08 มิถุนายน 2560

เครื่องฟอกเลือดเครื่องแรก

   ปี 1938 คุณหมอ Willem Johan Kloff คุณหมอผู้มีความคิดยาวไกล ชาวฮอลแลนด์ สังเกตว่าในผู้ป่วยที่มีอาการไตวายเฉียบพลัน มีอัตราการเสียชีวิตสูงมาก ถ้าสามารถกำจัดของเสียรอให้ไตฟื้นคืนสภาพให้กลับมาทำงานได้ปกติ คนไข้น่าจะรอด แต่จะทำอย่างไร ที่จะนำเลือดจากผู้ที่ไตวายออกมาฟอกได้
   ก่อนหน้านี้ในปี 1914 มหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกินส์ ได้ทำการทดลองนำของเสียออกจากเลือดสัตว์ทดลองแล้วใส่กลับเข้าไป แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าใดนัก ไม่ได้โด่งดังอะไร

...เขาทำการทดลองอย่างไร...

  คือว่าการฟอกเลือด หรือการขับของเสียที่ไตนั้น เลือดจะถูกส่งลงไปในหลอดเลือดฝอยเล็กๆ ผนังบางๆ ของเสียโมเลกุลเล็กๆจะถูกกรองออกไปได้ โดยอาศัยเรื่องราวทางเคมีไม่ว่าจะเป็นความเข้มข้น ประจุไฟฟ้า ขนาดโมเลกุล ผ่านผนังหลอดเลือดออกไปผ่านไปยังหน่วยไต ออกไปเป็นปัสสาวะ
   ถ้าเราเอาเลือดออกมาส่งไปยังหลอดเล็กๆผ่านเยื่อบางๆที่จะให้ของเสียผ่านออกแต่สารโมเลกุลใหญ่ๆเช่นเม็ดเลือด โปรตีน ยังอยู่ต่อไปได้ แล้วเอาเลือดที่นำของเสียออกแล้วกลับเข้ามาในร่างกายใหม่ ก็ฟอกเลือดได้

   คุณหมอ Kloff ทำการทดลองต่อไปเรื่อยๆ แต่ทันใดนั้นการทดลองก็หยุดชะงักด้วยเหตุ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ เข้าบุกยึดเนเธอร์แลนด์ในปี 1940  เป็นการบุกยึดที่รวดเร็วปานกามนิตหนุ่ม ยิ่งกว่าสงครามอ่าวเปอร์เซียที่เรียกว่า shock and awe เสียอีก แต่คุณหมอก็ยังไม่หยุดความพยายาม ทำการทดลองต่อไปด้วยสภาพที่แร้นแค้นของมหาสงคราม
   ก่อนที่เยอรมันจะบุกยึด คุณหมอสามารถทำให้เลือดผ่านเยื่อบางๆที่เรียกว่าตัวกรอง แล้วทำให้สารยูเรีย ที่เป็นของเสียในเลือดออกมาในน้ำเกลือได้แล้ว ... ทว่าฝันมิอาจเป็นจริงจากสงครามอันแสนโหดร้าย...

  คุณหมอทำการทดลองต่อ วัสดุที่ใช้นะครับ ตัวกรอง..เยื่อบางๆใช้วัสดุที่หุ้มไส้กรอก !! ใช่ครับฟังไม่ผิด ผมพยายามไปค้นว่าช่วงเวลานั้นใช้วัสดุอะไร ก็ไม่พบ ใช้ชิ้นส่วนเครื่องปั๊มจากรถฟอร์ด ใช้ถังติดตั้งตัวกรองคือถังเครื่องซักผ้า สายยาง และ กระป๋องน้ำส้มคั้น !!  ไม่น่าเชื่อเลย นี่คือ อุปกรณ์ไตเทียมเครื่องแรกในโลก ด้วยอุปกรณ์ที่หาง่าย ในเวลาสงครามเยี่ยงนั้น ใครเคยดูซีรี่ส์เรื่อง แม็คไกรเวอร์ ยอดคนสมองเพชรไหมครับ อย่างนั้นเลย
   โดยรุ่นต้นแบบใช้เปลือกไส้กรอกยาว 46 เมตร ใช้น้ำเกลือเป็น dialysate ทดสอบกับมนุษย์ 15 คน...ไม่มีใครรอด (เอกสารที่ผมไปค้นบอกว่าคุณหมอทำการทดลองภายใต้การสนับสนุนของนาซีเยอรมัน อาจจะเป็นนาซีที่ช่วยเรื่องนี้ด้วย เราเคยได้รับข้อเท็จจริงนะครับว่ามี dark experiments จริงๆ)

  จนกระทั่ง..ในปี 1945 หลังสงครามในภาคพื้นยุโรปสิ้นสุดไม่นาน การทดลองของคุณหมอก็พัฒนาไปและได้ช่วยชีวิตหญิงวัยกลางคน 65 ปี จากพิษของสารยูเรียคั่งในเลือดจนโคม่า (uremic encephalopathy) ตอนนั้นเป็นที่โด่งดัง เพราะไม่มีใครเชื่อ..
  หลังสงครามคุณหมอได้ย้ายถิ่นฐานไปที่อเมริกา พัฒนางานต่อไป โดยที่ โดยที่ อันนี้คือประเด็น คุณหมอไม่จดสิทธิบัตรนี้เป็นงานของตน กลับยกให้โรงพยาบาลทั้งหลายในอังกฤษ ฮอล์แลนด์ โปแลนด์ อเมริกา สามารถนำไปต่อยอดเป็นประโยชน์แก่มวลมนุษยชาติต่อไป
    แต่ว่ากว่าเครื่องฟอกเลือดจะพัฒนาจนได้มาตรฐานก็ต้องรอไปจนถึงปี 1960 โดย Belding Scribner คุณหมอจากซีแอตเติ้ล ได้พัฒนาเครื่องนี้จนสมบูรณ์และสามารถใช้กับโรคไตวายเรื้อรังได้อีกด้วย ตอนนั้นฟอกเลือดสัปดาห์ละสองครั้ง ครั้งละ 16 ชั่วโมง

  คุณหมอ Willem Kloff  ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนา bioengineering mechine มากมายทั้ง เครื่องหัวใจและปอดเทียมที่ใช้เวลาผ่าตัดหัวใจ (heart-lung machine) ร่วมสร้างหัวใจเทียมเครื่องแรกของโลก (artificial heart) ตอนนั้นใช้ได้ 118 วัน  และของเทียมจักรกลต่างๆมากมาย เป็นต้นฉบับของ bioengineering medicine มาจนทุกวันนี้



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม