12 กันยายน 2567

สิ่งที่ดีที่เป็นประโยชน์กับตัวเราและไม่เดือดร้อนผู้อื่น ให้ลงมือทำ : Legacy of UKPDS

 สิ่งที่ดีที่เป็นประโยชน์กับตัวเราและไม่เดือดร้อนผู้อื่น ให้ลงมือทำ : Legacy of UKPDS

1.โรคเบาหวานเป็นโรคที่เรารู้จักกันมานาน ตั้งแต่ใช้เกณฑ์น้ำตาลในเลือด 200 เกณฑ์ 140 จนมา 126 ในปัจจุบัน มีการรักษาหลายอย่าง ใช้ยา ไม่ใช้ยา รักษาเร็วรักษาช้า ตั้งเป้าเพื่อให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง อาการลดลง จนถึงปี 1977 ยุคสิ้นสุดสงครามเวียดนาม
2.กลุ่มการศึกษาที่อังกฤษ ออกแบบการศึกษาสำหรับผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่สอง เพื่อตอบคำถามว่าเราควรรักษาแบบควบคุมให้ดีโดยเร็วโดยใช้ยา มันน่าจะดีกว่ารักษาช้า ๆ ไปเรื่อย ๆ และคราวนี้ไม่ได้หวังผลแค่ลดน้ำตาลลดอาการ
แต่หวังผลลดอัตราการเสียชีวิตและโรคแทรกซ้อนจากเบาหวาน เป็นการศึกษาที่ถือว่าเป็น landmark คือ ใครจะพูดถึงการรักษาเบาหวาน ต้องรู้จักการศึกษานี้ UKPDS
3.UKPDS เป็นการศึกษาในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่สองที่เพิ่มได้รับการวินิจฉัยใหม่ มาแบ่งกลุ่มทดลองให้การควบคุมแบบเข้มงวดโดยใช้ยา sulfonylurea หรือ อินซูลิน เทียบกับกลุ่มควบคุมที่รักษาตามมาตรฐานเดิม .. ตามมาตรฐานเดิมคือคุมอาหารเป็นหลักและอาจปรับเพิ่มยาทีละน้อยตามมาตรฐานในปี 2520 นะครับ ..
ผลปรากฏว่า กลุ่มที่ได้รับยามีอัตราการเสียชีวิตต่ำกว่า อันตรายของเบาหวานต่อหลอดเลือดขนาดเล็กต่ำกว่า ต่ำกว่าอย่างมีนัยสำคัญ การศึกษานี้สรุปว่า การควบคุมให้ดีอย่างรวดเร็วมันส่งผลดีกว่า
4.แต่ตอนนั้น ผลการศึกษาเรื่องการเกิดโรคหัวใจลดลงในกลุ่มควบคุมเคร่งครัดด้วยยา แต่ไม่มีนัยสำคัญ ต้องบอกว่าในขณะนั้น ผลการรักษาเบาหวานในเรื่องการปกป้องโรคหัวใจ ยังไม่ได้เป็นประเด็นหลักและปัจจัยบังคับของ FDA
มันยังไม่จบครับนาย
มีการศึกษาติดตามต่อเนื่องกลุ่ม UKPDS นี่แหละ ต่อไปอีก 8 ปี หลังจากสิ้นสุดการศึกษา โดยที่ไม่ได้บังคับเคร่งครัดเหมือนตอนแรก แค่ติดตามเฉย ๆ และไม่พอ ยังตามติดติดตามไปต่อเนื่องจนครบ 20 ปี แม้จะมีบางคนล้มหายตายจาก แต่มันก็พบความจริงเพิ่มเติมว่า
5.หลังจากติดตามไป 8 ปีให้หลัง พบว่าในกลุ่มที่ใช้ยาและควบคุมอย่างเคร่งครัดตั้งแต่แรก ยังมีอัตราการเสียชีวิตที่ต่ำกว่า การเกิดโรคแทรกซ้อนเบาหวานที่หลอดเลือดขนาดเล็กคือ ไต ตา เส้นประสาท ยังต่ำกว่ากลุ่มที่ควบคุมแบบลมโชย
แม้จะไม่ได้เคร่งครัดเข้มงวดดังเช่นตอนอยู่ในช่วงการศึกษา มันมีผลต่อเนื่องจริง ๆ แถมเรื่องหลอดเลือดหัวใจที่ลดลงแต่แตกต่างอย่างไม่มีนัยสำคัญในช่วงแรก ก็พบว่าแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญในช่วงหลังนี้ด้วย
6.และไม่นานมานี้ (พฤษภาคม 2567) วารสาร lancet ได้ลงตีพิมพ์ UKPDS 91 คือติดตามกลุ่ม UKPDS ดั้งเดิมนี่แหละ ด้วยการดึงเอาข้อมูลจากการสำรวจสุขภาพของ NHS ซึ่งแน่นอนว่าเวลาผ่านไป 20 ปี ย่อมมีคนล้มหายตายจากไปบ้าง และแน่นอนว่าคงไม่ได้เคร่งครัดเข้มงวดเหมือนตอนอยู่ในการศึกษาเมื่อ 20 ปีก่อน
แต่สิ่งที่พบก็คือ ในกลุ่มที่เคยให้ยาและควบคุมน้ำตาลดีตั้งแต่แรก มีอัตราการเสียชีวิตและการเกิดโรคแทรกซ้อนหลอดเลือดต่าง ๆ ที่น้อยกว่ากลุ่มควบคุมไปเรื่อย ๆ อย่างมีนัยสำคัญ
7.เรียกว่าทุ่มเทรักษาครั้งแรกให้ดี มีผลยาวนานถึง 20 ปี และเมื่อเก็บข้อมูลชุด 20 ปีให้หลังแม้กลุ่มนี้จะมีโรคอื่น ๆ ผุดงอกมาไม่ว่า ความดันโลหิต ไขมัน เกาต์ ก็ยังมีอัตราการเสียชีวิตต่ำกว่าอยู่ดี
ก็มีคนอธิบายหลายอย่าง ที่น่าสนใจคือ เมื่อร่างกายได้รับการปรับปรุงและใช้ยาเพื่อเปลี่ยนสมดุลอินซูลินตั้งแต่แรก เซลล์ร่างกายจะจดจำการเปลี่ยนแปลงนี้และพยายามทำให้มันคงที่แม้จะหยุดยาแล้ว
ความเชื่อนี้ได้รับการพิสูจน์มากในเบาหวานชนิดที่หนึ่งที่กลไกหลักคือการทำลายเซลล์สร้างอินซูลิน แต่เบาหวานชนิดที่สองมีหลายกลไก จึงบอกสาเหตุเดี่ยวได้ยาก
8.แต่ผมเชื่ออีกอย่างว่า ระยะเวลากว่า 5-7 ปี ที่กลุ่มศึกษาเข้มงวดเคร่งครัดในการปฏิบัติตัว การอบรม วินัยการกิน การเปลี่ยนแปลงในระดับเกิดนิสัยทำให้ผลลัพธ์ในระยะยาวเปลี่ยนไป
แต่มันไม่มีหัวข้อวิจัยว่าผลแห่งการปกป้องมันเกิดจากเซลล์ปรับตัวและจดจำ หรือเกิดจากพฤติกรรมและนิสัย หรือเกิดจากเมื่อเซลล์จดจำและปรับตัวมันจึงนำพาไปสู่นิสัยและวินัยที่ต่อเนื่องกันแน่ …
เริ่มแอ๊บสแตร็กแล้ว พอดีกว่า
9.สรุปว่า เมื่อรู้ว่าเป็นเบาหวาน ก็รักษาด้วยการปฏิบัติตัวและใช้ยา ทำอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ มันช่วยได้จริง ตายลดลง ผลแทรกซ้อนลดลง อย่าดื้อ อย่าผัดวันประกันพรุ่ง อย่าดินพอกหางหมู
10.ใครมีกำลังทรัพย์ ก็ช่วยกันบริจาคช่วยเพื่อน ๆ ภาคเหนือที่กำลังประสบอุทกภัยด้วยครับ และขอให้กำลังใจชาวเหนือให้ผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้อย่างปลอดภัย สูญเสียน้อยที่สุดครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม