29 มีนาคม 2564

สรุปเนื้อหาจากการสัมมนาพูดคุยเรื่องสุขภาพคือสินทรัพย์ เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2564 โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ Dr. Money และ Smart Money More Fun

 

สรุปเนื้อหาจากการสัมมนาพูดคุยเรื่องสุขภาพคือสินทรัพย์ เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2564 โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ Dr. Money และ Smart Money More Fun

 

แบ่งการสรุปเป็น 4 หมวด

1. แนวคิดทั่วไปเกี่ยวกับการลงทุนเพื่อสุขภาพ

                                            2. การจัดการการเงิน เมื่อเจ็บป่วย

      3. การจัดการการเงิน และการวางแผนก่อนเจ็บป่วย

4. การเก็บเงินสำรองเพื่อค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ

 

แนวคิดทั่วไปเกี่ยวกับการลงทุนด้านสุขภาพ

- เรื่องการจัดการสุขภาพที่ดี เป็นสิ่งที่ต้องคิดร่วมกับการวางแผนความมั่นคงและการลงทุนเสมอ เพราะหากมีสุขภาพกายและใจที่ไม่ดี ก็ยากที่แผนการลงทุนจะสำเร็จราบรื่น

- หากเราไม่วางแผนหรือไม่ลงทุนสุขภาพ เราอาจมีค่าใช้จ่ายที่นอกแผน ทั้งค่ารักษาพยาบาล ค่าเสียโอกาสการทำงาน ที่ทำให้ความมั่นคงในชีวิตเราลดลงหรือเกิดภาระหนี้สิน ในทางตรงข้าม ถ้าเราวางแผนดี "เงิน แรง เวลา" ที่เราประหยัดได้นี้จะสามารถไปต่อยอดความสำเร็จได้อีกมาก

-         ตัวอย่างเช่น หากเราเก็บเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินเดือนละหนึ่งพันบาท เป็นเวลา 20 ปี เราจะได้เงินสะสม 240,000 บาท ที่เราอาจจะนำไปใช้เวลาเจ็บป่วยได้โดยไม่ก่อหนี้สิน เรียกกว่าต้นทุน แต่ถ้าเราสุขภาพดี ไม่ต้องใช้เงินส่วนนี้เลย

-         และเราลงทุนลงแรงด้วยเงิน 240,000 นี้ อาจจะได้ผลตอบแทนทบต้นถึงกว่าครึ่งล้านบาท เรียกเงินกว่าครึ่งล้านบาทนี่แหละว่า ความสูญเสียที่แท้จริงหากเราไม่ลงทุนทางสุขภาพ

- เราควรคิดและจัดสรรการลงทุนและเงินเก็บทางสุขภาพ เป็นส่วนหนึ่งของการจัดสรรเงินเสมอ และควรทำตั้งแต่อายุน้อย เพราะยิ่งทำเร็ว โอกาสได้กำไรทั้งทางสุขภาพและทางความมั่งคั่งจะมากขึ้น สามารถรับความเสี่ยงได้ดีขึ้นอีกด้วย

-         เช่นเริ่มวิ่งออกกำลังกายตั้งแต่ตอนนี้ ก็จะมีเรี่ยวแรงและสุขภาพที่ดีในการทำงานในระยะยาว

-         เริ่มลงทุนซื้ออาหารที่ถูกสุขอนามัย สะอาด ปลอดภัย สุขภาพจะได้ไม่แย่

-         เพิ่มเวลาพักผ่อน ลดการทำงานที่เกินกำลังและบั่นทอนสุขภาพ แม้จะเสียรายได้จากการทำงานล่วงเวลา แต่สามารถมีสุขภาพกายใจที่ดี ชดเชยในระยะยาวอย่างคุ้มค่า

- สัดส่วนการเก็บเงินและการลงทุนเพื่อสุขภาพของแต่ละคนไม่เท่ากัน ให้ปรับตามความสมดุลของแต่ละคน อย่าให้เป็นภาระมากไป และอย่าละความสำคัญจนไม่มีอยู่ในแผนการ

- ทบทวนการจัดการเงิน แผนสุขภาพทุกปี เพื่อปรับให้ยืดหยุ่นกับภาระทางการเงินและเวลาของเราเสมอ

 

การจัดการการเงินเมื่อเกิดความเจ็บป่วย

จะกล่าวถึง สิทธิขั้นพื้นฐานที่มี สิทธิเพิ่มเติมที่เราสามารถเพิ่มความมั่นคงและลดความเสี่ยงในชีวิต

- สิทธิพื้นฐาน คนไทยทุกคนที่ไม่ตกหล่นทางทะเบียนราษฎร์ จะมีสิทธิพื้นฐานในการรักษาพยาบาลแน่นอน เราจะมีความมั่นคงด้านการรักษาพยาบาลในระดับหนึ่ง เป็นระดับที่ครอบคลุมความจำเป็นพื้นฐาน แม้ไม่หรูหราแต่เพียงพอ

            - สิทธิประกันสังคม สำหรับลูกจ้าง ทั้งค่ารักษาพยาบาล ค่าชดเชย

            - สิทธิเบิกจ่ายราชการ สำหรับข้าราชการ 

            - สิทธิประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง 30 บาท สำหรับคนที่ไม่มีสองสิทธิข้างต้น

- ความมั่นคงเพิ่มเติม เช่น ประกันสุขภาพ ค่ารักษาพยาบาลที่สามารถเบิกจ่ายได้จากบริษัทห้างร้าน 

-         ค่ารักษาพยาบาลที่นายจ้างหรือห้างร้านช่วยเหลือ อันนี้แล้วแต่เงื่อนไขบริษัท เราต้องเข้าใจ ทราบสิทธิพึงมีและข้อจำกัดให้ดี สามารถช่วยเราได้เพิ่มเติมจากสิทธิพื้นฐาน หรือสามารถจ่ายได้ในกรณีไม่ต้องการใช้สิทธิพื้นฐาน เช่นการโรงพยาบาลเอกชน หรือเข้าห้องพิเศษในโรงพยาบาลรัฐ

-         ประกันสุขภาพ ขอไม่กล่าวถึงการประกันชีวิตและการประกันอุบัติเหตุนะครับ การประกันสุขภาพถือเป็นการประกันวินาศภัยอย่างหนึ่งตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การพิจารณาเลือกประกันให้พิจารณาตามวัตถุประสงค์ของความคุ้มครองที่นอกเหนือไปจากสิทธิที่เราพึงมีไปแล้ว 

o   ชดเชยค่ารักษาพยาบาล มีหลายอัตราตามความสะดวกสบายของสถานพยาบาลที่เราต้องการ พรีเมี่ยมก็ต้องจ่ายแพงกว่าสแตนดาร์ด จ่ายค่ารักษาพยาบาลตามจริง ถ้าหากทางโรงพยาบาลและประกันมีข้อตกลงกันดี ก็ไม่ต้องสำรองจ่าย และต้องอ่านเงื่อนไขให้ดี ว่าค่ารักษาใดเบิกได้ ค่ารักษาใดเบิกไม่ได้

o   ชดเชยรายได้ เหมาะกับคนที่มีรายได้รายวัน ฟรีแลนซ์ หากต้องเจ็บป่วยก็อาจขาดรายได้มาจุนเจือครอบครัว สามารถนำเงินตรงนี้มาใช้จ่ายสำรองได้ เรียกว่าเป็นการสร้างความมั่นคงเพิ่มจากค่ารักษาพยาบาล 

o   ประกันโรคร้ายแรง ส่วนมากจะเป็นการประกันที่เจอโรคแล้วจ่ายตามสัญญา เราสามารถนำเงินตรงนี้ไปบริหารจัดการ เช่น จ่ายค่ารักษาส่วนต่างเพิ่มจากสิทธิที่มี หรือ จะชดเชยรายได้ที่หายไป หรือเก็บเป็นมรดกตกทอด

            - การพิจารณาทำประกันสุขภาพ ขึ้นกับความต้องการที่เราอยากให้ประกันมาคุ้มครอง อาจเป็นส่วนเพิ่มเติมจากสิทธิพื้นฐาน และขึ้นกับระดับของการบริการที่เราต้องการ หากต้องการการบริการที่ยกระดับกว่ามาตรฐานย่อมต้องจ่ายเบี้ยประกันราคาแพง

            - อย่าใช้ปัจจัยอื่นมาคิดวางแผนประกันตั้งแต่ต้น เช่น การออมเงิน หรือการลดหย่อนภาษี สิ่งเหล่านี้เป็นผลพลอยได้ อย่าลืมว่าเราลงทุนประกันสุขภาพ เพื่อสุขภาพและความมั่นคงเป็นหลัก

            - คำนวณเบี้ยประกันให้จ่ายไหวด้วย และอย่าลืมว่าหลายชนิดไม่ได้จ่ายครั้งเดียว จ่ายรายปี เป็นรายจ่ายคงที่ด้วยซ้ำ คำแนะนำโดยทั่วไป ค่าประกันทั่งหมด น่าจะอยู่ที่ประมาณ 10% ของรายได้ต่อปี (ปรับได้ตามแต่ละคน)

 

การจัดการและการวางแผนการเงินก่อนเจ็บป่วย

ขณะนี้เรามีความเข้าใจเรื่องการจัดการวางแผนการเงินมากขึ้น การจัดการวางแผนรับมือเตรียมตัวจึงมีความสำคัญและมาเป็นส่วนหนึ่งของการวางแผนลงทุน  อีกทั้งเราเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย เราต้องมีการเตรียมตัวเรื่องนี้แน่นอน

- วางแผนตรวจก่อนป่วย (primary prevention) ต้องยอมรับว่ามีการตรวจคัดกรองก่อนป่วยหลายอย่างที่มีประโยชน์ เพื่อตรวจโรคให้เจอในระยะต้น การรักษาในระยะต้นจะหมดค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการรักษาในช่วงปลายของโรค การวางแผนเตรียมเงิน ใช้เงินเพื่อตรวจคัดกรองถึงแม้ไม่เจอโรค ก็จะยังคุ้มค่ากว่า ค่าใช้จ่ายการรักษาโรคระยะปลาย (ก่อนการประกาศแนวทางจะมีการศึกษาเรื่องความคุ้มค่าคุ้มทุนออกมาแล้ว)

- ค่าใช้จ่ายเพื่อการตรวจคัดกรอง จะมากขึ้นตามอายุ ถ้าเราไม่วางแผนแต่เนิ่น ๆ เราอาจจะมีค่าใช้จ่ายปริมาณมากเมื่อเราอายุมาก และอาจจ่ายไม่ไหวถ้าไม่เตรียมตัว ในช่วงที่เราอายุน้อย หาเงินได้มาก ค่าใช้จ่ายการตรวจที่ราคาไม่แพงอาจไม่ส่งผลกระทบมากนัก แต่จะเป็นอีกเรื่องหากเราไม่มีรายได้เมื่อเกษียณ

-  สิทธิพื้นฐานด้านการรักษาสุขภาพที่เรามีนั้น ยังมีความไม่สมบูรณ์นักในเรื่องการ "ป้องกันก่อนเกิดโรค" รวมถึงกำลังคนทางสาธารณสุขที่มียังไม่สามารถตอบสนองเรื่องการรักษาได้เพียงพอ ดังนั้นการป้องกันโรค เราอาจต้องพึ่งพาตัวเองมากขึ้น การลงทุนตรงนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญ

-         ยกตัวอย่างการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ด้วยวิธีส่องกล้องลำไส้ กำหนดทำทุกสิบปี เริ่มตั้งแต่อายุ 45-50 แล้วแต่ประเทศ ค่าใช้จ่ายในโรงพยาบาลเอกชนระดับมาตรฐานทั่วไปประมาณ 20,000-30,000 บาท ถ้าเราเริ่มทำตอน 50 เราจะทำประมาณ 3 ครั้ง ตีกลม ๆ 100,000 บาท เราอาจไม่เจอมะเร็งก็ได้ แต่ถ้าเจอมะเร็งในระยะต้น การรักษาจะหายขาดและใช้เพียงการผ่าตัดเพียงอย่างเดียว 

-         แต่ถ้าเราไปเจอระยะท้ายแล้ว ค่ายาเคมีบำบัดอย่างเดียวก็เกินแสนบาทแล้ว ยังไม่นับค่าอย่างอื่นอีก

- การวางแผนการตรวจคัดกรองก่อนเกิดโรคในแต่ละคนไม่เหมือนกัน ขึ้นกับพันธุกรรม ความเสี่ยงส่วนตัว สภาพการใช้ชีวิต ท่านสามารถปรึกษาแพทย์ประจำตัวว่าตัวท่านต้องคัดกรองอะไร ทุกกี่ปี ในแต่ละช่วงอายุควรคัดกรองอะไรบ้าง (เอาที่จำเป็นตามแนวทางก่อนนะครับ ไอ้ที่ทำเกินเผื่อความสบายใจเรายังไม่นับ) เราจะได้วางแผนเตรียมเก็บเงิน เอาเงินไปลงทุน

- ผมมีคนไข้ที่ต้องทำ mammogram ตรวจมะเร็งปากมดลูก เป็นประจำ เธอไปซื้อสลากออมสินครับ ยังไงก็ต้องมาทำ ก็วางแผนลงทุนเลย ครบกำหนดก็ไถ่ถอนและได้ดอกเบี้ย เธอก็ถูกรางวัลนะครับ แต่ครั้งละไม่มาก 300 บาทประมาณนี้

- และเมื่อได้ผลการคัดกรองหรือการตรวจสุขภาพ จะต้องนำมาปรับใช้ให้เกิดมรรคผล เช่น เจอไวรัสตับอักเสบบี ก็ใช้ปรึกษาหมอเพื่อรักษา เมื่อเจอไขมันสูง ก็ต้องเลิกเหล้า ควบคุมน้ำหนัก ถ้าเราตรวจแล้วไม่ทำอะไรเลย ก็ถือเป็นความสิ้นเปลือง แถมยังขาดทุนหากเราไปพบโรคระยะปลายที่เราตรวจทราบในระยะแรกแต่เราไม่ทำอะไรกับมัน

 

การเตรียมเงินสำรองเพื่อสุขภาพ

  การเตรียมเงินสำรองนี้ เผื่อไว้ในกรณีไม่คาดคิดครับ เรื่องการเจ็บป่วยหรืออุบัติเหตุก็เป็นอีกเรื่องที่ไม่คาดคิด  แทนที่เราจะปล่อยความเสี่ยงนี้เป็นสิ่งที่คาดเดาไม่ได้ มาปรับให้มาเป็นค่าใช้จ่ายที่พอคาดเดาและจัดการได้ครับ

- โดยทั่วค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน จะคาดเดาที่เท่ากับ ค่าใช้จ่ายจำเป็นในแต่ละเดือน คูณ 6 เดือน (หรือบางคนคูณสิบสองเดือน) ตรงนี้คือค่าใช้จ่ายนอกเหนือค่ารักษาพยาบาลในกรณีเราไม่มีรายได้ แต่ถ้าเรายังมีรายได้เข้ามาเรื่อย ๆ เราอาจกันเงินตรงนี้บางส่วนไว้สำหรับค่ารักษาพยาบาล หรือค่าใช้จ่ายทางอ้อมต่าง ๆ เกี่ยวกับความเจ็บป่วยได้

- ความเสี่ยงบางส่วนจะถูกจัดการด้วยสิทธิการรักษาพยาบาลพื้นฐานและประกัน ถ้าเราลงทุนตรงนั้นแล้ว จะทำให้การจัดสรรเงินตรงนี้เพื่อความเจ็บป่วยทำได้คล่องขึ้น มีเงินสำรองชีวิตเผื่อฉุกเฉินในทางต่าง ๆ มากขึ้น

- การจัดสรรเงินฉุกเฉินตรงนี้จะต้องมีการทบทวน ปรับเปลี่ยนตามอายุและสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป เช่น อายุมากขึ้นก็เก็บในสินทรัพย์ที่ปลอดภัยเสี่ยงต่ำ เช่นเงินฝาก แต่หากอายุน้อยอาจเก็บในสินทรัพย์ที่เสี่ยงมากกว่าได้ เช่น กองทุน หุ้น กรณีหากเรามีโรคแล้ว เช่น เบาหวาน ก็ต้องจัดสรรทรัพย์สินส่วนนี้ใหม่ ให้ปลอดภัยมากขึ้น สภาพคล่องสูงขึ้น เพราจะมีโอกาสต้องนำเงินตรงนี้มาใช้มากขึ้น

 

เอาล่ะที่เรากล่าวมา 4 ข้อ จะมีเรื่องการเตรียมเงิน เตรียมเวลาเผื่อสุขภาพที่ดี การรักษาระยะต้น และความมั่นคงเมื่อเจ็บป่วย แต่ถ้าเราสุขภาพแข็งแรงดีคือ ไม่ต้องหยิบเงินตรงนี้มาใช้เลย สินทรัพย์ตรงนี้จะทำให้เรามีกำไรมากมายถ้าเรารู้จักใช้

 

การจะแข็งแรงได้เราก็ต้อง

- ลงทุนเงิน เช่น ซื้ออุปกรณ์ออกกำลังกาย (ซื้อมาแล้วใช้มันด้วยนะ) สมัครฟิตเนส ซื้ออุปกรณ์และวัตถุดิบทำอาหาร ซื้อรองเท้าที่ปลอดภัยใส่ทำงาน   สิ่งที่ได้กลับมา มากกว่าที่เสียไปแน่นอน

- ลงทุนแรงกาย ต้องออกแรงเล่นกีฬา ต้องสม่ำเสมอเหมือนสะสมเงินรายเดือน ต้องทำอาหารเอง สิ่งที่ได้กลับมา มากกว่าที่เสียไปแน่นอน

- ลงทุนเวลา ให้เวลาพักผ่อนมากขึ้นมาแทนที่โอทีเพื่อหนี้ฟุ่มเฟือย ให้เวลามากขึ้นกับการออกกำลังกาย นอนเร็วขึ้นตื่นเช้ามาทำอาหารกล่อง นอนก็มากขึ้น ประหยัดค่าอาหาร ได้อาหารที่เราต้องการด้วย สิ่งที่ได้กลับมา มากกว่าที่เสียไปอย่างแน่นอน

- ลงทุนสติปัญญา มาทบทวนสิทธิการรักษา วางแผนการเงินเรื่องสุขภาพ ซื้อประกัน อ่านหนังสือเพื่อช่วยจัดการการเงิน ศึกษาเรื่องสุขอนามัยที่ดี สิ่งที่ได้กลับมา มากกว่าสิ่งที่เสียไปอย่างแน่นอน

 

ทุกคนสามารถปรับได้ จะต้นทุนมาก หรือมีต้นทุนน้อย ปรับให้เข้ากับชีวิตตัวเอง สามารถลงทุนเพื่อสุขภาพหรือใส่หัวข้อสุขภาพไปในการจัดการชีวิตเสมอ โดนจัดสรรให้มีความสุขร่วมกันทั้งการเงิน การงาน สุขภาพ ครอบครัว เพื่อนฝูง สร้างความสมดุลและความสุขในการใช้ชีวิต

 

สามารถปรึกษาการเงินส่วนบุคคลได้ที่ Smart Money More Fun และ Avengers Team

สามารถติดต่อบรรยายเรื่องการจัดการการเงินได้ที่ Dr. Money

ส่วนใครอยากติดต่อลุงหมอ ไม่ต้องมีค่าใช้จ่าย แค่กาแฟดำหอม ๆ และรอยยิ้มน่ารักของน้องบาริสต้า แค่นี้ก็พอครับ


 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม