21 กันยายน 2559

ความเข้าใจคลาดเคลื่อนเรื่องผลปัสสาวะกับการติดเชื้อ

การติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ 10 myths
อะไรที่เราพลาดไปเกี่ยวกับการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ medscape นำข้อมูลของวารสาร J Emerg Med 2016 บอกเล่าถึงเรื่องราวที่เราอาจเข้าใจผิดเกี่ยวกับการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ผมย่อมาให้อ่านง่ายๆ ใครอยากอ่านฉบับเต็มก็

J Emerg Med. 2016 Jul;51(1):25-30. doi: 10.1016/j.jemermed.2016.02.009. Epub 2016 Apr 7
http://www.medscape.com/viewarticle/865175

เนื้อหาวันนี้อยากเขียนเพื่อเตือนว่า เราอย่าใช้ผลการตรวจทางห้องแล็บเป็นหลักในการวินิจฉัย ต้องอาศัยอาการและอาการแสดง ความเสี่ยงและการดำเนินโรค ร่วมๆกันในการวินิจฉัยครับ

- ปัสสาวะขุ่นและมีกลิ่นเหม็น ไม่ได้หมายถึงติดเชื้อทุกครั้งไป ความไวของการใช้ข้อนี้ในการวินิจฉัยไม่สูงเลย และ ความขุ่นยังขึ้นกับความเข้มข้นของปัสสาวะอีกด้วย

- การพบแบคทีเรียในปัสสาวะไม่ว่าจะเป็นการย้อมสีดูด้วยกล้องหรือเพาะเชื้อขึ้น ไม่ได้หมายถึงต้องติดเชื้อ เพราะปัสสาวะเป็นบริเวณที่มีการปนเปื้อนตามธรรมชาติอยู่แล้วจะต้องอาศัยอาการร่วมด้วยเสมอ รวมทั้งปริมาณเชื้อที่พบจากการเพาะเชื้อก็มีส่วนสำคัญที่จะบอกว่าติดเชื้อจริงหรือว่าแค่ปนเปื้อน

- ในกรณีที่พบเชื้อ แม้แต่จากการเพาะเชื้อที่เราถือเป็นมาตรฐาน แต่ว่าพบเซลเอปิธีเลียม คือเซลเยื่อบุกระเพาะปัสสาวะมากกว่าที่กำหนด (ไม่เกิน 5 ตัว) ที่แสดงว่าเราอาจเก็บปัสสาวะปนเปื้อน  อย่างนี้นี่จะเชื่อผลการเพาะเชื้อได้ไหม คำตอบคือ อย่าไปเชื่อเลย ควรเก็บใหม่หรือใช้สายสวนเก็บปัสสาวะครับ

- การตรวจ leucocyte esterase ในปัสสาวะ เป็นเอนไซม์ที่เราจะตรวจพบได้ถ้ามีเม็ดเลือดขาวในปัสสาวะ อย่างนี้ถือว่าติดเชื้อได้ไหม --เจ้า leukocute esterase นี่ตรวจง่ายนะครับ ใช้แถบจุ่มเอารู้เลย--   ก็ยังไม่สามารถใช้เจ้าสิ่งนี้อย่างเดียววินิจฉัยได้ครับ ต้องอาศัยอาการและอาการแสดงเสมอ ถ้าเราใช้แค่เจอหลักฐานนี้เราจะรักษาเกินกว่าจำเป็นไป 47%

- ตรวจพบเม็ดเลือดขาวในปัสสาวะ วินิจฉัยติดเชื้อทางเดินปัสสาวะยังไม่ได้นะครับ ต้องมีอาการและอาการแสดงเสมอ..คำนี้อีกแล้ว.. คนที่เม็ดเลือดขาวต่ำเขาก็อาจติดเชื้อทั้งๆที่เม็ดเลือดในปัสสาวะไม่สูง  ร่างกายขาดน้ำ ติดเชื้อทางเพศ ก็มีเม็ดเลือดขาวออกมาได้ โดยไม่ได้เป็น UTI

- ตรวจพบ ไนไตรท์ ในปัสสาวะ ตรวจง่ายอีกแล้วครับใช้แผ่นจุ่มตรวจ การตรวจไนไตรท์แสดงถึงมีแบคทีเรียในปัสสาวะ ก็ยังบอกไม่ได้ว่าเป็นการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ต้องอาศัยอาการและอาการแสดงเป็นหลัก แต่ถ้าไนไตรท์เป็นลบและข้อ 4 เป็นลบ โอกาสจะติดเชื้อก็น้อยมากครับ (NPV 88%)

- การเก็บปัสสาวะจากสายสวนที่คาเอาไว้ จะแปลผลการติดเชื้อยากเพราะแค่สองสัปดาห์ก็พบเชื้อมากมากและมากกว่าชนิดเดียวด้วย การจะวินิจฉัยจึงต้องมีอาการที่เข้าได้ร่วมด้วยเสมอ การให้ยาป้องกันเชื้อก็ใช้เฉพาะผู้ที่เพิ่งใส่สายสวนใหม่ๆเท่านั้น

- การตรวจพบแบคทีเรียในปัสสาวะดังข้อ 3 ถ้าไม่รักษาโอกาสจะลุกลามไปเป็นการติดเชื้อรุนแรง โอกาสแบบนี้เกิดน้อยจริงๆครับ และก็ไม่เกี่ยวกันว่าถ้าไม่ให้ยาฆ่าเชื้อแล้วไตจะแย่ลงด้วย ยังคงต้องอาศัยอาการและการตรวจพบอื่นๆเสมอ เพราะการตรวจพบเชื้อในปัสสาวะ ไม่เท่ากับการวินิจฉัยการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ เราจะให้ยาเลยในบางกรณีเช่น ตั้งครรภ์ หรือมีอุปกรณ์เทียมอยู่ในทางเดินปัสสาวะ

- คนสูงอายุที่มีปัญหาซึมลง พลัดตกหกล้ม ที่คิดว่าเกิดจากการติดเชื้อ แล้วเกิดพบการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ..ทั้งหมดสมเหตุสมผลหรือยัง  ก็ยังนะครับยังต้องหาสาเหตุร่วมอื่นๆด้วย ลำพังการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะอย่างเดียวที่อาการไม่รุนแรงคงไม่ได้อธิบายอาการทั้งหมดได้และพบซึมลงจากการติดเชื้อไม่รุนแรงนี้น้อยมาก   ยิ่งถ้าใส่สายสวนปัสสาวะยิ่งต้องระวังเลยนะครับ เราอาจคิดว่าทั้งหมดเป็นเรื่องเดียวกัน แต่จริงๆ เขามีเชื้อในปัสสาวะอยู่แล้วต่างหาก

-   เจอเชื้อราในปัสสาวะ โดยเฉพาะคนที่ใส่สายสวน อันนี้ติดเชื้อราเลยหรือเปล่า ยังครับอย่างเพิ่งด่วนสรุป มันอาจเกิดจากการปนเปื้อน อาจเกิดจากการใส่สายนานๆ อาจเกิดจากการได้ยาฆ่าเชื้อนานๆ และการรักษาอย่างแรกคือเอาสายออกหรือเปลี่ยนสายครับ ยกเว้นว่าติดเชื้อราหลายๆที่ คิดว่าเป็นการติดเชื้อราจริงๆ หรือ ในกลุ่มผู้ป่วยได้รับยากดภูมิคุ้มกัน อาจต้องรีบพิจารณาให้ยา

เกือบทั้งหมดเขียนว่า..การวินิจฉัยขึ้นกับอาการทางคลินิกเป็นหลักครับ.. "เนื้อหา" อาจไม่ยาก แต่ "ความหมาย" ของบทความนี้ช่างลึกซึ้งกินใจยิ่งนัก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม