16 กันยายน 2567

Stress ulcer การศึกษาชื่อ REVISE

 Stress ulcer

แผลในกระเพาะในความหมายนี้จะเกิดจาก สมดุลที่ไม่เท่ากันระหว่างกรดในกระเพาะกับกลไกการป้องกันกรด
ในภาวะ stress โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วยวิกฤต จะมีการเปลี่ยนแปลงของกลไกหลายชนิด เลือดไปเลี้ยงผนังกระเพาะลดลง สารอักเสบของร่างกายที่เพิ่มขึ้น ฮอร์โมนควบคุมการหลั่งกรดผิดปกติ และจะมากขึ้นไปอีก ในกรณีป่วยแบบ critical เช่นใส่เครื่องช่วยหายใจ ให้ยากระตุ้นหัวใจ ใส่เครื่องเอคโม ก็จะเพิ่มโอกาสเกิดแผล
ถ้าเกิดแผล ก็จะเพิ่มโอกาสเลือดออก ต้องใช้เวลารักษานานขึ้น ต้องทำการรักษาเพิ่มมากขึ้น เผชิญกับภาวะแทรกซ้อนจากการรักษาและการ 'อยู่ยาว' มากขึ้น ถ้าไม่เกิดจะดีกว่า
จึงมีแนวคิดว่า งั้นก็ป้องกันการเกิดเสียเลย โดยใช้ยาลดกรด proton pump inhibitor (ยาอื่นทดลองแล้วล่ะว่าสู้ PPI) ไม่ได้
แต่เมื่อกรดในกระเพาะหายไป กลไกการป้องกันร่างกายหลายอย่างก็หายไป ไม่ว่าการฆ่าเชื้อโรคที่กลืนเข้าไป หรืออาจสำลักเอาเชื้อโรคที่ไม่ได้ถูกฆ่าลงปอด หรือระบบกรดด่างและภูมิคุ้มกันในลำไส้ที่แปนปรวน จนอาจเกิดการโตผิดปกติของแบคทีเรียลำไส้หรือติดเชื้อจากมันได้
แล้วให้ดีไหมล่ะ สรุปว่าการศึกษายังไม่ชัดเจนไปในทางเดียวกันว่าให้หรือไม่ให้ เคยมี meta-analysis และทบทวนงานวิจัยออกมาล่าสุดก็ในปี 2022 สรุปว่า
อาจจะพิจารณาให้ในผู้ที่มีปัจจัยเสื่ยง หมายถึงก็ไม่ได้ให้ทุกคน และทุกคนที่ให้ก็ไม่ได้เกิดประโยชน์เสียทั้งหมด
คนที่เสี่ยงคือ มีเลือดออกง่ายกว่าปรกติ, เคยทีเลือดออกจากแผลกระเพาะ, อยู่ไอซียูนานเกิน 1 สัปดาห์, ใช้เครื่องช่วยหายใจนานกว่า 48 ชั่วโมง
จนเมื่อเดือน กรกฎาคม 2567 มีการศึกษาชื่อ REVISE ลงตีพิมพ์ในวารสาร NEJM ทำการศึกษาแบบนานาชาติทั้งอเมริกา เอเชีย ออสเตรเลีย ยุโรป ทำการศึกษาในผู้ป่วยไอซียูที่ใส่เครื่องช่วยหายใจกว่า 4800 ราย มาแบ่งกลุ่มแบบสุ่มให้ยา PPI แบบป้องกัน และใช้ pantoprazole เป็นตัวแทนหรือใช้ยาหลอกเป็นน้ำเกลือ
โดยให้ยาไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะถอดเครื่องช่วยหายใจ จะเสียชีวิตหรือเกิดผลแทรกซ้อนจากยา แล้วดูว่ามีเลือดออกแบบที่รุนแรง มีอัตราการตาย มีปอดอักเสบ ที่ต่างกันไหม
ปรากฎว่าคนที่เข้าร่วมการศึกษานั้นเป็นแบบอาการหนัก ๆ และอายุเกือบหกสิบ กลุ่มที่ได้ยามีเลือดออกน้อยกว่ากลุ่มยาหลอกถึง 70% แต่อัตราการเสียชีวิตไม่ต่างกัน และที่สำคัญคือการเกิดปอดอักเสบหรือการเกิดติดเชื้อในโรงพยาบาลที่ไม่ต่างกัน
เรียกว่า ลดเลือดออกได้ในทุกกลุ่ม อัตราตายและปอดอักเสบไม่ได้ต่างกันเลย จะอายุมากหรือน้อย จะอยู่นานอยู่สั้น จะใช้เครื่องยาวแค่ไหน
เสียแต่อัตราการเกิดเลือดออกในการศึกษานี้จะต่ำกว่าในอดีตพอควร (เป็นเพราะเวลาและยุคสมัยที่ป้องกันแผลได้ดีกว่าเดิมด้วย)
การศึกษานี้บอกเราว่า ใครที่ป่วยหนักและต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ การให้ยา pantoprazole ช่วยลดเลือดออกได้จริง และมีนัยสำคัญด้วย
และอาจลดผลแทรกซ้อนร่วมทั้งการรักษาอันไม่จำเป็นลงได้อีก ในอนาคตอาจเป็นแนวทางมาตรฐานทั่วไปเลยว่าใช้ยา PPI ในช่วงเวลาการใช้เครื่องช่วยหายใจ
ความรู้พัฒนาขึ้นทุกวัน หลักฐานใหม่ ๆ เกิดขึ้นตลอด เราต้องตามให้รู้ คิดให้เป็น ใช้ให้ได้ นี่คือความสำคัญของการหาความรู้ในโลกอนาคต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม