28 มิถุนายน 2560

Giant cell arteritis

Giant cell arteritis ... หลอดเลือดอักเสบชนิดหนึ่ง ทำไมไจแอ้นท์ อย่าคิดว่ามันไกลตัวเราพบอยู่บ่อยๆนะครับมารู้จักสักนิด
โรคหลอดเลือดอักเสบ เป็นโรคที่เกิดการอักเสบที่ผนังหลอดเลือด เราแบ่งออกเป็นหลายชนิดตามขนาดของหลอดเลือดแดง ใหญ่ กลาง เล็ก เพราะอาการของแต่ละอันไม่เหมือนกัน เมื่อมีการอักเสบเกิดขึ้น อวัยวะที่หลอดเลือดนั้นไปเลี้ยงก็จะผิดปกติ หลอดเลือดก็จะหนาตัว ส่งผลทำให้ขาดเลือดได้
โรคไจแอ้นท์เซลนี้ คือ โรคหลอดเลือดขนาดใหญ่อักเสบ เพียงแต่พฤติกรรมของโรคมาเกิดที่แขนงหลอดเลือดแดงใหญ่ที่คอ (external carotid artery) ที่ชื่อว่า หลอดเลือด เทมโพรัล (temporal) ที่เราเห็นหลอดเลือดนูนเวลาขบกราม เวลาโกรธ บริเวณขมับนั่นแหละครับ จึงมีอีกชื่อว่า temporal arteritis
ด้วยความที่หลอดเลือดนี้ส่งแขนงไปเลี้ยงกล้ามเนื้อและอวัยวะบนศีรษะและใบหน้านอกกระโหลก อาการที่เกิดจึงเกิดกับศีรษะและใบหน้า คือ อาการปวดศีรษะรุนแรง มักจะเกิดเฉียบพลันรุนแรง ปวดกราม ปวดลิ้น อาการรุนแรง เรื้อรัง ไม่หาย บางคนอาจคลำหลอดเลือดที่ว่าได้ชัดเจน
อาจมีอาการปวดไหล่ ปวดสะโพก ปวดร้าวตามตัวที่เรียกว่า polymyalgia rheumatica ร่วมด้วย (ทั้งสองโรคนี้มีอาการแสดงใกล้กันมากและพบร่วมกันได้บ่อย)
สำหรับน้องๆที่สนใจ สามารถโหลด 1990 ACR criteria for Giant Cell Arteritis ได้จาก www.rheumatology.org นะครับ..ฟรี
อ้าว...อย่างนี้ก็เป็นมากมายเลยน่ะสิ อาการแบบนี้ ... ยังครับยัง จะคิดว่าเป็นต้องมีมากกว่านี้ ข้อสำคัญคือ โรคนี้ร้อยละ 95 จะเกิดในกลุ่มผู้สูงวัย ตามเกณฑ์คือ 50 ปีขึ้นไป แต่ตัวเลขเฉลี่ยก็อยู่ที่ 65-75 ปีนะครับ หนุ่มๆสาวๆคิดถึงน้อย เอ้า อ่านประโยคนี้ใครคิดว่าตัวเองเป็นบ้าง
ยังไม่พอ .. ต้องมีหลักฐานของการอักเสบ คือ ค่าเลือด ESR (erythrocyte sedimentation rate) หรือ CRP (C-reactive protein) ต้องขึ้นสูงด้วย บ่งบอกว่ามีการอักเสบจริง (ตามเกณฑ์ก็ ESR เกิน 50)
และที่สำคัญต้องมีการตัดชิ้นเนื้อของหลอดเลือดเพื่อวินิจฉัย หลอดเลือดนั้นก็คือหลอดเลือดเทมโพรัลที่โป่งพองนั่นแหละครับ ตามตำราว่าทำไม่ยาก แต่ผมว่าคนไข้ก็คงไม่อยากทำ ปัจจุบันมีการใช้ MRI หลอดเลือด หรือการใช้ PET-CT scan เพื่อดูความผิดปกติของหลอดเลือดบริเวณนั้นได้ ...แต่ไม่ได้เป็นมาตรฐานเหมือนการตัดชิ้นเนื้อนะครับ... และตัดชิ้นเนื้อก็จะเป็นเซลอักเสบที่ตัวใหญ่ๆ เป็นที่มาของชื่อ Giant Cell นั่นเอง (granulomatous and Giant cell)
ในทางปฏิบัติส่วนมากก็ไม่ได้ตัดชิ้นเนื้อหรือเอกซเรย์ครับ ถ้ามีความเสี่ยง อาการและ อาการแสดงเข้าได้ ไม่มีสาเหตุปวดหัวอื่นๆ ก็ให้ยาได้ ข้อสำคัญอีกประการคือ โรคนี้มักจะมีภาวะที่ตามมาคือ หลอดเลือดที่ตาขาดเลือด ทำให้การมองเห็นของตาข้างนั้นเสียไปถาวร การรักษาไปก่อนจึงเป็นที่ยอมรับ (การตัดชิ้นเนื้อหลังจากเริ่มยาก็ยังพอวินิจฉัยได้) ใช้ยา prednisolone ขนาดสูง 8-12 เม็ดต่อวัน ดูอาการสองสัปดาห์ถ้าตอบสนองดีก็ลดขนาดยาลงได้ ซึ่งส่วนใหญ่ตอบสนองดีมากๆเลย
ในกรณีเกิดซ้ำก็อาจรักษายาวนานขึ้น หรือใช้ยาลดการเกิดซ้ำ คือยา methotrexate ก็สามารถลดขนาดยาสเตียรอยด์ลงได้ และลดโอกาสการเกิดซ้ำได้
Toclilizumab เป็นยาตัวใหม่ที่ทางองค์การอาหารและยาของอเมริกาประกาศใช้ในการรักษาเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา เป็นยาที่ออกฤทธิ์ตรงจุดที่เซลอักเสบทำงาน (interleukin 6) เพื่อใช้ในรายที่รักษายาก ก่อนหน้านี้ใช้รักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ตอนนี้ขยับมาใช้ในโรคนี้ แต่ยังต้องระมัดระวังการติดเชื้อรุนแรง และยายังราคาแพงครับ
อันนี้เป็นอ้างอิง เขียนดีมากสั้นๆ รีวิวเรื่อง Giant Cell Arteritis และ Polymyalgia Rheumatica ที่ดีมาก เอาไปใช้ได้เลยครับ
JAMA.2016;315(22):2442-245

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม