03 กันยายน 2567

ปัญหา postural hypotension ความดันโลหิตลดลงขณะเปลี่ยนท่า (ESC 2024)

 ปัญหา postural hypotension ความดันโลหิตลดลงขณะเปลี่ยนท่า (ESC 2024)

อาการ : วิงเวียน หน้ามืด ใจสั่น อาการจะสัมพันธ์ชัดเจนกับการเปลี่ยนท่าทางโดยเฉพาะการลุกยืน
ตรวจอย่างไร : วัดค่าความดันโลหิตที่ตำแหน่งเดียวกันในท่านั่งหรือนอน แล้วให้ลุกยืน วัดความดันตำแหน่งเดิมที่หนึ่งนาทีและสามนาทีหลังจากลุกยืน ค่าความดันแตกต่างกันอย่างน้อย 20/10 ค่าใดค่าหนึ่งก็ได้ ถ้ากลัวลุกยืนจะอันตรายจากท่านอนใช้การนั่งห้อยเท้าแทนได้
สำคัญอย่างไร : เป็นสิ่งที่ทำให้การรักษาความดันโลหิตไปไม่ถึงจุดที่ควรทำ เพราะคนไข้จะกลัว หมอก็กลัว และถ้าเป็นมาก ๆ ก็ทำให้วูบหรืออัตราการเกิดโรคหัวใจเกิดสูงขึ้นจริง ภาวะนี้ไม่จำเป็นต้องเกิดในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงเท่านั้นหรือจากการใช้ยาลดความดันโลหิตเท่านั้น
แล้วมีสาเหตุอื่นอีกหรือที่ทำให้เกิด : จริง ๆ แล้วต้องบอกว่าสาเหตุจากการใช้ยาลดความดัน พบน้อยกว่าสาเหตุอื่นด้วยซ้ำ ในสารพัดการศึกษาที่เป้าหมายลดความดันลงต่ำมาก เรากลับพบว่า การเกิด postural hypotension ไม่ต่างไปจากกลุ่มที่ลดความดันตามปกติ นั่นคือ เวลามีอาการแบบนี้ อย่าไปโทษยาลดความดัน และเอายาลดความดันออกจากการรักษาเพียงเท่านั้น ต้องดูสาเหตุอื่นที่พบบ่อยกว่าด้วย
สาเหตุอะไร : พบมากก็คือลุกนั่งลุกยืนเร็ว ๆ นั่นแหละ ร่างกายเราไม่สามารถปรับตัวได้เร็วเฉกเช่นสมัยหนุ่มสาว ทำอะไรก็ทำช้า ๆ (ไม่ได้ใช้ยาลดความดันก็เกิดได้นะ) สาเหตุอื่น ๆ ที่ต้องหาคือ มียาอะไรที่ทำให้เกิดแบบนี้ไหม เช่น ยาแก้แพ้ ยาลดน้ำมูก หรือการนอนนาน ๆ การขาดน้ำ
แล้วจะต้องปรับลดยาความดันไหม : จะปรับยาเมื่อไม่มีสาเหตุอื่นมาอธิบาย เพราะสาเหตุจากยาลดความดันมักจะเกิดในช่วงสองสัปดาห์แรกหลังเริ่มยาหรือปรับยา และการปรับยาเพื่อแก้ไข postural hypotension ไม่ใช่ว่าจะลดยาเท่านั้น ถ้าคิดว่ายังจำเป็นต้องใช้ยาลดความดัน ยาลดความดันยังทรงประโยชน์อยู่ ก็ให้ใช้ต่อไป แต่ควรปรับยาเป็นยาที่มี postural hypotension ไม่มาก (ควรเลี่ยง alpha blocker, diuretic)
ส่วนสาเหตุที่พบน้อยมากคือความผิดปกติของระบบประสาท (ต้องทดสอบ) จะมียา midodrine แก้ไขได้ แต่ว่า…ทำตามด้านบนก่อนนะ มันพบมากกว่า แก้ไขได้และง่ายกว่ามาก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม