโรคไอกรนมากขึ้น มีการระบาดเป็นพักๆโดยเฉพาะกลุ่มประเทศกำลังพัฒนารวมถึงประเทศไทยด้วยครับ
อ้าว..ทำไมเป็นอย่างนี้ล่ะ ก็เพราะระดับภูมิคุ้มกันที่เคยได้วัคซีนหรือเคยติดเชื่อเมื่อตอนเด็กๆ มันเริ่มลดน้อยลงตามอายุน่ะสิครับ จึงพบโรคสูงขึ้นในกลุ่มผู้สูงวัยที่ไม่เคยได้รับการกระตุ้นวัคซีนอีกครั้ง ตรงนี้แหละครับคือปัญหา พอผู้สูงวัย (จริงๆก็ประมาณ 60ปีนะครับ) ภูมิลดลงก็ติดเชื้อเข้ามา คราวนี้ไม่ได้ไอหนักๆจนเลือดออกตาขาว ไม่ได้ไอหนักๆจนหายใจตามหลังไอเป็นเสียง วู๊บบบ whooping cough -- อาการที่พบแค่ไอนานๆ ไม่มีสาเหตุชัดเจน ก็ไม่รู้ตัว ไอไปเรื่อยๆ แพร่เชื้อไปเรื่อยๆนั่นเอง คนกลุ่มนี้ก็แพร่เชื้อในหมู่ผู้สูงวัย (ที่ภูมิต่ำลงพอๆกัน)เลี้ยงหลาน หรือไปดูลูกที่กำลังตั้งครรภ์ ก็แพร่เชื้อไปเรื่อยๆส่งผลทำให้ปัญหาเพิ่มมากขึ้นๆครับ
คุณๆก็คงเถียงว่า ก็ทำไมไอนานๆ ไม่มีสาเหตุชัดเจนอย่างที่แอดมินว่าน่ะ ทำให้ชัดเจนไปเลยจะได้ป้องกันถูกจุด คำตอบคือถ้าทำได้ก็จะดีมากเลยครับ #ปัจจุบันยังทำได้ไม่ดี ความไวและความจำเพาะของการวินิจฉัยไม่สูงครับ ทำยากและค่าใช้จ่ายยังสูงมาก ตัวอย่างจากงานวิจัยของ อาจารย์หมอนิรดานี้ใช้วิธี กวาดสิ่งส่งตรวจจากคอ ไปส่งตรวจ PCR โดย gene sequencing และตรวจเลือดหาแอนติบอดี้ เอาเป็นว่าฟังชื่อก็ยาก ทำได้ไม่กี่ที่และแค่ฟัง สตางค์ในกระเป๋าก็หายไปหลายพันแล้วล่ะครับ และอีกประการคือ ความที่อาการของมันไม่ชัดเจน ไม่จำเพาะเอาเสียเลย จึงไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่หนักแน่นเพียงพอที่จะทำให้แพทย์ตัดสินใจส่งตรวจ ในสถานการณ์ที่โอกาสได้ประโยชน์จากการส่งตรวจนั้นๆมีไม่มากพอ
งานวิจัยของคุณหมอนิรดากับเพื่อนๆที่จุฬา เพิ่งตีพิมพ์เป็นการศึกษาหาหลักฐานของการติดเชื้อไอกรน ในกลุ่มคนไข้ที่ไอเรื้อรังโดยใช้วิธีราคาสูงอย่างที่เล่าให้ฟังครับ ในกลุ่มตัวอย่าง 76 รายนั้น ไม่เคยตรวจหรือมีอาการไอกรน พบหลักฐานการติดเชื้อไอกรน 14 ราย(18.4%) ซึ่งเป็นผู้สูงวัยและไม่เคยได้รับวัคซีนกระตุ้น ทั้งสิ้นทุกคน และหนึ่งในสมมติฐานที่อธิบายนั้นคือระดับภูมิคุ้มกันที่ลดลง และให้หมอๆทั้งหลายคิดถึงโรคนี้ไว้ด้วยนะ มันยังไม่หายไปไหนแค่มันมองไม่เห็นเท่านั้น
สมมติฐานเรื่องระดับภูมิคุ้มกันที่เคยได้รับตั้งแต่วัยเด็กมันลดลง #อันนี้พอแก้ไขได้ครับโดยการฉีดวัคซีนในผู้ใหญ่ ปัจจุบันราชวิทยาลัยอายุรแพทย์และสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทยมีคำแนะนำให้ คนไทยที่อายุเกิน 19ปี ควรได้รับวัคซีน คอตีบ-บาดทะยัก ทุกสิบปี และในบรรดาที่ฉีดทุกสิบปีนี้ ขอให้สักครั้งหนึ่งใช้วัคซีนรวม คอตีบ-ไอกรน-บาดทะยัก สักเข็มครับ...คุ้มมากครับ 1เข็มต่อสิบปี..ได้สามโรค
อากาศอยู่รอบตัวเรา..เราไม่เคยรับรู้ว่ามันมีอยู่จนมันเคลื่อนไหว..ถ้ามันเป็นเพียงสายลมเบาๆ เราจะรับรู้และปลอดภัย..แต่ถ้ามันเคลื่อนไหวเป็นพายุล่ะ..
ที่มา : Adult Pertussis in unrecognised Public Health Problem in Thailand
ใน BMC infectious disease 2016, 16:25 Siriyakorn, et al.
ขอขอบคุณ คุณหมอนิรดา ศิริยากร รุ่นน้องที่น่ารัก อนุญาตให้นำมาเผยแพร่เป็นความรู้สู่ประชาชน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น