22 กันยายน 2559

การวินิจฉัยสมองตาย

สมองตาย ตายหรือยัง

ประเด็นนี้จริงๆผมอยากเขียนมานานแล้ว แต่ก็ลืมๆไปด้วยสาเหตุหลายประการ จนได้มีโอกาสพบเห็นอีกครั้งจึงคิดว่าน่าจะเกิดประโยชน์สำหรับคุณๆครับ ข้อมูลนี้เกี่ยวข้องเชิงกฎหมายจึงไม่สามารถบิดพลิ้วได้ เพียงแต่ผมจะมาอธิบายในภาษาชาวบ้าน ข้อมูลอ้างอิงจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประกาศแพทยสภาในปี 26 มกราคม 2554 ฉบับเต็มผมทำลิงค์มาให้นะครับ

http://www.tmc.or.th/service_law03_2.php

ในมุมมองทางกฎหมายนั้นเมื่อตายคือสิ้นสภาพบุคคล ไม่มีสิทธิทำนิติกรรมสัญญาใดๆ และไม่มีการฆ่า "คนที่ตายแล้ว" ได้อีกเนื่องจากไม่เป็นบุคคลแต่จะมีสภาพเป็นทรัพย์สินของญาติไป กฎหมายไทยยึดถือการตายเมือมีภาวะสมองตาย เหมือนกับทางการแพทย์นะครับ ความเข้าใจของพวกเราตั้งแต่ดูหนังไทยหนังจีน ที่เอามือคลำชีพจรหรือเอามืออังลมหายใจแล้วพบว่าตายนั้น ผมถือว่าเป็นการตาย สเต็ปที่สอง คือหยุดทำงานสมบูรณ์ งั้นเรามาดูการตายในแต่ละขั้นตอนกัน

การตายขั้นแรก คือ สมองตาย วินิจฉัยโดยคณะแพทย์ไม่น้อยกว่าสามคน โดยที่ต้องไม่มีแพทย์ที่จะผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะ และ ผู้อำนวยการรพ.ต้องเป็นผู้ร่วมวินิจฉัยและลงนามการตาย... ขยายความนิดนึง ตามเดิมต้องใช้แพทย์ระบบประสาทวินิจฉัย แต่ผมเองเห็นว่าแพทย์ระบบประสาทของไทยขาดแคลนมาก ครั้นจะรอแพทย์สาขานี้ โอกาสจะวินิจฉัยสมองตายจะน้อยมาก ทำให้โอกาสจะได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะลดลงมาก การเปลี่ยนแปลงตรงนี้น่าจะปลดล็อกประเด็นนี้
   และไม่มีแพทย์ที่จะผ่าตัดปลูกถ่าย เพื่อไม่ให้มีข้อครหาว่ามีส่วนได้ส่วนเสียครับ

โดยต้องไม่อยู่ในภาวะที่ต้องพิษยา ไม่ช็อก หลังผ่าตัดสมองมานานพอสมควร เป็นโรคหรือภาวะที่ช่วยไม่ได้เยียวยาไม่ได้แล้ว ต่อเนื่องกันอย่างน้อยๆ หกชั่วโมงหรือถ้าเกิดจากสารพิษต้องนานกว่านี้  ผู้ป่วยหายใจเองไม่ได้ ..แต่ตอนนี้หัวใจยังเต้นอยู่นะครับ ระบบประสาทอัตโนมัติยังทำงานครับ ต้องทำการทดสอบปฏิกิริยาของก้านสมองและไขสันหลังว่าไม่ตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้น หลายๆข้อนะครับ...จะเห็นว่าทางการแพทย์และกฎหมาย จะลงความเห็นว่าตาย เมื่อก้านสมองตายครับ
   ตรงนี้ต่างจาก สภาวะเป็นผัก ที่เราเคยได้ยิน นั่นคือก้านสมองยังทำงานนะครับ กระตุ้นได้ หายใจได้ แต่สมองส่วนใหญ่ของเขาไม่ทำงาน ยังไม่ตาย ยังมีสภาพบุคคลนะครับ

แค่นั้นไม่พอ ปัจจุบันมีการเพิ่มการทดสอบที่เรียกว่า apnea test คือ วัดค่าความเข้มข้นของแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือด ก่อนและหลังการหยุดใช้เครื่องช่วยหายใจ 10 นาที ว่ามีความแตกต่างกันหรือไม่ ค่าความเข้มข้นหลังถอดต้องมากกว่า 60 หรือ มีการเปลี่ยนแปลงสองค่ามากกว่า 20 ..ถ้าไม่สามารถทำ apnea test ได้ ต้องยืนยันโดยการฉีดสีเข้าสมองและถ่ายภาพดูว่าเลือดไม่ไปสมอง..ความเห็นผมนะครับ ยากกว่าวิธีแรกและไม่คุ้มค่าเลย เหมือนกฎจะบีบให้ทำวิธีแรกมากกว่า

  ***ต้องตั้งเครื่องตามกำหนดและตรวจแก๊สก่อนถอดเครื่อง (Vt 10 ml/kg FiO2 100% RR 10/min for 30min to PaCO2 ~40)..เมื่อถอดให้ใช้ ลมออกซิเจน 6 ลิตรต่อนาที ( oxygen FiO2 100% 6 LPM via T-piece)****

เมื่อครบองค์ประกอบทั้งสิ้นทั้งมวลจึงสามารถลงความเห็นสมองตายและรับรองการตายได้ เป็นการลงความเห็นและลงเวลาครั้งที่หนึ่ง เมื่อถึงขั้นตอนนี้สามารถนำอวัยวะที่ใช้ได้ไปบริจาคแล้วครับ ต้องติดต่อสภากาชาดไทยครับ จะมีหน่วยเคลื่อนที่เร็วมารับไม้ต่อจากเรา
  แต่ว่ามันไม่จบแค่นั้น อย่าลืมว่าหัวใจยังเต้น ระบบประสาทอัตโนมัติจากสมองส่วนบนยังทำงานอยู่ เราจึงต้องมีวิธีดูแลรักษาผู้ที่ตายแล้วให้ดี  ..อย่า.งง.ครับ เป็นเช่นนั้น เราต้องใส่เครื่องช่วยหายใจเพื่อส่งออกซิเจนไปเลี้ยงเนื้อเยื่อ ให้สารน้ำ ควบคุมเกลือแร่ในเลือดให้ดี ป้องกันการสูญเสียน้ำจากภาวะเบาจืด เพราะถ้าเราคุมไม่ดี เกลือแร่และน้ำที่ไม่สมดุลจะไปทำให้เนื้อเยื่อส่วนที่ยังมีชีวิตเสียไป ตายไป อวัยวะที่จะบริจาคได้ก็จะสูญเสียไป
   เสียดายนะครับ ผู้ตายมีเจตนาให้ที่ยิ่งใหญ่ แต่ถ้าเราไม่รู้วิธีการประสานงาน การดูแล รวมถึงการประกาศการตายที่เหมาะสม อวัยวะที่มีประโยชน์กับคนอื่นจะเสียหายได้

  เมื่อได้บริจาคแล้ว หรือ ไม่ได้บริจาคเนื่องจากสาเหตุใดก็แล้วแต่ ร่างกายจะหมดสภาพอย่างรวดเร็ว ขาดเลือด ขาดออกซิเจน เกลือแร่ต่างๆผิดเพี้ยนไปหมด สุดท้ายจะทำให้การบีบตัวและการนำไฟฟ้าของหัวใจยุติลง นี่คือการตาย สเต็ปที่สอง คือหัวใจหยุดเต้นครับ
  เมื่อหัวใจหยุดเต้นก็ต้องลงเวลาการตายครั้งที่สอง..อันนี้สำคัญเพื่อไม่ให้เป็นที่ถกเถียงอีกว่าตอนที่บริจาคอวัยวะนั้น..ผู้ป่วย..ตาย.หรือยัง
  สำหรับเด็กจะมีเกณฑ์ที่แตกต่างกันออกไปครับ ผมไม่ได้กล่าวถึง สามารถติดต่อข้อมูลได้ที่ศูนย์บริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย

  เรื่องนี้ในอนาคตจะมีประโยชน์มากนะครับ เพราะเทคโนโลยีการปลูกถ่ายของเราเร็วมาก ดีมาก ภาคเอกชนเริ่มให้ความร่วมมือ ตัวอย่างเช่น คุณอนุทิน ชาญวีรกูล ได้ช่วยขับเครื่องบินส่วนตัวให้คณะแพทย์รามา ไปรับอวัยวะบริจาคมาแล้ว ที่เอ่ยชื่อเพราะท่านทำประโยชน์มากนะครับในแง่นี้
   ดังนั้น เมื่อผู้บริจาคเต็มใจ ระบบการรับบริจาคดี เราทุกคนก็ควรมีความเข้าใจเรื่องการตาย สมองตาย การทดสอบการตาย การดูแลหลังตาย เพื่อให้วงล้อแห่งการบริจาคได้ครบวงครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม