16 มีนาคม 2564

การจัดการเบาหวานในเดือนรอมฎอน ตอนที่ 4

 สำหรับผู้ที่เป็นเบาหวานชนิดที่สอง ที่ถือเป็นผู้ป่วยเบาหวานกลุ่มใหญ่ มีความรุนแรงของโรคที่หลากหลาย และเป็นกลุ่มใหญ่ที่จะเข้าอดอาหารในเดือนรอมฎอน หลักการคือ อย่างไรก็ต้องเข้ารับการปรึกษา ปรับอาหารปรับยาก่อนจะเข้าเดือนรอมฎอน เพื่อปรับและทดสอบระบบอย่างน้อย 4-6 สัปดาห์ ส่วนยาต่าง ๆ มีหลักการปรับดังนี้

🚩Metformin ยาที่ใช้มากสุด เนื่องจากยานี้มีโอกาสเกิดน้ำตาลต่ำไม่มากนัก (หากไม่ไปใช้กับยาที่ทำให้น้ำตาลต่ำ) หากใช้ยาวันละครั้งหรือสองครั้ง ก็กินตามปรกติหลังมื้อ suhoor และ iftar สำหรับการกินยาสามมื้อ สามารถรวบมื้อกลางวันไปรวมกับมื้อหลัง iftar ได้

🚩Acarbose ยาลดน้ำตาลที่ยับยั้งการเกิดน้ำตาลที่ลำไส้ จึงใช้ยาเมื่อกินอาหาร ปรับยาเป็นหลังมื้อ iftar และ suhoor โดยไม่ต้องปรับขนาดยา

🚩 Pioglitazone ยาลดน้ำตาลที่ไม่ทำให้น้ำตาลต่ำ ข้อมูลการใช้ในผู้อดอาหารเดือนรอมฎอนไม่มากนัก แนะนำให้ใช้หลังมื้อ iftar วันละครั้ง

🚩GLP1a ยาฉีดลดน้ำตาลออกฤทธิ์ยาว แม้กระตุ้นการหลั่งอินซูลิน แต่ขึ้นกับระดับน้ำตาล น้ำตาลต่ำก็ไม่ค่อยออกฤทธิ์ ทำให้ตัวยาแทบไม่เกิดปัญหาน้ำตาลต่ำ อาจต้องมีการปรับยาลดลง โดยเริ่มปรับก่อนเข้าศีลอด 4-6 สัปดาห์และปรับให้แล้วเสร็จก่อนถึงวันศีลอด 1-2 สัปดาห์

🚩DPP4i ยากินออกฤทธิ์คล้าย GLP1a กินวันละครั้ง ไม่ต้องปรับขนาดยา แนะนำกินหลัง iftar เช่นกัน

🚩SGLT2i ยาตัวใหม่ นิยมมาก ตัวยาเองไม่ทำให้น้ำตาลต่ำ แต่ว่าอาจเกิดปัญหาได้ในกรณีร่างกายขาดน้ำ จากข้อมูลแนวทางการดูแลเบาหวานของเดือนรอมฎอนเดิมในปี 2016 ที่แนะนำยาตัวนี้ ขณะนั้นข้อมูลยาไม่มาก แต่ตอนนี้มีการเปลี่ยนแปลงดังนี้

-ใช้อย่างระมัดระวังอย่างยิ่ง ในผู้ป่วยไตบกพร่องและสูงวัย ถึงขั้นพิจารณาการใช้ยาหรือไม่ จะปรับเปลี่ยนไหม ในช่วงเดือนรอมฎอน

-ให้มาปรับแต่งการใช้ยาก่อนถึงวันถือศีลอด 3-4 สัปดาห์

-ในกรณีใช้ยาเพื่อรักษาโรคหัวใจหรือโรคไต ให้ปรับใช้ในขนาดต่ำ

-ดื่มน้ำมากขึ้นเพื่อลดโอกาสขาดน้ำ

-รับประทานหลังมื้อ iftar

🚩Sulfonylurea อันนี้เป็นตัวสำคัญที่สุดในการปรับยา เพราะนี่คือยาที่พบบ่อยที่สุดที่ทำให้น้ำตาลต่ำ ตัวยาเพิ่มการหลั่งอินซูลินโดยไม่ขึ้นกับระดับน้ำตาล (ต่างจาก GLP1a และDPP4i) แถมออกฤทธิ์ยาวนานทำให้แก้ไขภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้ยาก (ต่างจากอินซูลิน) มีข้อแนะนำการใช้ที่สรุปมาให้ดังนี้

-แนะนำใช้ยาที่ออกฤทธิ์ไม่ยาวมากนัก ในแนวทางแนะนำ gliclazide และ glimepiride มากกว่า glibenclamide ที่ออกฤทธิ์ยาวนาน (อีกตัวที่ออกฤทธิ์สั้นคือ glipizide ก็เลือกใช้ได้)

-เลี่ยง glibenclamide

-หากใช้ยาวันละครั้ง ให้กินยาหลัง iftar และควรลดขนาดยาลงถ้าผู้ป่วยรายนั้นเสี่ยงการเกิดภาวะน้ำตาลต่ำ

-หากใช้ยาวันละสองครั้ง ในมื่อ suhoor ให้ปรับลดขนาดลง ส่วนมื้อ iftar ให้กินขนาดเท่าเดิม

-ควรปรับยาให้แล้วเสร็จก่อนถึงวันเริ่มถือศีลอด และติดตามระดับน้ำตาลเมื่อเข้าศีลอดเสมอ

🚩Glinide ยากลุ่มนี้เพิ่มการหลั่งอินซูลินในช่วงเวลาสั้น ๆ หลังจากที่กินยาหลังมื้ออาหาร การศึกษาและรายงานพบว่า โอกาสเกิดน้ำตาลต่ำจากยากลุ่มนี้มีน้อย แนะนำลดขนาดยาโดยรวม แล้วแบ่งกินหลังมื้อ suhoor และ iftar ทั้งสองมื้อ แบ่งสัดส่วนตามปริมาณอาหารในแต่ละมื้อ

ก่อนจะไปถึงยาตัวสุดท้ายคือ อินซูลิน ต้องบอกก่อนว่า ข้อมูลยาทั้งหลายที่บอกว่าโอกาสน้ำตาลต่ำนั้น เกือบทั้งหมดคือการเปรียบเทียบกับยา sulfonylurea ซึ่งเพราะเจ้ายา sulfonylurea มันทำให้น้ำตาลต่ำอย่างชัดเจนและแน่นอน ทำให้ยาตัวอื่น "ดูดี" แปลว่า แม้ข้อมูลว่าน้ำตาลต่ำจะพบน้อย แต่อาจจะมากกว่าในการศึกษาได้ ควรปรับยาก่อนเข้าอดอาหารเสมอ

ส่วนประสิทธิภาพการควบคุมเบาหวานในช่วงศีลอดและหลังศีลอด แม้ว่ามีการปรับยาปรับพฤติกรรม พบว่าการควบคุมน้ำตาลก็ยังทำได้ดีเหมือนเดิม ในเงื่อนไขก่อนเข้าศีลอดต้องควบคุมดีมาก่อน ไม่เป็นกลุ่มเสี่ยงสูง และปฏิบัติตามคำแนะนำเคร่งครัด ดังนั้นการเข้ารับการอบรมและปรับตัวก่อนเข้าศีลอดจึงมีความสำคัญที่สุด

อาจเป็นรูปภาพของ ข้อความพูดว่า "เบา หวาน กับ ศีลอด เรื่องยาที่ไม่ใช่อินซูลิน เรื่อง ซูลิน"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม